ริบรี่! “1 ต.ค. ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ดับฝัน “พิพัฒน์” เป็นไปได้ยาก

ริบรี่! “1 ต.ค. ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ดับฝัน “พิพัฒน์” เป็นไปได้ยาก

ล่มแล้วล่มอีก!!! “การประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22 ที่มี “นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน” เป็นประธาน ซึ่งการประชุมบอร์ดค่าจ้างครั้งที่ 9/2567 (วันที่ 20 ก.ย.2567) พิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ครั้งที่ 3 ในรอบปี 2567

ตามแนวนโยบายของรัฐบาลที่จะให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ในบางประเภทกิจการทั่วประเทศ ที่จะให้มีผลในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ โดยการประชุมครั้งดังกล่าวเป็นครั้งที่ 2 ในรอบสัปดาห์

หลังจากที่ประชุมครั้งที่ 8/2567 เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567 ล่ม! เนื่องจากกรรมการฝ่ายนายจ้าง 5 คน ได้ลาประชุมจนที่ประชุมไม่สามารถลงมติปรับตัวเลขอัตราค่าจ้างรอบใหม่ได้

พอมารอบที่ 2 ในสัปดาห์ กรรมการฝ่ายนายจ้างมาครบ แต่กรรมการฝ่ายรัฐบาลกลับมาเพียงคนเดียว นั่น คือ "นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน" ซึ่งเป็นประธาน ส่วนที่เหลืออีก 4 คนหายตัว (บางคนมาแถวกระทรวงแรงงาน แต่ไม่เข้าร่วมประชุม) เช่นเดียวกับกรรมการฝ่ายลูกจ้างที่มาเพียง 3 คน  ส่วนอีก 2 คน ติดต่อไม่ได้  เมื่อมากันไม่ครบองค์ประชุมก็ไม่สามารถลงมติปรับตัวเลขอัตราค่าจ้างรอบใหม่ได้ แรงงานต้องรอต่อไป

เมื่อองค์ประชุมไม่ครบ ก็ต้องนัดถกกันใหม่ อีกครั้งในช่วงเช้า วันอังคารที่ 24 กันยายน 2567 ซึ่งเป็นวันประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ที่จะมีการประชุมทุกวันอังคาร แต่ “ปลัดกระทรวงแรงงาน” คงไม่สามารถเข้าไปนำเสนอผลการพิจารณาได้ ว่าจะปรับขึ้นค่าจ้าง 400 บาท หรือไม่? อย่างไร?

คงได้แต่ภาวนาว่าให้การประชุมใหญ่ วันที่ 24 กันยายนที่จะถึงนี้ (หากมีการเข้าร่วมองค์ประชุมครบ) มีมติชัดเจนว่าจะเอาอย่างไร จะปรับขึ้น..ไม่ขึ้น

ส่วนจะทัน.. ไม่ทัน คงต้องลุ้นกันต่อไป เพราะการประชุมครม.นัดหน้า จะเป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่ “นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ออกมายืนยันว่าจะประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ในบางกิจการทั้งประเทศ  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

วัดใจนโยบายค่าแรง ‘แพทองธาร’ 74 จังหวัดเสนอขึ้นไม่ถึง 400 บาท

ล่มอีกรอบ!! ไตรภาคีค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เตรียมประชุมใหญ่อีกครั้ง 24 ก.ย.67 นี้

ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ รอบ3 ในปีเดียว

“การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ในบางกิจการทั่งประเทศ” เป็นการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรอบ 3 ในปี 2567 ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่มีการปรับถึง 3 รอบ ภายในปีเดียว

โดยปี 2567 มีการปรับค่าจ้างมาแล้ว 2 ครั้ง คือ

รอบที่1 ช่วง มกราคมรอบแรก เดิมจ่าย 300 บาทเป็น 330-370 บาทต่อวัน

รอบที่2 วันที่ 13 เมษายน มีประกาศเป็น 400 บาท ในประเภทกิจการโรงแรมที่ได้รับมาตรฐานที่พักเพื่อการท่องเที่ยว ประเภทโรงแรมระดับการให้บริการ 4 ดาวและมีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไปแต่การปรับค่าจ้าง 400 บาท ได้รับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละ 400 บาทใน 10 จังหวัด ได้แก่

  • กรุงเทพมหานคร เฉพาะเขตปทุมวันและวัฒนา
  • กระบี่ เฉพาะเขต อบต.อ่าวนาง
  • ชลบุรี เฉพาะเขตเมืองพัทยา
  • เชียงใหม่ เฉพาะเขตเทศบาลนครเชียงใหม่
  • ประจวบคีรีขันธ์ เฉพาะเขตเทศบาลหัวหิน
  • พังงา เฉพาะเขตเทศบาลตำบลคึกคัก
  • ภูเก็ตทั้งจังหวัด
  • ระยอง เฉพาะเขตตำบลเพ
  • สงขลา เฉพาะเขตเทศบาล นครหาดใหญ่
  • สุราษฎร์ธานี เฉพาะเขตเทศบาลนครเกาะสมุย

