คนไทยช่วงกลุ่มอายุสุดท้าย เตรียมรับ "วัคซีนโควิด-19" ไฟเซอร์ฝาสีแดง
ประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรก ปลายก.พ.2564 ถึงปัจจุบันได้รับ 2 เข็มแล้วกว่า 50 ล้านคน รับการกระตุ้น 30 กว่าล้านคน ล่าสุด จัดหาครอบคลุมเด็ก 6 เดือน-ต่ำกว่า 5 ปี ช่วงกลุ่มอายุสุดท้ายที่จะมีวัคซีนรองรับ ส่วนปีหน้ารอคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันพิจารณา
เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า การจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ ฝาสีแดง จำนวน 3 ล้านโดส สำหรับฉีดเด็กอายุ 6 เดือนถึงอายุน้อยกว่า 5 ปี ซึ่งกรมควบคุมโรค เตรียมลงนามสัญญากับบริษัท ไฟเซอร์ประเทศไทย และอินโดไชน่า หลังจากที่ครม.เห็นชอบให้ปรับเปลี่ยนสัญญการจัดซื้อมาเป็นวัคซีนที่ครอบคลุมช่วงอายุนี้ บริษัทจะเริ่มทยอยส่งมอบให้ประเทศไทยได้ตั้งแต่เดือนต.ค. 2565 เป็นต้นไป ซึ่งนับว่าเร็วเป็นพิเศษเนื่องจากกรมควบคุมโรค มีสัญญาการสั่งซื้อที่ได้รับการอนุมัติจากครม.อยู่แล้ว เพียงแต่เพิ่มชนิดของวัคซีนที่มีการผลิตเพื่อฉีดเด็กอายุ 6 เดือนถึงอายุน้อยกว่า 5 ปีโดยเฉพาะ
"จากการจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ฝาแดงให้เด็กอายุ 6 เดือนขจนถึงต่ำกว่า 5 ปี ทำให้ทุกช่วงอายุของประชากรไทยมีวัคซีนครอบคลุมทั้งหมดแล้ว ซึ่งวัคซีนที่จัดซื้อจัดหา ก็เพื่อให้ประชาชนฉีด หากไม่ฉีดก็จะหาว่าซื้อมาเกิน จริงๆซื้อไม่เกิน ซื้อมาครบ และเผื่อเหลือเผื่อขาด”นายอนุทินกล่าว
ขณะที่ ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะเเพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความจำเป็นการในรับวัคซีนโควิด-19 ของเด็กเล็กวัย 6 เดือน ถึงต่ำกว่า 5 ปี เพื่อป้องอาการรุนแรง รวมถึงภาวะการเกิด MIS-C คือ กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบที่เป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหลังเด็กหายจากการติดโควิด-19 เริ่มมีอาการได้ตั้งแต่ระยะหายจากโรคจนถึงหลังติดเชื้อ 2 – 6 สัปดาห์
“สาเหตุเชื่อว่าเกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสนี้มากเกินไป ทั้งนี้ตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด -19 พบว่า เด็กมีโอกาสเกิด MIS-C ประมาณ 1 ใน 10,000 คน อาการมีตั้งแต่ เด็กมีอาการไข้สูงจนชัก หรือภาวะท้องเสียอย่างรุนแรง ดังนั้นการรับวัคซีนป้องกันจึงเป็นการลดความรุนแรงและป้องกันที่ดีที่สุด เพราะหากเกิดภาวะ MIS-C ในเด็กเล็ก แม้แพทย์มีความเชี่ยวชาญ แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้”ศ.พญ.กุลกัญญากล่าว
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัคซีน 3 ล้านโดส จะฉีดให้เด็กจำนวน 1 ล้านคน แต่มีการคาดการณ์ว่า น่าจะประสงค์ฉีดอยู่ที่ประมาณ 40-50% จากข้อมูลการขึ้นทะเบียนจะฉีดให้ 3 เข็ม โดยเข็มที่ 1 ทิ้งห่างจากเข็มที่ 2 ประมาณ 3 สัปดาห์ และฉีดเข็มที่ 3 ห่างจากเข็ม 2 ราว 5 เดือน ดังนั้น จะฉีดครบ 3 เข็มในเวลา 6 เดือน โดยการฉีด จะมุ่งในโรงพยาบาลเป็นหลัก เนื่องจากเด็กอายุ 6 เดือนจะต้องฉีดวัคซีนพื้นฐานอยู่แล้ว อย่างเช่น คอตีบ ไอกรน จะมีคลินิกเด็กสุขภาพดี เมื่อผู้ปกครองนำเด็กมาฉีดจะสอบถามว่า ประสงค์ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ป้องกันโควิด-19ด้วยหรือไม่ ทุกอย่างจะเป็นไปตามความสมัครใจ
