ไขคำตอบความหมาย “การตายดี” ณ ศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย วัดป่าโนนสะอาด

ไขคำตอบความหมาย “การตายดี” ณ ศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย วัดป่าโนนสะอาด

ศูนย์พุทธวิธีดูแลผู้ป่วยระยะท้าย วัดป่าโนนสะอาด นำหลักธรรมชำระล้างดูแลสภาพจิตใจ คลายความกังวล “มีสติ” เตรียมพร้อมสู่การตายดี จากไปอย่างสงบ ผู้ป่วยทุกคนเป็น “อาจารย์ใหญ่ทางจิตวิญญาณ” พร้อมละวางเตียงผู้ป่วยไอซียู สร้างบุญวันละ 1 แสนบาทและให้ชีวิตผู้อื่น

KEY

POINTS

  • ผู้ป่วยระยะท้าย  “การตายดีเป็นอย่างไร” คำถามที่ทุกคนอยากรู้ ณ  “ศูนย์พุทธวิธีฯ วัดป่าโนนสะอาด” ให้คำตอบว่า “ตัวชี้วัดของการตายดี คือ สติ”
  • ศูนย์พุทธวิธีดูแลผู้ป่วยระยะท้าย วัดป่าโนนสะอาด อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา นำหลักธรรมชำระล้างดูแลสภาพจิตใจ คลายความกังวล “มีสติ” เตรียมพร้อมสู่การตายดี จากไปอย่างสงบ
  • ผู้ป่วยระยะท้ายทุกคนเป็น “อาจารย์ใหญ่ทางจิตวิญญาณ” พร้อมละวางเตียงผู้ป่วยไอซียู สร้างบุญวันละ 1 แสนบาทและให้ชีวิตผู้อื่น

วัดป่าโนนสะอาด ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ผู้ป่วยยากไร้ ผู้สูงอายุ และพระสงฆ์อาพาธเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายต่างๆที่ไม่รักษาทางการแพทย์ให้หายได้เข้ามาพักรักษาตัว พร้อมชำระล้างดูแลสภาพจิตใจ เพื่อคลายความกังวลเตรียมพร้อมที่จะจากไปอย่างสงบ ด้วยการนำแนวทางการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในทางพระพุทธศาสนามาใช้เรียกว่า “การตายดีวิถีพุทธ”  เพื่อประคับประคองให้ผู้ป่วยตายดีปราศจากความกังวลใดๆ

ศูนย์พุทธวิธีดูแลผู้ป่วยระยะท้าย วัดป่าโนนสะอาด ผ่านการประเมินเบื้องต้นการเป็นสถานชีวาภิบาลในวัดจากกรมอนามัย เป็นต้นแบบจ.นครราชสีมาและเขตสุขภาพที่ 9 มีเนื้อที่กว่า 7 ไร่ครึ่ง ประกาศเป็นวัดในวันที่ 18 ต.ค.2562  ทั้งนี้  พระอาจารย์แสนปราชญ์ ปัญญาคโม   เจ้าอาวาสวัดป่าโนนสะอาด ได้ศึกษางานวิจัยจากพระไตรปิฏก เล่มที่ 31
จึงได้เกิดแนวคิดสร้างวัดเพื่อปฏิบัติกรรมฐาน ต่อมาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรพระพุทธศาสนาที่จัดบริการดูแลแบบประคับประคองและระยะท้ายในสถานชีวาภิบาลเป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่น ตั้งแต่ปี 2563  ปัจจุบันมีพระสงฆ์จำนวน 15 รูป แม่ชี 16 รูป มีผู้ป่วยและผู้ยากไร้ที่อยู่ในความดูแลกว่า 50 ราย       

ไขคำตอบความหมาย “การตายดี” ณ ศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย วัดป่าโนนสะอาด

การทำงานดูแลผู้ป่วยระยะท้าย รูปแบบประคับประคอง ตามแนวทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎก 2 หลัก คือ

