อาเซียน+1 จับมือพัฒนาวัคซีน สร้างความมั่นคงภูมิภาค
อาเซียน+1 จับมือพัฒนาวัคซีน สร้างความมั่นคงภูมิภาค ส่วนวัคซีนโควิด-19 รุ่น 2 อยู่ระหว่างติดตามข้อมูล เป็นแบบจำเพาะสายพันธุ์ หวั่นเชื้อกลายพันธุ์อีกอาจไม่ได้ผล รุ่นปัจจุบันยังใช้ได้ มีพอถึงปี 66
เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2565 ที่โรงแรมเรเนซองส์ ราชประสงค์ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการแถลงข่าวASEAN Vaccine Network Consultation Meeting on Regional Vaccine Manufacturing Development หัวข้อ: ภาพรวมของการจัดประชุม และโอกาสในการแสวงหาความร่วมมือด้านวัคซีนของอาเซียนในระยะต่อไปว่า ตั้งแต่ปี 2557 สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ผลักดันแนวคิดการยกระดับวัคซีนสู่เวทีสากล จนถึงปี 2562 โดยท่านนายกฯ ในฐานะผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 35 ได้แถลงต่อทุกประเทศว่า ต้องเห็นความสำคัญของวัคซีน และได้มีการประกาศปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยความมั่นคงและการพึ่งตนเองด้านวัคซีน ก่อนจะมีการระบาดโควิด-19
"ประเทศจีนได้สนับสนุนทางด้านวิชาการและงบประมาณ จนเกิดการผลักดันการจัดประชุมนี้ คือ การประชุมอาเซียน+1 ซึ่งเป็นครั้งแรกของการรวมตัวกันของผู้กำหนดนโยบายด้านวัคซีนประเทศต่างๆ และผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่ไทยเป็นแกนนำ และประเทศจีนเป็นหุ้นส่วนสำคัญ โดยวัตถุประสงค์หลักของการประชุมครั้งนี้ก็เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน และสร้างความเป็นหนึ่งเดียว"นายสาธิตกล่าว
นพ. นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศขึ้น ซึ่งความร่วมมือที่ผ่านมามีการทำมาก่อนแล้วตั้งแต่ปฏิญญาอาเซียนฯ ปี 2562 และเมื่อเกิดโควิดก็มีการประชุมหารือผ่านออนไลน์ จนออกมาสู่แผนดำเนินงาน 5 ปี และครั้งนี้จะเป็นการคิกออฟที่ทุกประเทศจะเอาศักยภาพมาวาง และดูว่าจะร่วมมือกันอย่างไร ซึ่งองค์การอนามัยโลก องค์การยูนิเซฟ รวมทั้งจีน ก็จะเอาเทคโนโลยีมาช่วยและร่วมมือกัน เนื่องจากความมั่นคงทางด้านวัคซีนเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้มีวัคซีนใช้อย่างเพียงพอ และใช้ยามฉุกเฉิน จากสถานการณ์โควิด-19 แม้จะผ่านช่วงต่างๆ จนมาถึงการผ่อนคลายแล้ว แต่อาจเจอโรคอุบัติใหม่อื่นๆได้อีก จึงต้องมีการเตรียมความพร้อม และความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ
นพ.นคร กล่าวอีกว่า การจัดหาวัคซีนโควิด-19รุ่น2 อยู่ระหว่างการติดตามข้อมูล ซึ่งวัคซีนที่ใช้อยู่ปัจจุบันยังใช้ได้ และวัคซีนรุ่น 2 เพิ่งจะออกมาก็ต้องติดตามต่อไป เพราะหากใช้วัคซีนที่จำเพาะต่อสายพันธุ์ ก็ยิ่งต้องพิจารณา หากไวรัสกลายพันธุ์อีก แล้ววัคซีนที่จำเพาะจะใช้ได้หรือไม่ ต้องรวบรวมข้อมูล และใช้ความรู้วิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม จำนวนวัคซีนยังมีพอใช้ถึงปี 2566
"วัคซีนกระตุ้นสำคัญมาก สามารถป้องกันการป่วยหนักได้ ไม่ต้องรอวัคซีนชนิดใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่ม 608 ต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 4 เข็ม และจะขับเคลื่อนในปีหน้าอย่างต่อเนื่อง"นพ.นครกล่าว