รอบที่3 วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 รัฐบาลได้ประกาศแนวทางในการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันทุกประเภทกิจการทั่วประเทศ เพื่อที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 โดยมอบหมายให้อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด ไปรวบรวมข้อมูลค่าจ้างว่ามีจังหวัดใด หรือกิจการใดขอปรับบ้าง ก่อนจะมานำเสนอพิจารณาของคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองที่กำหนดพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2567 แต่ก็ยังไม่ได้ข้อมูล เลื่อนแล้วเลื่อนอีกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งขอให้แล้วเสร็จในวันที่ 9 กันยายน 2567 

หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการค่าจ้างกลางที่มีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ซึ่งจะพิจารณาตามข้อเท็จจริง และข้อเสนอของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด

ไม่ตรงเป้า! รัฐบาลไม่พอใจกับตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำ

จนถึงขณะนี้ไม่แน่ใจว่า  "คณะกรรมการไตรภาคี เล่นอะไรกันอยู่!!!" ทำไมยังไม่สามารถพิจารณา ลงมติได้ว่า มีจังหวัดไหน? กิจการใด? ขอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท  

สำหรับข้อเสนอของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด พบว่า มีอย่างน้อย 23 จังหวัดที่ไม่เสนอปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งทำให้คงระดับค่าจ้างขั้นต่ำที่ 330-345 บาท เช่น หนองบัวลำภู อุดรธานี ชัยภูมิ บุรีรัมย์ หนองคาย ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี

นอกจากนี้ แต่ละจังหวัดมีการเสนอขั้นค่าแรงขั้นต่ำแตกต่างกันระหว่าง 2-42 บาท รวมทั้งส่วนใหญ่เสนอให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.2568 เช่น อ่างทอง เสนอปรับเพิ่มขึ้น 29 บาท หรือ เลยเสนอปรับขึ้น 26 บาท

ขณะที่ สมุทรปราการ เสนอปรับขึ้นมากที่สุด 42 บาท ทำให้ค่าแรงขั้นต่ำมาอยู่ที่ 405 บาท แต่ข้อเสนอไม่ระบุวันที่มีผลบังคับใช้ ส่วนภูเก็ต เสนอปรับขึ้น 30 บาท เป็นวันละ 400 บาท ให้มีผลบังคับใช้เดือนม.ค.2568 ซึ่งจากข้อเสนอดังกล่าวทำให้มี 3 จังหวัดที่ค่าแรงขั้นต่ำขึ้นไปถึงวันละ 400 บาท คือ ภูเก็ต กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ

จากการที่กรรมการฝั่งรัฐบาลไม่เข้าร่วมถึง 4 คน มีการตีความว่า รัฐบาลไม่พอใจกับตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำที่คณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง เสนอมาหรือไม่?

นายไพโรจน์ บอกว่าไม่น่าจะใช่ น่าจะเป็นประเด็นอื่น แต่ไม่ขอพูด เพราะตัวเองเหลือการทำงานในตำแหน่ง ปลัดกระทรวงแรงงาน เพียงอีก 6 วัน  แต่ในวันที่ 24 กันยายน ซึ่งจะมีการประชุมบอร์ดค่าจ้างอีกครั้งนั้น ตนเองยังไม่เกษียณ ยังเป็นประธานบอร์ดค่าจ้างอยู่ แต่เมื่อเรื่องดังกล่าวนำเสนอเข้าที่ประชุมครม. คาดว่าคงต้องเป็นหน้าที่ของ “ปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่”

ผู้ประกอบการร้อยละ 60 ได้รับผลกระทบ

หากพิจารณาจากโครงสร้างการจ้างงานในไทย จากการศึกษาของนักวิจัยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ระบุว่า ลักษณะธุรกิจส่วนใหญ่ของไทยจะมีขนาดเล็ก ลูกจ้างกระจุกตัวอยู่ในธุรกิจขนาดใหญ่ หากมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ

“แบ่งตามภาคธุรกิจ บางภาคธุรกิจ เช่น โทรคมนาคม อสังหาริมทรัพย์ การเงิน ผู้ประกอบการเกินร้อยละ 60 ไม่ได้มีลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 400 บาทต่อวัน (10,400 บาทต่อเดือน) จึงไม่น่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงมากนัก อย่างไรก็ดี กลุ่มภาคการผลิต ทั้งอาหาร สิ่งทอ ยาง อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังมีลูกจ้างบางส่วนหรือทั้งหมดที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 400 บาทต่อวัน จึงน่าจะได้รับผลกระทบมากกว่า”

