"กลุ่มวัยกลางคน" ป่วย "ไตวาย"รายใหม่ แนวโน้มเพิ่ม จากพฤติกรรม

"กลุ่มวัยกลางคน" ป่วย "ไตวาย"รายใหม่ แนวโน้มเพิ่ม จากพฤติกรรม

ผู้ป่วยโรคไตวายใหม่มีแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่อง ซ้ำอายุลดลงเป็นกลุ่มวัยกลางคน แนะช่วยกันปรับเปลี่ยนลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อภาวะไตเสื่อม เฉพาะบัตรทอง 30 บาท ดูแล 6.2 หมื่นคน    ครอบคลุมบริการฟอกเลือด ล้างไตผ่านช่องท้อง และผ่าตัดปลูกถ่ายไต 

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงสถานการณ์ผู้ป่วยโรคไตในประเทศไทยว่า ปัจจุบันคนไทยป่วยด้วยโรคไตสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก โดยมีจำนวนผู้ป่วยประมาณ 11.6 ล้านคน

อีกทั้งยังพบว่าอายุของผู้ป่วยโรคมีแนวโน้มลดลง จากเดิมที่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ เริ่มเปลี่ยนมาเป็นวัยกลางคนมากขึ้น เนื่องจากวิถีชีวิตในปัจจุบันมีการบริโภคอาหารรสจัด รับประทานอาหารปรุงสำเร็จหรืออาหารกล่องที่ไม่รู้ว่าผู้ขายใส่สารเคมีอะไรมาบ้าง ทำให้ไตเริ่มเสื่อมโดยไม่รู้ตัว ซึ่งต้องช่วยกันป้องกันโดยลดพฤติกรรมบริโภคที่เสี่ยงต่อภาวะไตเสื่อม

โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ต้องบำบัดทดแทนไตไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ผ่าตัดเปลี่ยนไต เช่น การฟอกเลือด สมัยก่อนค่าฟอกเลือดครั้งละ 4,000-5,000 บาท ทั้งต้องทำการฟอกเลือด  10-15 ครั้งต่อเดือน ดังนั้นผู้ป่วยมีเงินเท่าไหร่ก็หมด

 สปสช. เห็นว่าเป็นภาวะวิกฤตต่อผู้ป่วยและครอบครัว ดังนั้นจึงได้ของบสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อจัดทำสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ให้กับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายได้เข้าถึงการรักษาอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อดูแลไม่ให้เกิดการล้มละลายจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาลนี้

เมื่อแพทย์วินิจฉัยแล้วว่า ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต แพทย์จะอธิบายข้อดีข้อเสียของการบำบัดแต่ละวิธี แล้วให้ผู้ป่วยตัดสินใจด้วยตัวเองว่าจะใช้วิธีใด โดยพิจารณาจากความเหมาะสมของตนเอง ซึ่งการบำบัดทดแทนไตมี 3 วิธี คือ

 1.ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม

 2.ล้างไตผ่านทางช่องท้อง

 และ 3.ผ่าตัดปลูกถ่ายไต 

โดยปัจจุบันมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องรับการบำบัดทดแทนไตในระบบบัตรทองฯ ประมาณ 62,000 คน แบ่งเป็นผู้ป่วยที่ฟอกเลือดจำนวน 40,000 คน ล้างไตทางช่องท้องจำนวน 21,000 คน และการผ่าตัดเปลี่ยนไต มีผู้ป่วยที่รับการเปลี่ยนไตในระบบแล้วประมาณ 100 คน

“การบำบัดทดแทนไตแต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียต่างกัน เช่น การฟอกเลือด สะดวกตรงที่ผู้ป่วยไม่ต้องทำเอง มีพยาบาลทำให้ แต่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาก และไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ไกล เพราะต้องไปฟอกเลือดที่โรงพยาบาลทุกๆ 2-3 วัน”ทพ.อรรถพรกล่าว 

สำหรับการล้างไตทางช่องท้อง ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติเพราะทำได้ด้วยตัวเอง ซึ่ง สปสช. จัดส่งน้ำยาล้างไตให้ถึงที่บ้าน ทำให้ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เมื่อใส่น้ำยาล้างไตเข้าไปในช่องท้องแล้วก็ออกไปทำกิจกรรมต่างๆ ได้ นอกจากนี้ ยังมีเครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ (APD.) ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการล้างไตระหว่างนอนหลับและออกไปประกอบอาชีพหรือทำกิจวัตรต่างๆ ได้ในเวลากลางวัน

ส่วนอัตราการติดเชื้อของผู้ป่วยล้างไตทางหน้าท้องนั้น รายงานของประเทศไทยมีอัตราที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก เพราะประเทศไทยมีทีมแพทย์และพยาบาลด้านการล้างไตทางช่องท้องที่เข้มแข็ง มีการอบรมวิธีการล้างไตด้วยตัวเองที่ถูกต้องแก่ผู้ป่วย และออกไปเยี่ยมบ้านเพื่อให้คำแนะนำในการปรับพื้นที่ให้เหมาะสมกับการล้างไต

มีบริษัทไปรษณีย์ไทยรับผิดชอบในการจัดส่งน้ำยาล้างไตให้ถึงที่บ้านอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งในสถานการณ์อุทกภัยหรือภัยธรรมชาติต่างๆ ไปรษณีย์ไทยก็สามารถจัดส่งน้ำยาให้ได้เสมอ ยืนยันได้ว่าคนไข้ที่ล้างไตผ่านหน้าท้องในระบบบัตรทองฯ จะไม่มีวันขาดน้ำยาล้างไตอย่างแน่นอน

“การที่ผู้ป่วยสามารถออกไปประกอบอาชีพได้ เป็นกำลังในการการเสริมสร้าง GDP ให้แก่ประเทศ วิธีนี้จึงค่อนข้างเหมาะกับผู้ป่วยที่อยู่ในวัยแรงงาน การจัดชุดสิทธิประโยชน์กรณีไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเป็นตัวอย่างที่สำคัญที่แสดงให้เห็นว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ช่วยลดภาระของผู้ป่วย ครอบครัว และภาระของประเทศได้อย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้ผู้ป่วยยังเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศ ไม่ได้นอนเป็นภาระเพียงอย่างเดียว และถ้ามองให้ลึกลงไป แม้ระบบบัตรทองจะเน้นเรื่องสุขภาพและการรักษาพยาบาล แต่จริงๆแล้วคือการทำให้ประเทศมีความเข้มแข็งในระยะยาวนั่นเอง” ทพ.อรรถพร กล่าว