3 ปรัชญาสร้างDNA พนักงาน “เวชพงศ์โอสถ”ธุรกิจฉบับครอบครัว
“เวชพงศ์โอสถ” ไม่ใช่ธุรกิจสมุนไพร แต่เป็นธุรกิจสุขภาพที่มีการใช้สมุนไพรเป็นหลัก และมีการเติบโตมาอย่างยาวนานถึง 120 ปี ภายใต้การบริหารองค์กรที่ยึด 3 หลักปรัชญาในการทำธุรกิจตั้งแต่สมัยอาก๋งมาจนถึงปัจจุบัน “กตัญญู ขยันหมั่นเพียร และซื่อสัตย์”
KEY
POINTS
- ธุรกิจร้านยาเหมือนน้ำซึมบ่อทราย จะไม่ได้ทำให้รวยมากมายอย่างรวดเร็ว แต่ถ้ารักษาบ่อน้ำให้ดี ก็จะมีกินมีใช้ไม่มีวันหมด หน้าที่ของเรา คือการรักษาบ่อน้ำนี้ให้ใสสะอาด
- พนักงานแต่ละคนเป็นเสมือนจิ๊กซอร์ ซึ่งผู้บริหารมีหน้าที่ในการจินตนาการภาพใน ecosystem และคัดเลือกพนักงานไปใส่ในecosystem นั้นๆ หากภาพออกมาสวยก็ผลักดันให้เจริญเติบโต
- สิ่งจำเป็น สำหรับผู้บริหารรุ่นใหม่ คือ ต้องมีความอ่อนตัว ต้องปรับตัวให้เร็ว อย่าไปยึดติด เพราะความสำเร็จของเก่าไม่ได้การันตีว่าของใหม่จะสำเร็จ
“เวชพงศ์โอสถ” ไม่ใช่ธุรกิจสมุนไพร แต่เป็นธุรกิจสุขภาพที่มีการใช้สมุนไพรเป็นหลัก และมีการเติบโตมาอย่างยาวนานถึง 120 ปี ภายใต้การบริหารองค์กรที่ยึด 3 หลักปรัชญาในการทำธุรกิจตั้งแต่สมัยอาก๋งมาจนถึงปัจจุบัน “กตัญญู ขยันหมั่นเพียร และซื่อสัตย์” ส่งต่อมายังรุ่นต่อรุ่น
หากนึกถึงร้านยาแผนจีน ยาแผนไทย และคลินิกแพทย์แผนจีนขึ้นห้างสรรพสินค้าทั้งในเครือเซ็นทรัล และเดอะมอลล์แล้ว หลายๆ คนคงนึกถึง “เวชพงศ์โอสถ” ที่มี 16 สาขา ที่เยาวราชและห้างสรรพสินค้า โดยขณะนี้มี “ยุทธเดช เวชพงศา กรรมการบริหาร บริษัท เวชพงศ์โอสถ (ฮกอันตึ๊ง) จำกัด” เป็นผู้นำรุ่นที่ 3 ในการบริหารงานและคน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ปรัชญาทำธุรกิจ พัฒนาคน
“ยุทธเดช” ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่าการบริหารงานและคนของเวชพงศ์โอสถ ยังคงความเป็นธุรกิจครอบครัวแต่ไม่ใช่ในรูปแบบของกงสี และสมาชิกครอบครัวใหญ่เวชพงศาซึ่งมีประมาณ 100 กว่าคน มีเพียง 10 คนที่ขับเคลื่อนธุรกิจเวชพงศ์โอสถ การบริหารงานเวชพงศ์โอสถ และมีบริษัทย่อยอีก 4-5 แห่ง โดยมีพนักงานทั้งหมด 200 กว่านั้น จะมุ่งเน้นความบาลานซ์ระหว่างความเป็นครอบครัวและการทำธุรกิจ
เวชพงศ์โอสถจะดำเนินธุรกิจแบบค่อยๆ ทำ โดยยึดตาม 3 ปรัชญาในการทำธุรกิจเป็นสำคัญ คือ 1.กตัญญู รู้คุณ คือกตัญญูต่อบ้านเกิดและบ้านที่อยู่อาศัย นั่นคือ ประเทศจีนและประเทศไทย การทำอย่างไรก็ได้ให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี สร้างร้านค้า สร้างสิ่งต่างๆเพื่อตอบแทนสังคมไทย ส่วนประเทศจีน ได้มีการสร้างโรงเรียนประถมวัย เนื่องจากคนใน บ้านเกิดขาดความรู้ และในพื้นที่ไม่มีโรงเรียนประถมวัย
2.ขยันหมั่นเพียร ซึ่งรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 จะมองว่า ชีวิตคืองาน (work is life) เพราะเขาผ่านความยากลำบาก ถ้าเขาไม่ทำเขาจะไม่มีเงินไม่มีกิน ในแต่ละปีครอบครัวจะมีโอกาสเที่ยวเพียงครั้งเดียว คือ ช่วงตรุษจีน ดังนั้น ใครมีหน้าที่ทำงานก็จะทำงาน ใครมีหน้าที่เรียนก็จะเรียน ไม่ได้เที่ยว พอมารุ่นที่ 3 เริ่มมี Work Life Balance มากขึ้น