ขณะเดียวกัน ในฝั่งของนายจ้าง ผู้ประกอบการ จะพบว่ามีผู้ประกอบการร้อยละ 60 หรือประมาณ 25,000 รายที่น่าจะได้รับผลกระทบแน่ ๆ และอาจจะมีผลกระทบทางอ้อมถึงลูกจ้างกลุ่มอื่น ๆ ด้วย ธุรกิจบางรายอาจจำเป็นต้องปรับค่าจ้างของลูกจ้างกลุ่มอื่น ๆ ในบริษัทให้สูงขึ้นตามกันไปด้วย

ปรับค่าจ้าง ธุรกิจSME ไม่รอด

“รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ" คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการประกันสังคม กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ดประกันสังคม ก็ได้พูดคุยกับฝ่ายนายจ้าง ซึ่งฝ่ายนายจ้างบอกว่า ธุรกิจ SMEs ไปกันไม่รอด จากปัญหา 3 ส่วน 1.ขาดเทคโนโลยีที่ทันสมัย 2.ถูกทุนจีนเข้ามายึดตลาด 3.ต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่สูง แบกรับภาระไม่ไหว

โดยส่วนตัวได้เสนอไปว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทนั้น ให้แยกถ้าเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีต่างชาติร่วมทุนต้องให้ปรับ เพราะต่างชาติไม่ว่ายุโรป อเมริกาหรือญี่ปุ่น ค่าจ้างแรงงานสูงกว่าบ้านเรา 8-10 เท่าอยู่แล้ว ดังนั้นการจะปรับค่าแรงบริษัทเหล่านี้จึงไม่กระเทือนและแรงงานควรได้รับเช่นกัน

ส่วนบริษัทรายกลาง รายย่อย ที่มีลูกจ้าง 30-40 คน จะให้ผู้ประกอบการปรับค่าแรงขึ้นเป็น 400 บาท เหมือนรายใหญ่เป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก ซึ่งรัฐต้องอธิบาย ดีดลูกคิดให้แรงงานได้เข้าใจและเห็นใจบริษัทเหล่านี้ด้วย และต้องคิดหาทางช่วย ตัวอย่างเช่น บริษัทอาจจะชดเชยด้วยสวัสดิการ ที่เรียกว่าสวัสดิการลดรายจ่าย ที่สำคัญสุดคือ หอพักใกล้โรงงาน ซึ่งจะทำให้แรงงานประหยัดค่าเดินทาง และไม่ต้องเสียค่าเช่าที่อยู่ เดือนละ 2,000-3,000 บาท พร้อมสนับสนุนให้นายจ้างสร้างหอพักบริเวณโรงงาน

ยกเลิกนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ

ด้าน "นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต" นายทะเบียน และรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ควรเลิกนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ และหันมาผลักดัน นโยบาย Pay by skills กันอย่างจริงจัง โดยวาง 4 แนวทางแก้ปัญหาค่าครองชีพเพื่อแรงงานไทย คือ 1.การแก้ปัญหาทุนผูกขาด 2. การแก้ปัญหาทุจริต คอร์รัปชัน 3.การผลักดัน "นโยบายรัฐสวัสดิการ" และ 4.จ่ายค่าแรงตามทักษะฝีมือ (PAY BY SKILL)

“หากทำทั้ง 4 ข้อแล้วค่าครองชีพของประชาชน และแรงงาน ก็จะลดลง นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ ก็จะไม่เป็นเครื่องมือในการหาเสียงของพรรคการเมือง อย่างที่เป็นมาในอดีต ซึ่งมีแต่จะทำลายเศรษฐกิจโดยเฉพาะ เอสเอ็มอีด้วยการล้มหายตายจาก และเลิกกิจการหรือ การลดจำนวนเเรงงาน เพื่อลดภาระต้นทุนค่าแรงอย่างที่หลายภาคส่วนเป็นกังวล ทั้งนี้ ยังไม่รวมเงินที่ไหลออกนอกประเทศ จากแรงงานต่างด้าว ที่ได้รับอานิสงส์ค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทย”

ผุดวิธีช่วยSME ปรับขึ้นค่าจ้าง

การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละครั้งนั้น "ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SMEs" มักจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ดังนั้น หากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ "ภาครัฐ" ต้องหาวิธีการว่าจะทําอย่างไรให้ SMEs ซึ่งถือครองผู้ใช้แรงงานมากกว่า 90% ให้ยืนต่อไปได้ด้วย 

