รู้จัก อาการชักแบบหัวเราะ "ความผิดปกติ" ที่ไม่ได้มาพร้อมความสุข
"สถาบันประสาทวิทยา" เผย อาการชักแบบหัวเราะพบได้ตั้งแต่กำเนิด ในผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี มีอาการหัวเราะแบบไม่มีเหตุผล เป็นพักๆ เสียงหัวเราะไม่ได้เกิดจากความขบขัน หรือ มีความสุข และอาจจะตามด้วยอาการชักแบบอื่นๆได้ เช่น เหม่อไม่รู้ต้ว เกร็งกระตุกทั้งตัว
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า อาการชักแบบหัวเราะ หรือ Gelastic seizure เป็นอาการชักชนิดหนึ่ง ซึ่งพบไม่บ่อย เกิดได้ตั้งแต่เด็ก มักจะเกิดจาก ความผิดปกติ แต่กำเนิดของสมองส่วนไฮโปธาลามัส ลักษณะคล้ายเนื้องอก เรียกว่า hypothalamic harmatoma
อุบัติการณ์ของอาการชักแบบหัวเราะที่เกิดจาก Hypothalamic harmatoma ในการศึกษาต่างประเทศ พบประมาณ 1 ต่อ 2 แสนในประชากรอายุน้อยกว่า 20 ปี อาการชัก มักจะเริ่มในขวบปีแรก แต่บางรายอาจจะเริ่มอาการในช่วงเด็กโตได้ ลักษณะคือ หัวเราะแบบไม่มีเหตุผล เป็นพักๆ
เสียงหัวเราะไม่ได้เกิดจากความขบขัน หรือ มีความสุข ในเด็กโตบางครั้งอาจจะสามารถบอกว่ามีสัญญาณเตือนก่อนมีอาการหัวเราะได้ เช่น ความรู้สึกแปลกๆ เป็นต้น อาการชักแบบหัวเราะ มักจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ประมาณ 30-45 วินาที และอาจจะตามด้วยอาการชักแบบอื่นๆได้ เช่น เหม่อไม่รู้ต้ว เกร็งกระตุกทั้งตัว เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม อาการชักแบบหัวเราะ ยังอาจจะพบเกิดจากพยาธิสภาพส่วนอื่นๆ นอกเหนือจากไฮโปธาลามัสได้เช่นกัน ได้แก่ สมองส่วนหน้า ส่วนขมับ เป็นต้น
นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา เปิดเผยว่า เนื่องจากอาการดังกล่าวอาจจะสับสนกับอาการพฤติกรรมผิดปกติ ในเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการ สมาธิสั้น หรือ ออทิสติกร่วมด้วย ทำให้การวินิจฉัยล่าช้าได้ สิ่งที่สำคัญของ
การวินิจฉัย
- การสังเกตอาการของเด็กจากบุคคลใกล้ชิด
- การถ่ายวีดีโออาการดังกล่าวเมื่อมาปรึกษาแพทย์ จะช่วยในการวินิจฉัยได้
- การตรวจวินิจฉัยที่สำคัญ คือ การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง เพื่อวินิจฉัยแยกอาการชักหรือไม่ใช่อาการชัก
- การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และเน้นบริเวณ hypothalamus เพื่อหาความผิดปกติของเนื้อสมองบริเวณไฮโปธาลามัส หรือตำแหน่งอื่นๆที่อธิบายอาการชักได้ชัดเจน
การรักษาอาการชัก
เริ่มต้นด้วยการใช้ยากันชักที่รักษาอาการชักชนิดเฉพาะที่ อย่างไรก็ตาม โรคลมชักที่เกิดจาก hypothalamic harmatoma มักจะคุมชักได้ยากแม้จะใช้ยากันชักหลายชนิด
ดังนั้น การรักษาที่เหมาะสมคือการผ่าตัดเอาเนื้อสมองส่วน harmatoma ออก ซึ่งเป็นการผ่าตัดสมองในส่วนลึกและผ่าตัดยาก ถือเป็นการผ่าตัดที่ซับซ้อน แต่สามารถทำให้โรคลมชักหายขาดได้เมื่อผ่าตัดสำเร็จ นอกจากนี้อาจจะมีการใช้รังสีรักษาเฉพาะที่ แต่ไม่ค่อยพิจารณาทำในเด็ก
ในเด็กที่มี hypothalamic harmatoma อาจพบภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย หรือความผิดปกติของฮอร์โมนอื่นๆร่วมด้วย เนื่องจากความผิดปกติของสมองส่วน hypothalamus จะเกี่ยวข้องกับฮอร์โมน ดังนั้นการรักษาโรคนี้ จึงต้องติดตามภาวะฮอร์โมนที่ผิดปกติร่วมด้วยเสมอ