3.ความซื่อสัตย์ ทุกคนต้องมีความซื่อสัตย์และจริงใจต่อทุกภาคส่วน ทั้งในครอบครัว พนักงาน ลูกค้า และคู่ค้า
ซื่อสัตย์ จริงใจ สื่อสารทิศทางเดียวกัน
สำหรับ “ยุทธเดช” มองว่าการเป็นครอบครัวใหญ่เป็นเรื่องที่ดี เพราะแต่ละคนจะมีความสนใจ ความถนัดที่แตกต่างกัน เมื่อทุกคนมานำเสนอและเดินตามทางที่ตนเองมีความรู้ ความชำนาญจะช่วยเสริมให้ธุรกิจขยายและครอบคลุมมากขึ้น ซึ่ง DNA ของผู้บริหารและพนักงานเวชพงศ์โอสถทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนนามสกุลเวชพงศาหรือไม่ก็ตาม จะต้องสอดคล้องกับ 3 ปรัชญาที่กำหนดไว้
“อาก๋ง พูดเสมอว่า ธุรกิจร้านยาเหมือนน้ำซึมบ่อทราย จะไม่ได้ทำให้เรารวยมากมายอย่างรวดเร็ว แต่ถ้ารักษาบ่อน้ำให้ดี ก็จะมีกินมีใช้ไม่มีวันหมด หน้าที่ของเรา คือ การรักษาบ่อน้ำนี้ให้ใสสะอาดทั้งสำหรับบริษัทเอง ผู้บริโภค และคู่ค้า โดยเฉพาะเรื่องของความซื่อสัตย์ ความจริงใจที่ทำให้เวชพงศ์โอสถอยู่ยืนยาวมาถึง 120 ปี เพราะหากนึกถึงเวชพงศ์โอสถจะต้องนึกถึงของที่ดี มีคุณภาพ”ยุทธเดช กล่าว
“ยุทธเดช” กล่าวต่อว่าเราเป็นธุรกิจครอบครัวใหญ่ทำให้การดำเนินธุรกิจต้องเป็นการจัดการอย่างมีระบบ เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถทำให้เกิดการสื่อสารได้ หากเป็นธุรกิจครอบครัวขนาดเล็ก บริหารแบบเดิมไม่ใช่เรื่องแปลก เวชพงศ์โอสถ ต้องมีการสื่อสารร่วมกันตลอด และแต่ละปีจะมีการประชุมใหญ่ เพื่อการสื่อสารให้มีความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน
“ecosystem”ลดช่องว่างระหว่างวัย
ธุรกิจของเวชพงศ์โอสถมีหลากหลายมาก มีทั้งกิจกรรมการผลิต การจัดจำหน่ายทั้งขายหน้าร้าน ขายออนไลน์ ขายส่ง บุคลากรขององค์กรจะสอดคล้องกับ ecosystem ที่ผู้บริหารกำหนดขึ้น โดยแต่ละหน่วยย่อย จะค้นหาและคัดเลือกคนให้เหมาะกับ ecosystem นั้น
“เรามองว่าพนักงานแต่ละคนเป็นเสมือนจิ๊กซอร์ ซึ่งผู้บริหารมีหน้าที่ในการจินตนาการภาพใน ecosystem และนำจิ๊กซอร์ หรือพนักงานไปใส่ และเมื่อใส่พนักงานไปแล้วทำให้ภาพออกมาสวยงาม เจริญเติบโตได้ดีก็ต้องผลักดันให้พนักงานมีความก้าวหน้า เจริญเติบโตในหน้าที่การงาน สิ่งที่สำคัญ ต้องรู้จักพนักงาน ฉะนั้น เวลาคัดเลือกพนักงานจะมีฝ่ายคัดเลือกคน ซึ่งอาจจะเป็นผู้บริหาร หัวหน้าทีม หรือเจ้าหน้าที่ที่สามารถอ่านคนนอกคำพูดเก่ง และผู้บริหารไม่ได้เป็นคนสร้าง ecosystem คนที่สร้างคือกลุ่มพนักงานด้วยกันเองที่อยู่ใน ecosystem”ยุทธเดช กล่าว
