ผิดพลาดอย่างชาญฉลาด จงหยุดพูดว่า “ผิดไม่เป็นไร”

ผิดพลาดอย่างชาญฉลาด จงหยุดพูดว่า “ผิดไม่เป็นไร”

บางองค์กร พนักงานไม่กล้าทำผิดเลยเพราะความผิดพลาดเป็นเหตุให้โดนหมายหัว โดนลงโทษ สุดท้ายคนก็ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ไม่กล้าทำอะไรใหม่ๆ ทำให้ไม่เกิดนวัตกรรม และที่แย่ที่สุดคือ ไม่มีใครกล้าคัดค้านความเห็นของหัวหน้าหรือคนข้างบน เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหา

อันที่จริง ถ้ามองจากมุมของหัวหน้าหรือองค์กร ความผิดพลาดก็เป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่น่าจะหลีกเลี่ยงได้ คงไม่มีหัวหน้าคนไหน อยากได้ลูกน้องที่ทำผิดพลาดอยู่เป็นประจำ ผิดแล้วผิดเล่า

ในทางกลับกัน ถ้าความผิดพลาดเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ในโลกนี้ก็คงจะไม่มีนวัตกรรมใหม่ๆ ใดๆ เกิดขึ้นเลย ทุกคนคงพยายามรักษาที่มั่น ทำทุกอย่างให้เหมือนเดิม เพราะพิสูจน์แล้วว่า “ใช้ได้-ไม่ผิด”   

 อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการแข่งขันในปัจจุบัน หลายๆ องค์กร ก็เริ่มยอมรับความผิดพลาดมากขึ้น โดยประยุกต์แนวความคิดเรื่อง “รีบผิด รีบเรียนรู้” (Fail fast, learn fast) จากวงการสตาร์ตอัป เข้ามาใช้ในองค์กรมากขึ้น

ศาสตราจารย์เอมี่ แอดมอนด์ซัน (Amy Edmondson) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ทำงานวิจัยและเขียนหนังสือเล่มหนึ่งน่าสนใจมากชื่อ Right kind of wrong - the science of failing well (ความผิดพลาดที่ถูกต้อง - ศาสตร์แห่งการล้มเหลวที่ดี) เธอพบว่า ไม่ใช่ทุกความผิดพลาดมีลักษณะเหมือนกัน และความผิดพลาดบางอย่าง ก็ไม่จำเป็นต้องผิดเพื่อที่จะเรียนรู้ เราสามารถเรียนรู้ได้ โดยไม่ต้องผิด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เทรนด์ใหม่ทั่วโลก!!ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ข้อดี-ข้อจำกัดที่องค์กรต้องรู้

งานแบบไหนที่คนรุ่นใหม่ SAY YES อยากทำงานด้วยมากที่สุด

3 ประเภทความผิดพลาด  

ศ.แอดมอนด์ซัน แบ่งความผิดพลาดออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1 ความผิดพลาดแบบพื้นๆ (Basic failure) - ความผิดพลาดแบบนี้ มักเกิดจากความไม่สนใจ ไม่ใส่ใจ ไม่เคารพกฎเกณฑ์หรือกติกาที่มีอยู่ จึงเกิดความผิดพลาดและเสียหายขึ้น เช่น คนเมาแล้วขับรถ เป็นต้น ความผิดพลาดแบบนี้ ไม่ควรเกิดขึ้น และไม่จำเป็นต้องผิดพลาด เพื่อที่จะเรียนรู้

2. ความผิดพลาดที่ซับซ้อน (Complex failure) - เป็นความผิดพลาดหรือความล้มเหลวที่เกิดจากปัจจัยย่อยๆ หลายๆ อย่างประกอบกัน ในจังหวะหรือเวลาเดียวกัน โดยที่ปัจจัยย่อยๆ เหล่านั้น ไม่สามารถก่อให้เกิดความผิดพลาดล้มเหลวได้ ถ้าไม่ได้มารวมกันในเวลาเดียวกัน เช่น กรณีอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงถล่มที่ อ.ปากช่อง เมื่อเร็วๆ นี้ และมีคนงานต่างชาติเสียชีวิต 3 ราย สาเหตุของความเสียหายครั้งนี้ เกิดจากโครงสร้างที่ไม่แข็งแรงของโพรงอุโมงค์, สภาพอากาศที่ฝนตกลงมาอย่างหนัก​และเผอิญมีคนงานเข้าไปทำงานในช่วงเวลานั้นพอดี เป็นต้น ความผิดพลาดแบบนี้ ก็เป็นความผิดพลาดที่ไม่ควรเกิดขึ้นอีกเช่นกัน เพราะบ่อยครั้งที่เราสามารถป้องกันได้ ถ้าเพียงแต่คนที่เกี่ยวข้อง รู้สึกว่าปลอดภัยที่จะพูดหรือแสดงความไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจบางอย่างของคนบางคน

3. ความผิดพลาดที่ชาญฉลาด (Intelligent failure) มักเกิดขึ้นกับกรณีที่เป็นเรื่องใหม่ ไม่เคยทำหรือพบเจอมาก่อน เช่น การทดลองสินค้าใหม่ การรับมือกับโรคโควิดในช่วงแรกๆ เป็นต้น ความผิดพลาดแบบนี้แหละที่ ศ.แอดมอนด์ซัน บอกว่าเป็นความผิดพลาดที่ถูกต้อง เป็นความล้มเหลวที่ควรให้เกิดขึ้น เพื่อการเรียนรู้

ล้มเหลวแบบชาญฉลาด

องค์ประกอบสำคัญของการสร้างความล้มเหลวแบบชาญฉลาด มีดังนี้

1. สร้างพื้นที่ปลอดภัย : คนในองค์กรต้องรู้สึกปลอดภัยที่จะพูดหรือแสดง ความคิดเห็น แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ หัวหน้าก็ต้องเปิดใจรับฟัง ไม่ว่าจะเป็นน้องๆ ที่มีประสบการณ์น้อยหรือพี่ๆ ที่มีประสบการณ์มากมาย ก็ควรมีสิทธิมีเสียงเท่ากัน

2. ปรับมุมมองเกี่ยวกับความผิดพลาด : ปรับวิธีการพูดถึงความล้มเหลว เราต้องบอกว่าการล้มเหลวที่ชาญฉลาด การผิดพลาดที่ได้เรียนรู้ เป็นเรื่องที่ดีและควรได้รับคำชื่นชม แต่อย่าผิดพลาดล้มเหลวแบบไม่ฉลาด

3. ให้รางวัลความผิดพลาด : ความล้มเหลวที่ทำให้เรียนรู้ ความล้มเหลวที่ชาญฉลาดควรได้รับรางวัล เพราะเป็นความล้มเหลวที่ทำให้เติบโต แต่ไม่ใช่ทุกความล้มเหลวควรได้การชื่นชม

เพราะฉะนั้น จากนี้ไปจงหยุดพูดว่า “ผิดไม่เป็นไร” เพราะความผิดพลาดบางอย่าง มัน “เป็นไร”  ไม่ใช่ทุกความผิดพลาด ควรต้องเกิดขึ้น เพื่อที่จะได้เรียนรู้

การเรียนรู้บางอย่าง สามารถเกิดขึ้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีความผิดพลาดเป็นครู