ไม่ทัน! 1 ต.ค.ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ประชุมบอร์ดค่าจ้าง เลื่อนไม่มีกำหนด

ไม่ทัน! 1 ต.ค.ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ประชุมบอร์ดค่าจ้าง เลื่อนไม่มีกำหนด

"บอร์ดค่าจ้าง" เลื่อนประชุมขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทในบางประเภทกิจการทั่วประเทศ ไม่มีกำหนด เหตุองค์ประชุมไม่ครบ ขาดคุณสมบัติ 1 คน คาดไม่ทัน 1 ต.ค.2567 นี้ ขณะที่ "ธนิต โสรัตน์" ระบุภาวะการเมืองบงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ระเบิดเวลาผลกระทบเศรษฐกิจไทยในอนาคต

หลังจากที่มีการเลื่อนการประชุม คณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22   ครั้งที่ 9/2567 (วันที่ 20 ก.ย.2567) พิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ครั้งที่ 3 ในรอบปี 2567  ตามแนวนโยบายของรัฐบาลที่จะให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ในบางประเภทกิจการทั่วประเทศ ที่จะให้มีผลในวันที่ 1 ตุลาคม นี้ โดยการประชุมครั้งดังกล่าวเป็นครั้งที่ 2 ในรอบสัปดาห์ และมีการประชุมนัดอีกครั้งในวันที่ 24 ก.ย.67 นี้

ทว่า วันนี้ (23 ก.ย.2567)นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22  กล่าวว่า การประชุมบอร์ดค่าจ้างในวันที่ 24 ก.ย.67 นี้ คงต้องเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากกรรมการไตรภาคี 15 คน ไม่สามารถครบองค์ประชุม เพราะคุณสมบัติของนายเมธี สุภาพงษ์ ตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเกษียณอายุงานตั้งแต่ปี 2566 ไม่สามารถเป็นตัวแทนกรรมการฝ่ายรัฐบาลได้ เนื่องจากทาง ธปท.ระบุไม่ได้รับผิดชอบการกระทำใดๆ ของนายเมธี และการตัดสินใจของนายเมธี ไม่เกี่ยวกับ ธปท.แล้ว จึงไม่น่าจะมีคุณสมบัติในการเป็นบอร์ดค่าจ้าง ชุดที่ 22

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ริบรี่! “1 ต.ค. ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ดับฝัน “พิพัฒน์” เป็นไปได้ยาก

ประชุมบอร์ดค่าจ้างล่ม! พิจารณา “ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท” เลื่อน!

เลื่อนไม่มีกำหนด ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ไม่ทัน 1 ต.ค.67 นี้

ทั้งนี้ สำหรับการคัดเลือกคณะกรรมการไตรภาคีนี้ มี 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง โดยแต่ละหน่วยงานจะมีการเสนอตัวแทนเพื่อเข้าร่วม ซึ่งในส่วนของกรณีเมธี ต้องไปตรวจสอบว่าตอนเสนอรายชื่อเข้ามานั้น ใครเป็นผู้เสนอ แต่ในขณะนี้ ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า เขาเป็นกรรมการบอร์ดค่าจ้างไ ด้หรือไม่ เพราะต้นสังกัด อย่าง ธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่รับรอง คงต้องสอบถามจากนายเมธี ว่าจะลาออกจากตำแหน่ง หรือ ไม่อย่างไร และการที่จะให้ทาง ธปท. แต่งตั้งกรรมการฝ่ายรัฐบาลนั้น คาดว่า คงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 15 วัน จึงไม่ทันการประชุมบอร์ดค่าจ้างในวันที่ 24 ก.ย. 67 นี้

“24 ก.ย. 2567 ซึ่งเป็นการนัดประชุมบอร์ดค่าจ้าง คงต้องเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด เพราะคณะกรรมการค่าจ้างไม่ครบองค์ประชุม เหลือเพียง 14 คน และไม่สามารถลงมติอะไรได้ ต้องรอให้ครบองค์ประชุม เนื่องจากการลงมติต้องให้ได้เสียง 2 ใน 3 ของคณะกรรมการที่เข้าร่วมประชุม” นายไพโรจน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เหลือเวลาอีก 6 วัน “นายไพโรจน์” จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.67 นี้ คงต้องเป็นปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่ ทำหน้าเป็นประธานการประชุมบอร์ดค่าจ้าง แต่คงไม่สามารถประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ได้ทันในวันที่ 1 ต.ค.2567 นี้ 

ภาวะการเมืองบงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ

ด้าน นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้า และอุตสาหกรรมไทย  ได้กล่าวในบทความ "ประเด็นประชุมค่าจ้างขั้นต่ำรอบ 2 ล่ม องค์ประชุมไม่ครบ และภาวะการเมืองบงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ระเบิดเวลาผลกระทบเศรษฐกิจไทยในอนาคต" ว่าการประชุมค่าจ้างขั้นต่ำรอบ 2 ล่ม องค์ประชุมไม่ครบ ปรากฏการณ์ภาคการเมืองในช่วงที่ผ่านมา มีการเข้าครอบงำเพื่อปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 400 บาท เพื่อให้เป็นไปตามที่ได้หาเสียงโดยไม่สนใจภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และการปรับอัตราค่าจ้างมีกลไกไตรภาคีเป็นผู้พิจารณา

ในปี พ.ศ.2567 มีการปรับค่าจ้างสองครั้งคือเมื่อวันที่ 1 มกราคม ปรับ 17 อัตราทั่วประเทศ ระหว่างวันละ 330-370 บาท เฉลี่ยปรับขึ้นร้อยละ 2.37 ต่อมาวันที่ 12 เมษายน ปรับค่าจ้างวันละ 400 บาท เฉพาะโรงแรมที่มีลูกจ้างไม่เกิน 50 คนขึ้นไปใน 10 จังหวัดท่องเที่ยว และปรับบางเฉพาะพื้นที่โดยเฉลี่ยค่าจ้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 ภาคการเมืองมีความพยายามกดดันให้มีการปรับค่าจ้างโดยมีธงอยู่ที่ 400 บาท ภายในวันที่ 1 ต.ค.2567 และจะให้ไปถึงอัตรา 600 บาท ภายในปีสุดท้ายของรัฐบาล เป็นไปตามที่พรรคการเมืองได้หาเสียงในช่วงก่อนเลือกตั้ง

ทั้งนี้ การเมืองบงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ระเบิดเวลาผลกระทบเศรษฐกิจไทยในอนาคต บริบทภาคการเมืองเข้ามาครอบงำการปรับค่าจ้างไม่ส่งผลดีต่อประเทศในระยะยาว ซึ่งจะส่งผลกระทบกับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งด้านการลงทุนรวมถึงการส่งออกของไทยซึ่งขยายตัวได้ต่ำกว่าศักยภาพ

ขณะเดียวกันเศรษฐกิจของไทยมีความอ่อนแอ และติดหล่มแม้แต่หลังโควิด-19 ก็ยังไม่ฟื้นเห็นได้จากการขยายตัวเศรษฐกิจ (GDP) อยู่ในระดับที่ต่ำค่อนข้างมากปี พ.ศ.2565 ขยายตัวได้ร้อยละ 2.5 ปี พ.ศ.2566 ร้อยละ 1.9 และปี พ.ศ.2567 คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 2.65-2.7 (รวมงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.45 แสนล้านบาท) กำลังซื้อในประเทศอ่อนแอโดยเฉพาะจากกับดักหนี้ระดับครัวเรือน และธุรกิจ

รวมถึงปัจจัยจากภาวะน้ำท่วมสร้างความเสียหายมากกว่า 46,500 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.7 ของ GDP ซึ่งจะซ้ำเติมต่อกำลังซื้อ และภาวะเศรษฐกิจ จากสภาวะดังกล่าวการปรับค่าจ้างแบบก้าวกระโดดโดยไม่ได้นำปัจจัยทางเศรษฐกิจ และความสามารถของนายจ้างมาเป็นตัวตั้งจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย

4 ประการ ปรับค่าจ้างกับตลาดแรงงานไทย

การปรับค่าจ้างเกี่ยวข้องกับตลาดแรงงานของไทยประกอบด้วยสถานประกอบการซึ่งจดทะเบียนนิติบุคคล (วันที่ 30 เม.ย.2567) จำนวนประมาณ 917,916 กิจการ โดยร้อยละ 77.85 เป็นบริษัทจำกัด โรงงานอุตสาหกรรมจดทะเบียนตามกฎหมายมีประมาณ 72,699 โรงงาน ขณะที่สถานประกอบการขนาดย่อมไปจนถึงขนาดกลาง (MSMEs) มีจำนวนประมาณ 3.225 ล้านกิจการ สถานประกอบการเหล่านี้มีการจ้างงานแรงงานในภาคเอกชน และแรงงานอิสระประมาณ 22.73 ล้านคน (ไม่รวมภาคเกษตรกรรม-ภาควิชาการและบุคลากรทางการแพทย์) ในจำนวนนี้เป็นแรงงานในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ประมาณ 12.043 ล้านคน

