"พิพัฒน์" ยอมรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทไม่ทัน 1 ต.ค.นี้
จำเป็นต้องรอ !!! "พิพัฒน์" ยอมรับ 400 บาทไม่ทัน 1 ต.ค.67 นี้ ระบุต้องให้แบงก์ชาติยืนยัน ใครคือผู้แทน พร้อมเรียกร้องช่วยเห็นใจแรงงาน ขึ้นค่าจ้างตั้งแต่ปี 2555 เฉลี่ยปีละแค่ 8 บาท
จากกรณีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ในบางกิจการทั่วประเทศ รอบ 3 ในปี 2567 ซึ่งจะมีการประชุม คณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22 ในวันที่ 24 ก.ย.2567 และทาง นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้ออกมาให้ข่าวว่า ต้องเลื่อนการประชุมบอร์ดค่าจ้างออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากกรรมการไตรภาคี 15 คน ไม่สามารถครบองค์ประชุม เพราะคุณสมบัติของนายเมธี สุภาพงษ์ ตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเกษียณอายุงานตั้งแต่ปี 2566 ไม่สามารถเป็นตัวแทนกรรมการฝ่ายรัฐบาลได้ เนื่องจากทาง ธปท.ระบุไม่ได้รับผิดชอบการกระทำใดๆ ของนายเมธี และการตัดสินใจของนายเมธี ไม่เกี่ยวกับ ธปท.แล้ว จึงไม่น่าจะมีคุณสมบัติในการเป็นบอร์ดค่าจ้าง ชุดที่ 22
วันนี้ (23 ก.ย.2567) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้ นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้ทำหนังสือไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าตามที่ข้าราชการของ ธปท.ได้เกษียณอายุไปแล้วเกือบ 1 ปี เพื่อที่ว่าให้ ธปท.มีข้อสรุปอย่างไรก็ขอให้ตอบกลับมายังปลัดกระทรวงแรงงานเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเราจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งบอร์ดค่าจ้าง จะต้องประกอบด้วย 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายราชการ ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายละ 5 คน รวม 15 คน ซึ่งฝ่ายราชการ ประกอบด้วย กระทรวงแรงงาน 2 คน และหน่วยงานภายนอก ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ สภาพัฒน์ฯ และแบงก์ชาติ ซึ่งต้องใช้เสียงโหวต 2 ใน 3 จึงจะสามารถลงมติได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ไม่ทัน! 1 ต.ค.ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ประชุมบอร์ดค่าจ้าง เลื่อนไม่มีกำหนด
ล่มอีกรอบ!! ไตรภาคีค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เตรียมประชุมใหญ่อีกครั้ง 24 ก.ย.67 นี้
ยันเดินหน้าปรับค่าจ้างขั้นต่ำ
นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างคนปัจจุบันกำลังจะเกษียณอายุ จึงมีความจำเป็นต้องรอปลัดกระทรวงฯ คนใหม่มาพิจารณา เมื่อการประชุมในวันที่ 24 กันยายน นี้ ไม่สามารถเปิดประชุมได้ ผมก็ต้องขออภัย ที่ไม่สามารถทำตามที่สัญญาไว้ได้ว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศวันที่ 1 ต.ค.2567 ได้ ซึ่งยืนยันว่าจะเดินหน้าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ถึงแม้ว่ารัฐบาลท่านนายกฯ แพรทองธาร ชินวัตร จะไม่ได้ประกาศเป็นนโยบาย เพราะตระหนักดีถึงความลำบากของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน หากมีการปรับขึ้นค่าจ้างก็จะทำให้แรงงานมีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น
นายพิพัฒน์ ยังกล่าวต่อว่า ไม่อยากกดค่าจ้างให้ต่ำเกินไป ในขณะที่ค่าครองชีพกำลังพุ่งสูง ซึ่งเป็นเวลา 12 ปีแล้ว หลังจากมีการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท ทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน ค่าจ้างก็ยังขึ้นไม่ถึง 100 บาท หรือเฉลี่ยปีละ 8 บาท
"ผมเข้าใจท่านปลัดกระทรวงแรงงาน ดีที่ท่านพยายามทำทุกสิ่งเพื่อดำเนินการจัดประชุมให้ได้ ผมเองต้องขออภัยที่ยังไม่สามารถทำตามที่ได้ประกาศไว้ว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศวันที่ 1 ต.ค.67 นี้ได้ เรายังจำเป็นต้องรอคำตอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย เราต้องรอท่านปลัดกระทรวงแรงงาน คนใหม่ เราต้องเดินหน้าต่อไป เพื่อคนไทยได้มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น" นายพิพัฒน์ กล่าว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์