การจัดหาวัคซีนโควิด-19 สำหรับกลุ่มอาย 6 เดือน-ต่ำกว่า 5 ปีนับเป็นช่วงอายุสุดท้ายที่มีวัคซีนรองรับ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีวัคซีนครอบคลุมทุกช่วงวัย ทั้งนี้ การให้วัคซีนตั้งแต่ 28 ก.พ.2564-6ก.ย.2565 จำนวนการได้รับวัคซีนสะสม (28 ก.พ. 2564 - 6 ก.ย. 2565)รวม 142,911,652 โดส ผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 57,273,937 ราย ผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 53,748,841 ราย และผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 31,888,874 ราย
อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มคนทั่วไปการได้รับเข็มกระตุ้นมีความสำคัญ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า คณะทำงานศูนย์ประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลวัคซีน กรมควบคุมโรค ร่วมกับคณะทำงานวิชาการ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (EOC สธ.)ได้ติดตามประเมินประสิทธิผลวัคซีนโควิด 19 จากการใช้จริงในประเทศไทย
ผลของการใช้จริงช่วงเดือนพ.ค. – ก.ค.2565 ที่เป็นการระบาดของ “โอมิครอน” สายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 พบว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะเพิ่มประสิทธิผลในการป้องกันการป่วยรุนแรง คือ อาการปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจ จาก 60% ในผู้ที่ได้รับครบ 2 เข็ม เป็น 83% และ 100% ในผู้ที่ได้รับครบ 3 เข็มและ 4 เข็มตามลำดับ
ป้องกันการเสียชีวิตจาก 72% ในผู้ที่ได้รับครบ 2 เข็ม เป็น 93% และ 100% ในผู้ที่ได้รับครบ 3 เข็มและ 4 เข็มตามลำดับ สำหรับกลุ่มสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ป้องกันปอดอักเสบใส่ท่อช่วยหายใจในผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 3 เข็มได้ 80% ต่ำกว่ากลุ่มอายุ 18-59 ปี ที่ป้องกันได้ 89% แต่จะเพิ่มเป็น 100% เมื่อได้รับครบ 4 เข็มทั้งสองกลุ่มอายุ โดยการฉีดวัคซีนกระตุ้น 3 เข็มขึ้นไป จะมีประสิทธิผลในการป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตในระดับสูงกว่า 80% ได้นานถึง 6 เดือน
ดังนั้น เชิญชวนประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน ให้มาฉีดเข็มกระตุ้น เพราะเมื่อฉีดวัคซีนไปสักระยะหนึ่ง ภูมิคุ้มกันจะลดลงตามธรรมชาติ การฉีดเข็มกระตุ้นจะเป็นปัจจัยสำคัญช่วยลดการป่วยอาการหนักและเสียชีวิตได้ ดังนั้น หากฉีดเข็มล่าสุดมากกว่า 3-4 เดือนขึ้นไป สามารถไปฉีดเข็มกระตุ้นได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน
สำหรับการให้วัคซีนโควิด-19ในปี 2566 นายอนุทิน กล่าวว่า เมื่อโควิด-19 เปลี่ยนจากโรคติต่ออันตรายเป็นโรคเฝ้าระวังตั้งแต่ 1 ต.ค.2565 แปลว่าสามารถคุมโรคได้ คนมีภูมิคุ้มกันระดับหนึ่ง การเสริมภูมิฯไปเรื่อยๆ อย่างกรณี ไข้หวัดใหญ่ก็ให้คนกลุ่มเสี่ยงมารับวัคซีน ซึ่งวัคซีนโควิด-19 ในปีหน้า กรมควบคุมโรคจะต้องหารือกับคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภุมิคุ้มกัน หากบอกว่าฉีดก็ควรฉีด รัฐบาลยังพร้อมให้การสนับสนุนเรื่องวัคซีน
“คงต้องดูหลังประกาศโควิด-19เป็นโรคเฝ้าระวังแล้ว สถานการณ์คลายลงเป็นโรคหวัดชนิดหนึ่งหรือไม่ รวมถึง อนาคตมีวัคซีนิดรวมสายพันธุ์หรือไม่ ก็ว่าตามสถานการณ์ และอาจจะลดจำนวนผู้จำเป็นฉีดวัคซีนตามความเสี่ยง ตามสถานการณ์ทั่วไป”นายอนุทินกล่าว