ประชุมบอร์ดค่าจ้างล่ม! พิจารณา “ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท” เลื่อน!

ประชุมบอร์ดค่าจ้างล่ม!  พิจารณา “ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท” เลื่อน!

ประชุมบอร์ดค่าจ้างล่ม  วาระพิจารณา “ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท” รอบ 3 ปี 67 เลื่อน  นัดประชุมใหม่ 20 ก.ย.67 นี้ ลุ้นเคาะปรับขึ้น - ไม่ขึ้น  ปลัดแรงงานย้ำขึ้นค่าจ้างแรงงานไทย 3 ล้านคนได้ประโยชน์ ด้าน “อรรถยุทธ กรรมการฝ่ายนายจ้าง” บอกติดภารกิจ ไม่ใช่อารยะขัดขืน

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 16 ก.ย.2567 ที่กระทรวงแรงงาน มีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 (บอร์ดค่าจ่าง หรือไตรภาคี) ครั้งที่ 8 เพื่อพิจารณาปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ โดยมีนายไพโรจน์ โชตสิกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน  ซึ่งมีวาระการพิจารณา เรื่องการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ  400 บาท เป็นรอบที่ 3 ของปี 2567 ปรากฏว่าในส่วนขององค์ประชุม  กรรมการ 3 ฝ่ายนั้น ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายรัฐ เข้าร่วมครบทั้ง 10 คน ขณะที่ฝ่ายนายจ้างไม่มีคนเข้าร่วม ทำให้ที่ประชุมไม่สามารถพิจารณาเรื่องดังกล่าวได้ ประธานที่ประชุมได้มีการนัดหมายประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 20 ก.ย.67 นี้ ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 82 

นายไพโรจน์ กล่าวว่า ไม่เรียกว่าการประชุมล่ม แค่ไม่ครบองค์ประชุม จึงแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ปัจจุบันมีกิจการประเภทไหนบ้างที่มีการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำเกิน 400 บาท ถ้ามีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใครจะได้ประโยชน์ ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคมพบว่า จะมีแรงงานไทยได้ประโยชน์ประมาณ 3 ล้านคน แรงงานต่างด้วยประมาณ 1 ล้านคน นอกจากนี้ ยังดูกิจการไซต์แอล หรือลูกจ้าง 200 คนขึ้นไป

“การจะสามารถปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เพิ่มได้หรือไม่ก็ต้องรอดูในวันที่  20 ก.ย.67 นี้อีกครั้ง ซึ่งจะมีมติ แม้ว่าฝ่ายนายจ้างจะไม่เข้าร่วมประชุมอีก แต่สามารถใช้มติ 2 ใน 3 หรือ 10 คน ในการลงมติได้ ว่าจะขึ้นหรือไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ที่ไหนได้ 400 บาท ที่ไหนได้ไม่ถึง” นายไพโรจน์ กล่าว 

ด้าน นายวีรสุข แก้วบุญปัน กรรมการค่าจ้างฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า ไม่ได้ประชุมเพราะฝ่ายนายจ้างไม่เข้าประชุม ถือว่าการประชุมล่ม เพราะไม่ครบองค์ประชุม แต่ได้มีการพูดคุยกันนอกรอบ คุยเรื่องการปรับอัตราค่าจ้าง และมีแนวทางของสูตร และภาวะเศรษฐกิจ เพราะเราคุยอย่างอื่นไม่ได้แล้ว เพราะว่ามากันไม่ครบ อย่างไรก็ตาม เราก็ยังมีหวังอยู่เหมือนเดิมแม้ว่านายจ้างจะไม่มา ซึ่งครั้งถัดไปประธานฯ เรียกประชุมใหม่ตามกฎหมายภายใน 15 วัน ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 82  และโดยกำหนดในวันที่ 20 ก.ย.67 นี้

ทั้งนี้ ไทม์ไลน์ของการปรับค่าจ้าง 400 บาท ในเดือนต.ค.นี้ ยังคงเป็นไปตามไทม์ไลน์ แต่ก็รอดูวันที่ 20 อีกครั้ง  ทั้งนี้ ตนไม่ทราบเหตุผลที่นายจ้างไม่มาประชุมในวันนี้ แต่ถ้าพูดถึงการปรับค่าจ้างรอบนี้อิงตามเศรษฐกิจ ก็จะเห็นว่า การส่งออก  ซื้อขายดี เงินเฟ้อน้อย ขณะที่ค่าครองชีพ วันนี้ไปต่อไม่ได้กับค่าแรง 300 บาท ต้องคุยกันใหม่ 20 ก.ย.67 ถ้านายจ้างไม่เคย ก็พิจารณาได้เลย ตามกฎหมายนี้ เรื่องสูตรก็ยอมรับทั้ง 3 ฝ่ายมานานแล้ว จะไม่ใช้ก็ได้ กฎหมายไม่ได้บังคับไว้ 