1.การมีสติสัมปชัญญะอดทนอดกลั้นทำให้หายป่วย 

2. การมีสติสัมปชัญญะไม่หลงตายทำให้ตายดีไปสู่สุคติ

เข้ามาบูรณาการกับการดูแลตามแนวทางการแพทย์สมัยใหม่ที่มีรูปแบบการดูแลใน 4 มิติคือ  มิติทางกาย  ,มิติทางจิตใจ ,มิติทางสังคม และมิติทางจิตวิญญาณ

มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)กอโจด รพ.โชคชัยเป็นผู้ดูแล มีบ้านพักและเตียงรองรับผู้ป่วยจำนวนมากกว่า 50 หลัง มีระบบบริการและส่งต่อของสาธารณสุขร่วมกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด(พมจ.)นครราชสีมา

สติ ตัวชี้วัดการตายดี

ผู้ป่วยระยะท้าย ที่เข้ามาอยู่ที่นี่ ได้มีการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ ตามมาตรา 12  

และอนุญาตให้เผยแพร่ข้อมูลด้านสุขภาพ เรื่องราวของตนเองและหลักธรรมคำสอนต่างๆ ให้กับบุคคลทั่วไปตามมาตรา 7 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 เพื่อเป็น “อาจารย์ใหญ่ทางจิตวิญญาณ”และ “อาจารย์ใหญ่ให้ธรรมทาน” ที่ได้ทำคุณประโยชน์ให้กับวางการแพทย์ พยาบาล สังคม  ประเทศและพุทธศาสนา

“ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ต้องดูแล คือ ตัวเราเอง  และตัวชี้วัดของการตายดี คือ สติ  เพราะฉะนั้นต้องรู้ตัวเองว่ามีสติหรือไม่  ถ้าเรามีสติไปในทางบุญกุศล หรือสติไปทางพ้นทุกข์ ก็จะเป็นจิตใต้สำนึกที่ไปเกิด หากฝึกสติ ให้หลงก็รู้ว่าหลง รู้ก็รู้ว่ารู้  ก็ต้องวัดสติตัวเองได้เอง  แต่หากช่วงเวลาก่อนที่จะจากไปแล้วมีสายระโยง ระยาง ดิ้นทุรนทุราย คงไม่ใช่การตายดี “พระอาจารย์แสนปราชญ์กล่าว

นอกจากนี้ การที่ผู้ป่วยระยะท้าย สละเตียงไม่เข้ารับการรักษาในห้องไอซียู เพื่อให้ผู้ป่วยที่ยังจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาทางการแพทย์ เป็นการช่วยชีวิตผู้ป่วย สร้างกุศลมากกว่าสร้างเจดีย์ ซึ่งรพ.มีการประเมินว่าค่าใช้จ่ายในห้องไอซียูราว 1แสนบาทต่อวัน เท่ากับผู้ป่วยระยะท้ายก็ได้ทำบุญวันละ 1 แสนบาททุกๆวัน  ทำให้รพ.มีเตียงรองรับผู้ป่วยที่จำเป็นและประหยัดงบประมาณประเทศด้วย 

ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย อย่าเปลี่ยนพระเป็นหมอ

ปัจจุบัน สถานชีวาภิบาล ศูนย์พุทธวิธีดูแลผู้ป่วยระยะท้าย วัดป่าโนนสะอาด มีค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วย ผู้สูงอายุและ กลุ่มเปราะบาง ราวเดือนละ 5 แสนบาท  โดยอาศัยปัจจัยจากการศรัทธาของประชาชน ที่ได้รับฟังการเทศนาธรรมะของพระอาจารย์แสนปราชญ์ ผ่านทางวิทยุมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี(มทส.)ช่วงเวลาตี4-5 ทุกวัน
แม้ว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)จะมีงบประมาณสนับสนุนสถานชีวาภืบาลที่ดูแลผู้ป่วยระยะท้ายราว 10,000 บาทต่อคน แต่ด้วยข้อจำกัดของการกำหนดตัวชี้วัดของสถานชีวาภิบาลจะต้องเป็นมาตรฐานตามที่องค์การอนามัยโลก(WHO)กำหนด