"กระทรวงแรงงาน" ได้มีการเสนอขอให้ทางกระทรวงการคลังไปดูมาตรการต่างๆ ว่าจะช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างไรได้บ้าง  พร้อมทั้งมีการนำเสนอว่าจากการที่คุณขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จะเอาส่วนที่เกินก่อนหักภาษี 1.5 เท่า มาเป็นค่าใช้จ่ายก่อนหักภาษี เพื่อช่วยผู้ประกอบการในการบรรเทาเรื่องการชําระภาษี ส่วนมาตรการอื่นๆ คงจะต้องให้กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาและประกาศออกมาอีกครั้งหนึ่ง

ขณะที่ "มาตรการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน" เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในกิจการ ทางปลัดกระทรวงแรงงาน และเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมได้มีการหารือร่วมกัน ว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะพิจารณาเอาเงินก้อนหนึ่งเข้าไปเพื่อผ่านสถาบันการเงินของรัฐ ในการที่จะไปปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการเพื่อเสริมสภาพคล่อง บรรเทาในสิ่งต่าง ๆ ซึ่ง สำนักงานประกันสังคม พร้อมให้การสนับสนุน เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งกระทรวงแรงงานไม่สามารถที่จะให้ทางผู้ประกอบการกู้ยืมเป็นทางตรงได้ แต่จะประสานงานกับสถาบันการเงิน และให้สถาบันการเงินเป็นผู้ให้กู้อีกชั้นหนึ่ง

"มาตรการลดภาษี" ในกรณีที่มีการฝึกอบรมการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งในปี 2567 มีการอบรมสัมมนาผ่านสถานประกอบการใกล้เคียงคือ 4 ล้านตําแหน่ง ตรงนี้เราจะมีมาตรการเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่เกิดจากสถานประกอบการ สามารถนํามาหักภาษีหรือลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งมาตรการต่างๆ คงจะมีหลายรูปแบบ เชื่อว่าผู้ประกอบการทุกท่านที่มีการจัดอบรมไปพร้อมกับกรมพัฒนาฝีมืองานแรงงานทราบดีอยู่แล้ว

"โครงการธงฟ้า แก้ปัญหาสินค้าราคาสูงหลังปรับค่าจ้าง" กระทรวงแรงงาน ได้หารือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเสนอมาตรการช่วยผู้ใช้แรงงาน เพราะเมื่อมีการประกาศค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นไปที่ 400 บาท ในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป

สิ่งที่แน่นอนที่สุด คือ ราคาสินค้าจะทยอยขยับตัวตามค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นไป ซึ่งเราจะเห็นทุกครั้งที่มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งตรงนี้ได้หารือว่าเราขอใช้โครงการธงฟ้าของกระทรวงพาณิชย์ ในการที่จะนําสินค้าต่างๆ ออกขายตามจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์พร้อมที่จะร่วมมือและสนับสนุนในการไปออกโครงการธงฟ้าทุกจังหวัดที่เรานําเสนอไปให้

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจในหลายด้าน ปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งในมิติเชิงโอกาสและมิติเชิงเศรษฐกิจ ค่าจ้างที่แท้จริงนั้นไม่ได้มีการเติบโตมากนักในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งก็เป็นปัญหาที่สำคัญและต้องการการแก้ไข ที่ผ่านมาช่วงที่ค่าจ้างปรับตัวเพิ่มขึ้น ก็มักจะมาจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นหลัก และหากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีกครั้ง ก็น่าจะเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าของแรงงานในเรื่องรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

การแก้ปัญหาดังกล่าวอาจจะส่งผลที่ไม่คาดคิดในมิติอื่น ๆ  ชุดนโยบายที่จะมาแก้ปัญหารายได้ไม่เพียงพอ ควรจะมีการมองรอบด้านและแก้ทั้งปัญหาระยะสั้นและระยาวไปพร้อม ๆ กัน

"หากต้นตอของปัญหาค่าจ้างต่ำ คือ แรงงานไทยส่วนใหญ่มีผลิตภาพไม่สูงนักและค่าจ้างที่ผ่านมาก็สะท้อนผลิตภาพดังกล่าว การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ควรเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน ซึ่งทำได้ตั้งแต่การเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ การเพิ่มโอกาสในตลาดแรงงานโดยไม่มีการกีดกันทางเพศและอายุ ลดการใช้เส้นสาย การพัฒนาผลิตภาพการผลิต ไปจนถึงการส่งเสริมการแข่งขันในธุรกิจต่าง ๆ เพื่อลดการผูกขาดทั้งในฝั่งการจ้างงานและการขายสินค้าและบริการ"

อ้างอิง:สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์