ความจริงที่ถูกต้อง โควิดโอมิครอน “BA.2.75.2” ที่พบในไทย
กรมวิทย์อธิบาย โควิดโอมิครอน “BA.2.75.2” ไม่ต้องตื่นตระหนก 2 สัปดาห์ทั่วโลกพบ BA.2.75เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ระบุ BA.5 ยังเป็นสายพันธุ์หลักในไทยและทั่วโลก ขอให้รับรู้ข้อมูลแบบมีสติ ยันไทยรายงานโปร่งใส
เมื่อวันที่14 ก.ย.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ภาพรวมจากการเฝ้าระวังสายพันธุ์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตรวจเชื้อเบื้องต้นไปทั้งหมด 359 ราย ทั้งที่เดินทางเข้ามา และตรวจพบในประเทศ เป็นBA.4 /BA.5 จำนวน 333 ราย BA.2.75 จำนวน 5 ราย และBA.2 จำนวน 20 ราย และB.1.1.529 จำนวน 1 ราย
ภาพรวมของประเทศไทย 93% เป็น BA.4 /BA.5 , 5.6 % เป็นBA.2 และ 1.4 % เป็น BA.2.75 โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่า 92% เป็น BA.4 /BA.5 ส่วนภูมิภาคพบประมาณ 94% เ
จากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว จำนวน 803 ราย พบว่า BA.5 จำนวน 688 ราย หรือประมาณ 85% ของจำนวนทั้งหมด BA.4 จำนวน 106 ราย และBA.2.75 มีจำนวน 9 ราย ซึ่งข้อมูลสอดคล้องกับโลกที่ BA.5 พบมากขึ้น
สำหรับข้อมูลการเฝ้าระวังสายพันธุ์ BA.2.75 และลูกหลานที่เป็นสายพันธุ์ย่อย เนื่องจากไวรัสกลายพันธุ์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตลอด แต่สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจับตาคือตำแหน่งต่างๆที่กลายพันธุ์ จะส่งผลต่อการแพร่ระบาด ความรุนแรง การหลบวัคซีนมากขึ้นหรือไม่ ในส่วนของ BA.2.75.2 ที่มีการเปลี่บนแปลงในตำแหน่ง R346T และ F486S โดยข้อมูลใน GISAID ที่ระบุว่าพบ BA.2.75 จำนวน 9 รายในประเทศไทยนั้น ก็เป็นข้อมูลที่กรมรายงานเข้าไป โดยมีจำนวน 9 ราย เป็น BA.2.75 จำนวน 6 ราย BA.2.75.1 จำนวน 1 ราย BA.2.75.2 จำนวน 1 ราย และ BA.2.75.3 จำนวน 1 ราย ทั้งหมดไม่ได้มีปัญหาอะไร ไม่มีอาการอะไรมาก ส่วนใหญ่หายและออกจากรพ.แล้ว
จากการที่องค์การอนามัยโลก(WHO)เฝ้าจับตาสายพันธุ์โควิด โดยข้อมูลล่าสุดเมื่อสิ้นเดือนส.ค. 2565 เทียบ 2 สัปดาห์(ระหว่างวันที่ 15-21 ส.ค. กับ 22-28 ส.ค.) พบว่า BA.5 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 84.8% เป็น 86.8% ซึ่งคล้ายๆประเทศไทย ส่วน BA.4 สัดส่วนจาก 6.8% ลดลงเหลือ 4.2% BA.2 จาก 2.6% เป็น 2.5% ขณะที่ BA.2.75 จาก 0.9% เป็น 1.2% ขึ้นมาเล็กน้อย
นพ.ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า ส่วนที่มีคนนำข้อมูลบางส่วน เช่น อำนาจการเพิ่มจำนวนของ BA.2.75 เทียบกับ BA.5 ถึง 114% เพิ่มขึ้นเท่าเศษๆ คนจึงกังวลว่า เร็วขึ้นอีกหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริง เป็นข้อมูลจากโมเดลลิ่ง จากการสันนิษฐาน แต่ของจริงต้องพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ ก็ต้องดูสัดส่วนในสถานการณ์จริง ซึ่งต้องมีการจับตาและเฝ้าระวัง ขอให้เชื่อมั่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ร่วมกับเครือข่ายการตรวจสายพันธุ์ทั่วโลก ทำการเฝ้าระวังและส่งรายงานในระบบ GISAID อย่างสม่ำเสมอ หากอันไหนมีสัญญาณจากนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกว่า ต้องดูตรงไหนเป็นพิเศษ ก็จับตาดู และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถตรวจจับได้ ไม่ได้ช้า ไม่ได้มีปัญหา ไม่ต้องกังวล
"ขณะนี้ในประเทศไทยสายพันธุ์หลักยังเป็น BA.5 พบสัดส่วน 85% ส่วน BA.4 พบ 13% ส่วนBA.2.75 รวมถึงสายพันธุ์ย่อยเพียง 1% อาจจะบางคนโพสต์ข้อมูลหวือหวา ทำให้ตื่นตระหนก ก็ขอให้ผู้อ่านตั้งสติ อย่าตื่นตระหนก และบางทีนำข้อมูลบางส่วนมาบอก ไม่ใช่ข้อมูลทั้งหมด มาตรการของประเทศไทย ใครยังไม่ฉีดวัคซีนกระตุ้นให้มาฉีด มาตรการป้องกันที่ปฏิบัติอยู่ยังใช้ในการป้องกันได้ ส่วนกรมวิทย์จะทำหน้าที่ในการเฝ้าระวังเต็มที่ และถ้าจำเป็นต้องแจ้งประชาชน ก็จะแจ้งทันที ไม่มีปกปิด”นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า ยังมีข้อมูลที่พูดกันถึง BJ.1 ก็คือ สายพันธุ์ BA.2.10.1 ซึ่งไม่ใช่พันธุ์ใหม่ แต่ยังเป็น BA.2 แต่เป็นลูกหลานที่งอกออกมา เพียงแต่มีการรวบชื่อเรียกให้สั้นลงเท่านั้น และยังเมีตัวอื่นๆอีก ซึ่งบางอันไม่มีปัญหาก็จบ สงบหายไป แต่เราก็มีระบบเฝ้าดู