นอกจากนี้ ตลาดแรงงานของไทยยังมีแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายประมาณ 3.342 ล้านคน โดยร้อยละ 70.1 เป็นแรงงานประเทศเมียนมา (จำนวน 2.306 ล้านคน) ประชากรเหล่านี้จะได้รับอานิสงส์จากค่าจ้างที่ปรับขึ้น โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวไม่ต่ำกว่า 2.5 ล้านคน ในระยะสั้นมีผลต่อรายได้ที่สูง แต่จะตามมาด้วยเงินเฟ้อ และการจ้างงานในตลาดแรงงานที่ในอนาคตจะหดตัว การปรับค่าจ้าง ครั้งที่ 3 ของปี พ.ศ.2567 ซึ่งคงเป็นไปตามที่ภาคการเมืองตั้งธงไว้ที่วันละ 400 บาท และปีต่อไปจะเพิ่มจนถึงเพดาน 600 บาท ถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ กล่าวคือ

ประการแรก ภาคการเมืองสามารถหาเสียงโดยใช้กำหนดค่าจ้างเท่าใดก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้สูตรค่าจ้างหรือสภาวะเศรษฐกิจ และการหาเสียง จากการที่ “กกต.” ที่ผ่านมาไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวใดๆ เป็นการประทับตรายอมรับว่าสามารถทำได้ไม่ผิดกฎหมาย ดังนั้น การหาเสียงในอนาคตโดยใช้นโยบายค่าจ้างสูงจะถูกพรรคการเมืองต่างๆ นำมาใช้ในการหาเสียงเพื่อแลกกับ Voter จะเห็นนโยบายค่าจ้างวันละ 1,000-2,000 บาท หรือมากกว่า

ขณะที่เศรษฐกิจของไทยยังเป็นประเทศที่กำลังพัฒนารายได้ปานกลางระดับสูงต้องแข่งขันด้านราคากับประเทศต่างๆ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย โดยเฉพาะจีน ซึ่งปัจจุบันทุ่มสินค้าราคาถูกเข้ามาขายจนทำให้โรงงานปิดตัวแต่ละปีมากกว่า 1,300 แห่ง 

ประการที่สอง การประชุมบอร์ดค่าจ้าง องค์ประชุมไม่จำเป็นต้องครบ 3 ฝ่ายคือ นายจ้าง-ลูกจ้าง-ตัวแทนรัฐบาล หากฝ่ายใดไม่เข้าประชุมสามารถใช้มติ 2 ใน 3 พิจารณาปรับค่าจ้างได้ ซึ่งยังต้องตีความว่าสามารถทำได้หรือไม่

ประการที่สาม อัตราค่าจ้างของไทยจะเป็นอัตราเท่ากันทั้งประเทศ ซึ่งจะทำให้การลงทุนกระจุกตัวในพื้นที่เศรษฐกิจ ขณะที่จังหวัดห่างไกลจะมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ช้าเพราะไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุน โดยเฉพาะด้านขนส่งและโลจิสติกส์

ประการที่สี่ การปรับค่าจ้างแต่ละปีสามารถทำได้หลายครั้งขึ้นอยู่กับความต้องการของภาค การเมือง การปรับสามารถแยกตามประเภทธุรกิจหรือปรับแยกตามธุรกิจขนาดใหญ่ และ/หรือธุรกิจประเภท SMEs และ/หรือในแต่ละจังหวัดยังสามารถกำหนดแยกพื้นที่จะปรับหรือไม่ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ รวมถึงอัตราค่าจ้างในแต่ละพื้นที่แม้แต่ในจังหวัดเดียวกันก็จะแตกต่างกัน ซึ่งจะทำให้ลักษณะการปรับค่าจ้างขั้นต่ำของไทยมีความเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนกับประเทศต่างๆ 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์