“ยุทธเดช” กล่าวอีกว่าการให้พนักงานช่วยกันสร้าง ecosystem ขึ้นเอง จะช่วยลดช่องว่างระหว่างวัย ซึ่งโครงสร้างบุคลากรหากเป็นแนวดิ่ง ผู้บริหารระดับบนอายุห่างจากพนักงานค่อนข้างมาก อย่าง เขาอายุ 63 ปี จะไปคุยกับเด็กอายุ 20-30 ปี อาจทำให้สื่อสารไม่เข้าใจกัน แต่หากเป็นบุคลากรในแนวนอน หัวหน้างานกับพนักงาน จะอายุห่างกันไม่กี่ปี มากสุดก็น่าจะ 10 ปี และเมื่อพวกเขาร่วมกันสร้าง ecosystem จะไม่ปัญหาเรื่องเหล่านี้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับลักษณะของงานร่วมด้วย
จัดหาทรัพยากร ไกด์ไลน์ระบบ
“บทบาทหน้าที่ของผู้บริหาร ต้องให้ทรัพยากร และไกด์ไลน์ว่า ecosystem ที่กำหนดคืออะไร แต่การสร้าง ecosystem จะเป็นบทบาทของพนักงานที่จะต้องดำเนินการ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวของเขาและองค์กร ที่สำคัญ ecosystem ที่พนักงานอยู่ต้องมีความสุข สนุก และไม่ Toxic ไม่มีการนินทา หักหลังกัน ถ้ามีปัญหาผู้บริหารต้องเข้าไปช่วยแก้ ผู้บริหารต้องส่งมอบประสบการณ์ ความคาดหวัง ให้น้องๆ และไปสร้าง ecosystem ขึ้นเอง โดยที่ต้องรู้ขอบเขตของตนเอง ต้องไม่ไปกดดัน”ยุทธเดช กล่าว
พนักงาน “เวชพงศ์โอสถ” ต่างได้รับการเทรนนิ่งอย่างต่อเนื่อง โดยมีระดับหัวหน้าเข้ามาสอน เมื่อได้เลื่อนตำแหน่งมากขึ้นหรือได้ทำงานอื่นๆ จะมีหัวหน้า ผู้จัดการ หรือพนักงานรุ่นพี่ประกบทำงานร่วมกัน
ผู้บริหารรุ่นใหม่ต้องอ่อนตัว ปรับตัวไว
“สิ่งจำเป็น สำหรับผู้บริหารรุ่นใหม่ คือ ต้องมีความอ่อนตัว ต้องปรับตัวให้เร็ว อย่าไปยึดติด เพราะความสำเร็จของเก่าไม่ได้การันตีว่าของใหม่จะสำเร็จ เนื่องจากโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น การจะฟังเพลง เมื่อก่อนต้องซื้อซีดี แต่ปัจจุบันหาซื้อซีดีได้ยากมาก ทุกอย่างเป็นสตรีมมิ่งทั้งหมด การบริหารคนจึงต้องเปลี่ยนไปเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค พนักงานและคู่ค้า ยิ่งตอนนี้ใครเข้าถึงผู้บริโภคก่อน และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บริโภค ผู้นั้นจะได้เปรียบ”ยุทธเดช กล่าว
ธุรกิจครอบครัวไม่ค่อยมีการเกษียณอายุ แต่จะเป็นในลักษณะค่อยๆ ผ่อนลง ซึ่งการดำรงตำแหน่ง ผู้บริหารรุ่นที่ 3 “ยุทธเดช” จะขึ้นอยู่กับสุขภาพ ตราบใดที่ยังทำงานได้ และคนในครอบครัวเห็นว่ามีประโยชน์ ก็จะทำงานต่อไป แต่หากเมื่อถึงเวลาถูกดึงออกไปในหมวก Semi-Retire เขาก็ยินดี
“การทำงานในธุรกิจครอบครัว แตกต่างกับการไปเป็นผู้บริหารของบริษัทอื่นๆ เพราะพอเป็นธุรกิจครอบครัว เสาร์-อาทิตย์ อาจหายไป แต่ Work-life Balance ยังคงต้องมี เพราะ Work-life Balance มันอยู่ที่ตัวเรา แต่ความรับผิดชอบจะต้องคงมี ผมต้องดูแลธุรกิจนี้เพื่อครอบครัว เพราะผมเป็นตัวแทนของครอบครัว เวลาเรารับจ้างในบริษัทอื่น เรารักและผูกพันกับองค์กร แต่เราไม่ได้เป็นเจ้าของ แต่ตอนนี้ผมมีหมวกผู้บริหารด้วย เราเป็นเจ้าของด้วย เราก็จะรักและต้องดูแลทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเราโดยเฉพาะพนักงานที่เป็นหลักในการขับเคลื่อนองค์กร” ยุทธเดช กล่าวทิ้งท้าย