“ไม่มองว่า เป็นเกมการเมือง แต่ผู้ประกอบการวันนี้จ่ายค่าแรงวันละ 400 บาท ขึ้นไปอยู่แล้ว  แต่ยอมรับว่ามีบางส่วนยังไม่ถึง จากข้อมูลประกันสังคมอธิบายได้ชัดเจน ลูกจ้างที่มีค่าจ้างขั้นต่ำน้อยกว่า 400 บาทมีกี่คนไม่ใช่ความลับ มีคนบางกลุ่มบอกว่าค่าจ้างขั้นต่ำถ้าขึ้นแล้ว รายงานต่างชาติในประเทศไทยจะได้สิทธิประโยชน์ไปด้วยในมุมมองของเราตามหลักสิทธิมนุษยชนผู้ใช้แรงงานก็ควรจะได้ทัดเทียมกัน จะไปตกกับคนกลุ่มไหนมากกว่าก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ต้องไปพิจารณา เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการเมืองแต่เกี่ยวกับ 2 ฝ่ายนายจ้างคิดอีกแบบลูกจ้างคิดอีกแบบ”นายวีรสุข กล่าว

ขณะที่นายอรรถยุทธ ลียะวณิช กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ผมไม่ว่าง แล้วนายจ้างคนอื่นก็ไม่ว่าง เป็นการไม่ว่างตรงกัน คือ การประชุมคณะกรรมการค่าจ้างนั้น ปกติจะนัดทุกวันพุธที่ 2 ของเดือน ในช่วงเช้าก็ทำอย่างนี้มาตลอด ถ้าจะเลื่อนนัดกันใหม่ก็ต้องกำหนดให้ องค์ประชุม ทุกคนสามารถเข้าร่วมพร้อมกันได้ แต่จริงๆ แล้วมันต้องไม่เลื่อน ปลัดกระทรวงมีรองปลัดฯ ตั้งหลายคน ก็สามารถให้รองปลัดเข้าแทนได้ แล้วทำไม ถึงไม่ให้เข้าฟังให้คนอื่นก็พร้อมอยู่แล้ว ในวันพุธที่ 2 ของเดือน ทำไม ต้องเลือกเอาตามตัวเองไม่ได้

“เหตุผลที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุม เป็นเพราะติดภารกิจ และได้แจ้งต่อที่ประชุมไปแล้ว การประชุมก็ว่ากันไป จะเคาะค่าจ้าง ได้หรือไม่ได้ก็แล้วแต่  ซึ่งไม่ใช่การอารยะขัดขืนอะไร การที่เราไปร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยการร้องผู้ตรวจการแผ่นดินนั้นเป็นการร้อง เรื่องการประชุมผิดระเบียบวาระ เป็นเรื่องสำคัญ”นายอรรถยุทธ กล่าว

นายอรรถยุทธ  กล่าวด้วยว่า  กรณีประธานคณะกรรมการค่าจ้างนัดหมายการประชุมใหม่ในวันที่ 20 ก.ย.67 นี้ พร้อมระบุว่า จะมีการลงมติ แม้ว่าผู้แทนฝ่ายนายจ้างไม่เข้าร่วมประชุม ว่า การนัดประชุมใหม่วันที่ 20 ก.ย.67 นี้  ตนต้องขอดูก่อนว่า จะสามารถไปร่วมประชุมได้หรือไม่ แต่ทางเลขาฯ ที่ประชุมยังไม่ได้มีการแจ้งนัดหมายมา จึงยังตอบไม่ได้ แต่หากเป็นการระบุเช่นนั้นจริงๆ ก็มองว่า การนัดแบบนี้เป็นการนัดไม่สมเหตุผล จะเอาชนะคะคาน มัดมือชก ไม่แฟร์ เมื่อเกิดความไม่พร้อมเรื่องเวลา การเลื่อนประชุมทำให้องค์ประชุมไม่พร้อม แล้วทำไมไม่จัดประชุม ตามรอบ คือวันพุธที่ 2 ของเดือน หรือนัดให้ทุกคนพร้อม

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์