ซึ่งค่อนข้างยากในเชิงการนำมาปฏิบัติสำหรับวัดป่า จึงเลือกที่จะให้การดูแลและพัฒนาศูนย์ฯเกิดขึ้นและเป็นไปอย่างธรรมชาติและตามบริบทของพื้นที่  หากจะไม่ผ่านการประเมินตัวชี้วัดและไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนก็ตาม 

“การพัฒนาสถานชีวาภิบาลที่เป็นวัดที่ดูแลผู้ป่วยระยะท้ายให้มีความยั่งยืน ต้องให้พระเป็นพระใช้องค์ความรู้ของพระในทางพุทธศาสนาเป็นแนวทางดูแลผู้ป่วย ส่วนการดูแลเรื่องทางการแพทย์ก็สอนให้พระรู้จักการประสานความร่วมมือกับหน่วยบริการในพื้นที่ให้เข้ามาร่วมดูแล อย่าเปลี่ยนพระเป็นหมอ”พระอาจารย์แสนปราญช์กล่าว

แนวทาง ขยายต่อ“ตายดีวิถีพุทธ” 

สำหรับการพัฒนาในขั้นต่อไปของการดูแลผู้ป่วยตามแนวทาง “ตายดีวิถีพุทธ” ศูนย์แห่งนี้มีโครงการสร้างที่พักเพิ่มเติมเพื่อรองรับผู้เข้ารับการดูแลอีก 100 เตียง งบประมาณราว 70 ล้านบาท  ,มีการบรรยายธรรมะออนไลน์เพื่อให้ผู้ป่วยและผู้สูงอายุที่พักอาศัยอยู่ที่บ้านได้รับฟังด้วยไม่จำเป็นต้องมาอยู่ที่วัดป่าฯ 

รวมถึง การอบรม “พุทธจิตอาสา Caregiver” ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย หมู่บ้านละ 2 คน 3,743 หมู่บ้าน เป็นการขยายการดูแลสู่ชุมชน กระจายทั่วประเทศ และหากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนสนใจที่เข้ามาร่วมกันขับเคลื่อน อนาคตก็อาจจะผลักดันให้ “การตายดีวิถีพุทธ”เป็นการท่องเที่ยงเชิงสุขภาพ ที่เปิดโอกาสให้คนจากทั่วโลกได้มาเรียนรู้เรื่องของ “การตายดี”

ผู้มีความประสงค์จะเข้ารับการดูแล เป็นจิตอาสา หรือร่วมสมทบการดำเนินงานของศูนย์พุทธวิธีดูแลผู้ป่วยระยะท้าย วัดป่าโนนสะอาด สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่โทร/ไลน์ 083-1256375 หรือเฟซบุ๊ก วัดป่ากรรมฐานบ้านโนนสะอาด ศูนย์ดูแลสงฆ์อาพาธและผู้ป่วยระยะท้าย  

ไขคำตอบความหมาย “การตายดี” ณ ศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย วัดป่าโนนสะอาด

วิจัยสร้าง “เครื่องมือวัดระดับสติ”

 จากแนวทางการดำเนินงานดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ด้วยการ “ฝึกสติ” ณ วัดป่าโนนสะอาด กำลังก้าวเข้าสู่การถอดบทเรียน เพื่อทำวิจัยสร้าง “เครื่องมือวัดระดับสติ” ที่บอกถึงการตายดี  เป็นความร่วมมือระหว่างแพทย์รพ.โชคชัย และทีมอาจารย์นักวิจัยของมทส.

