"สปสช. - กทม." ดึงคลินิก ร่วม "บัตรทอง" เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ
สปสช.เขต 13 - กรุงเทพมหานคร ตั้งเป้าดึง คลินิกเวชกรรม ร่วมให้บริการในระบบบัตรทอง หวังขยายจำนวนหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ กทม. ให้มากขึ้นหลังตัวเลขชี้ชัด "สิทธิบัตรทอง" ใน กทม.เข้าถึงบริการสุขภาพน้อยกว่าต่างจังหวัดครึ่งต่อครึ่ง
ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 กทม. เปิดเผยว่า จากสถิติการเข้ารับบริการของผู้ใช้ สิทธิบัตรทอง ในพื้นที่ กทม. ในปีที่ผ่านมา พบว่า มีอัตราการเข้ารับบริการเฉลี่ยอยู่ที่ 1.7 ครั้ง/คน/ปี ซึ่งเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศซึ่งอยู่ที่ 3.4 ครั้ง/คน/ปีแล้ว เท่ากับว่าผู้ใช้ สิทธิบัตรทอง ใน กทม. เข้าถึงบริการสุขภาพเพียงครึ่งเดียวของค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ
ทพ.วิรัตน์ กล่าวว่า สาเหตุที่อัตราการเข้าถึงบริการใน กทม.ต่ำ มีปัจจัยหลายประการ ประการแรกคือหน่วยบริการไม่เพียงพอ และประการต่อมาคือหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. ยังมีการกระจายตัวไม่ทั่วถึง ส่วนใหญ่เป็นคลินิกที่กระจายตัวอยู่ตามถนนสายเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนอาจไม่สะดวกไปรับบริการ
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว สปสช. ได้เชิญชวนคลินิกเวชกรรมในพื้นที่ต่างๆ สมัครเข้ามาขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านกับ สปสช. ซึ่งคลินิกเหล่านี้อาจเป็นแพทย์ที่ทำงานประจำในโรงพยาบาลแล้วมาเปิดคลินิกหลังเลิกงานในช่วงเย็น-ค่ำ เพื่อเพิ่มช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงแพทย์ได้มากขึ้น อีกทั้งเวลาที่คลินิกเหล่านี้เปิดทำการก็เป็นเวลาที่ประชาชนส่วนมากสะดวกไปรับบริการอีกด้วย
สมัครเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อ
สำหรับ ขั้นตอนการสมัครเข้าเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้าน สามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ เว็บไซต์สปสช. ซึ่งในเว็บไซต์จะระบุว่าเอกสารประกอบการขึ้นทะเบียนมีอะไรบ้าง
หลังจากขึ้นทะเบียนแล้ว เมื่อผู้ใช้สิทธิบัตรทองมารับบริการ สปสช.จะเป็นผู้จ่ายค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้คลินิกในลักษณะจ่ายตามรายการ (Fee schedule) ขณะนี้มีการจัดทำลิสต์รายการจ่ายแล้วกว่า 4,000 รายการ ครอบคลุมทั้งค่าบริการทางการแพทย์ ค่ายา ค่าหัตถการ ค่าแลป และค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดบริการทั้งหมด
"ทางคลินิกสามารถบันทึกรายการบริการแล้วส่งมาเบิกเงินกับ สปสช.ได้เลย ส่วนรอบการจ่าย ขณะนี้เราจ่าย 2 สัปดาห์/ครั้ง แต่ในอนาคตอันใกล้นี้เราตั้งเป้าว่าจะลดเวลาให้เหลือ 3 วัน/ครั้ง” ทพ.วิรัตน์ กล่าว
ทพ.วิรัตน์ กล่าวต่อไปว่า หากสามารถเพิ่มจำนวนหน่วยบริการและมีการกระจายตัวลงไปใกล้ชุมชนมากขึ้น จะทำให้ประชาชนไปรับบริการได้อย่างสะดวก ข้อสำคัญคือสามารถเข้าถึงบริการนอกเวลาราชการได้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเพิ่มอัตราการเข้าถึงบริการของผู้ใช้สิทธิบัตรทองใน กทม. นั่นเอง
3 รูปแบบ หน่วยบริการในพื้นที่
ด้าน พญ.ดวงพร ปิณจีเสคิกุล รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หน่วยบริการในพื้นที่ กทม. มี 3 รูปแบบ
- แบบแรกคือหน่วยบริการปฐมภูมิซึ่งเป็นหน่วยบริการที่ใกล้ชิดประชาชนที่สุด ถ้าเป็นต่างจังหวัด ก็คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ถ้าเป็นใน กทม. คือศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. และคลินิกชุมชนอบอุ่นที่อยู่ในเครือข่ายของ สปสช.
- ส่วนอีกสองรูปแบบคือหน่วยบริการในระดับของทุติยภูมิและตติยภูมิ หรือโรงพยาบาลที่ให้การรักษาทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วย
“ปัจจุบันพื้นที่ กทม. มีศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง คลินิกชุมชนอบอุ่น หน่วยบริการภาครัฐ รวมถึงคลินิกเวชกรรม อีก 270 แห่ง ถือว่ายังน้อย เพราะหากจะให้บริการได้อย่างทั่วถึงจะต้องมีหน่วยบริการปฐมภูมิกว่า 700 แห่ง ดังนั้น หากมีคลินิกเวชกรรมเข้ามาร่วมให้บริการ ก็จะเกิดประโยชน์กับประชาชนเป็นอย่างมาก ประชาชนจะสามารถเข้าถึงการรักษาขั้นพื้นฐานได้โดยง่าย ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปโรงพยาบาล ไม่ต้องเสียเวลารอคอย"
"ส่วนคลินิกก็จะมีจำนวนคนไข้ไปรับบริการมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่มีแต่ผู้ป่วยประกันสังคมหรือกลุ่มที่จ่ายเงินเอง ก็จะมีสิทธิบัตรทองเพิ่มขึ้นมาอีก ยิ่งหากคลินิกเวชกรรมสมัครเข้าร่วมเยอะๆ การทำงานก็จะเป็นลักษณะเป็นเครือข่ายร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุขและคลินิกชุมชนอบอุ่น ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น” พญ.ดวงพร กล่าว
ทั้งนี้ คลินิกที่สนใจ ดูรายละเอียดการสมัครได้ที่เว็บไซต์ สปสช. หรือไปที่ลิงค์
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือ คลิก และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