พญ.ชมนาด โนนคู่เขตโขง แพทย์เวชซาสตร์ครอบครัว นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว รพ.โชคชัย กล่าวว่า  ในทางพุทธศาสนามีคำอธิบายเรื่องการตายดีได้ แต่ปัญหาคือการวัดว่าแต่ละคนจิตอยู่ระดับใด จะวัดอย่างไร จึงมีแนวคิดที่จะร่วมกันวิจัยเพื่อพัฒนาเครื่องมือวัดระดับสติ

โดยหากเป็นการซักถามแบบนี้ ตอบแบบนี้ การปฏิบัติของคนไข้แบบนี้ เป็นการปล่อยวางได้ระดับใด แล้วนำมาวัดว่าเป็นระยะก่อนตายมีสติระดับใด กำลังจะตายมีการกระวนกระวายหรือมีจิตอกุศลหรือไม่ และหลังตาย ดูว่าคนไข้มีห่วงอะไรหรือไม่ ทุรนทุรายหรือไม่ ตอนลมหายใจสุดท้ายคนไข้เป็นอย่างไร โดยพยายามวัดให้เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้นกว่าเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพอย่างเดียว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการทบทวนวรรณกรรม

ไขคำตอบความหมาย “การตายดี” ณ ศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย วัดป่าโนนสะอาด

“อาจารย์มทส.จะเป็นหลักในการทำวิจัย ส่วนหมอจะดูในเรื่องของผู้ป่วยระยะประคับประคอง และเรื่องทางกาย แต่ทางจิตวิญญาณยังไม่ค่อยมี จะมีแค่เรื่องของการฝึกสติ จะไม่มีการวัดเป็นระดับ บางงานวิจัยจะมีเพียงแค่นำเข้าPet-Scan แล้วเห็นว่าสมองส่วนไหนทำงานไม่ทำงาน และสีเป็นอย่างไร แต่งานวิจัยนี้ที่จะเป็นการวัดเรื่องการตายดี จะมีชุดที่เป็นเครื่องมือวัดว่าการตายดีนั้น ตายดีอย่างไร มีอะไรบ้าง จะต้องถอดบทเรียนจากพระอาจารย์ที่ดูแลคนป่วยระยะท้าย โดยทีมมทส.และทีมรพ.จะช่วยกัน”พญ.ชมนาดกล่าว 

งานวิจัยชิ้นนี้ มีวัตถุประสงค์ให้คนตายดีมากขึ้น และไม่ควรเป็นแต่ของศาสนาพุทธ เพราะมนุษย์ทุกคนควรเข้าถึงการตายดี ไม่ใช่ชนชาติ ศาสนา ต่างกันไม่ควรจะตายดี  เพียงแต่หลักของศาสนาพุทธเป็นหลักสากล หากตัดศาสนาพุทธออก ก็คือการฝึกสติ การพิจารณาฐานกาย ฐานจิต ฐานเวทนา ฐานอารมณ์ ทำให้คนไข้มีสติ และฝึกการปล่อยวาง  ซึ่งเป็นการมาถูกทางในการดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคอง จึงมาอาสาทำวิจัยเพื่อให้ได้ตีพิมพ์ในวารสาร เป็นการเก็บองค์ความรู้และถอดไปให้คนไปใช้ได้วงกว้าง เพราะสติไม่ใช่อยู่แค่ศาสนาพุทธ

“หมอดูแลผู้ป่วยระยะนี้มา โรคทางกายรักษาไม่ได้ ความทุกข์ทรมานแม้ให้ยามอร์ฟันถึงขั้นสุดก็ยังมีอยู่ แต่ทำไมคนไข้ของพระอาจารย์ที่นี่ จึงอยู่ได้โดยที่ไม่พึ่งยาแก้ปวดแม้แต่เม็ดเดียว ในเวลา 3 ปีที่เป็นโรครูมาตอยอย่างรุนแรง และยิ้มทุกครั้งที่มาพูดว่าปวดเต็ม 10 แต่มีแต่ความปวด แต่ไม่มีคนปวด นั่นคือเขาปล่อยวางความปวด ดังนั้นความปวดก็คือปวด ไม่ได้ยึดติด ไม่รู้สึกทุกข์ทรมาน ทำให้รู้สึกว่าจริงๆแล้ว ศาสตร์ตรงนี้ไม่ควรเป็นแค่ของศาสนาพุทธ”พญ.ชมนาดกล่าว 

วัยรุ่นใช้ชีวิตแบบสุดๆ สู่หนทางธรรม

 “ทุกวันนี้พร้อมไปได้ทุกเวลา เพราะปลงหมดทุกอย่างแล้ว”

 เป็นคำพูดของ “สนชัย แก้วเงิน” ผู้ป่วยเบาหวานและไตวายเรื้อรังระยะท้าย ชาวจ.สระแก้ว อายุ 55 ปี  ซึ่งเข้ามาอยู่ที่วัดป่าโนนสะอาดได้ราว 6 วัน เล่าให้ฟังว่า สมัยวัยรุ่นใช้ชีวิตแบบสุดๆ กินกับนอน กินน้ำอัดลมเป็นลิตรควบคู่กับ ขนมขบเคี้ยวที่เป็นของทอดปรุงรสเวลานอนดูโทรทัศน์ หากกินก๋วยเตี๋ยวเรือก็ต้องใส่กากหมูเต็มชาม 

กระทั่งอายุ 30 ปี น้ำหนักลดลงมากจนผอม จึงไปตรวจที่รพ.มีค่าน้ำตาลอยู่ที่ราว 400 แม้ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็น “เบาหวาน” ก็ยังใช้ชีวิตไม่ต่างจากเดิม จนเกิด “แผลแฉะไม่แห้ง” ที่บริเวณฝ่าเท้า ต้องตัดหนังออกแล้วนำผิวหนังบริเวณโคนขามาแปะแทน และเกิดอาการบวมแดงที่นิ้วเท้าทั้ง 5 นิ้วทำให้ต้องตัดนิ้วเท้า กลายเป็นคนเดินไม่ได้ ติดเตียง

ไขคำตอบความหมาย “การตายดี” ณ ศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย วัดป่าโนนสะอาด

ต่อมาก็มีอาการบวมโดยกดที่น่องบุ๋มซึ่งเป็นอาการโรคไต ต้องฟอกไตผ่านช่องท้องวันละ 4 ครั้ง เคยต้องนั่งหลับตลอด 1 เดือนเพราะนอนราบไม่ได้ หายใจไม่ออกจากภาวะน้ำท่วมปอด  และต้องยืนหลับจับสายน้ำเกลือไว้ถึง 2 สัปดาห์ 

และเนื่องด้วยตัวคนเดียว ไม่มีภรรยาและลูก จึงอาศัยอยู่กับพี่สาวที่ก็มีภาระต้องดูแลอื่นๆอีกมากมาย พมจ.จะพาไปอยู่ที่บ้านคนไร้ที่พึ่ง จ.ปราจีนบุรี แต่อยู่ไกลและไม่มีสถานที่ล้างไต  ได้รู้จักวัดป่าโนนสะอาดจากเพื่อนสมัยม.ปลายแนะนำ จากที่ช่วงเจ็บป่วยหนักก็ได้ศึกษาธรรมะมากขึ้น ทำให้ตัดสินใจมาอยู่ที่นี่ และได้ฟังธรรมะของหลวงพ่อแสนปราชญ์ สิ่งที่ไม่รู้ก็ได้รู้และเข้าใจธรรมะมากขึ้น 

 “มาอยู่ที่นี่จะมีเจ้าหน้าที่ แม่ชี จิตอาสาดูแลเรื่องกิจวัตรประจำวันที่ผมทำเองไม่ได้  ฟังธรรมะ จากที่เดิมที่รู้แค่ 40 % ก็รู้เข้าใจธรรมะมากขึ้น เวลานอนหายใจเข้าออกพุทโธๆ ใช้ธรรมะเป็นแนวทาง  ป่วยอยู่ เป็นอยู่ ใช้พุทธศาสนาอยู่ จึงได้ฟื้น”สนชัยกล่าว

          ท้ายที่สุด สนชัย ฝากถึงทุกคนว่า ขอให้ดูแลสุขภาพ ดูแลเรื่องการกิน ตนเจอมาแล้ว อย่ากิน หวาน มัน เค็ม แม้จะอร่อย แต่อนาคต โรคถามหาแน่นอน