ถอดบทเรียน 3 ปี โควิด-19 สู่พัฒนาระบบสุขภาพยั่งยืน
เกือบ 3 ปีที่ทั่วโลกเผชิญการระบาดของโรค โควิด-19 ประเทศไทย มีการถอดบทเรียน เพื่อนำมาสู่การพัฒนาระบบสุขภาพที่ยั่งยืนและโอกาสทางเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด ทั้งเมดิคัลฮับ และเงินบำรุงรพ.ที่มีมากถึง 1แสนล้านบาท
ในการประเมินและจัดอันดับ“ดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพ” (Global Health Security Index: GHS) ประจำปี 2021 โดยได้ทำการประเมินความมั่นคงทางสุขภาพและศักยภาพ195 ประเทศ ในการเตรียมพร้อมรับมือกับการเกิดโรคระบาด (epidemics) และการระบาดใหญ่ (pandemics) ผ่านทั้งหมด 37 ตัวชี้วัดใน 6 หมวดหมู่ของการมีความมั่นคงทางสุขภาพ ได้แก่1. Prevention – การป้องกันการเกิดขึ้นหรือการรั่วไหลของเชื้อโรค
2. Detection and Reporting – การตรวจคัดกรองและการรายงานโรคระบาดที่อาจเป็นปัญหาระหว่างประเทศได้ ตั้งแต่ระยะแรก 3. Rapid Response – การตอบสนองอย่างเร่งด่วน และการบรรเทาผลกระทบของการแพร่กระจายของโรคระบาด 4. Health System – ระบบสุขภาพที่ศักยภาพเพียงพอและเข้มแข็ง ในการรักษาผู้ป่วย และปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ 5. Compliance with International Norms – ความมุ่งมั่นในการพัฒนา ขีดความสามารถของประเทศ มีแผนการจัดหาเงินทุนเพื่ออุดช่องว่าง และดำเนินงานตามบรรทัดฐานระดับโลก และ6. Risk Environment – สภาพแวดล้อมความเสี่ยงโดยรวมและความเปราะบางของประเทศ ต่อภัยคุกคามทางชีวภาพ
จากคะแนนเต็ม 100 ไม่มีประเทศใดเลยที่ทำคะแนนถึงในระดับสูงสุด หรือมากกว่า 80 คะแนน สำหรับประเทศไทย ได้คะแนนรวมความมั่นคงทางสุขภาพที่ 68.2 คะแนน เป็นคะแนนสูงสุดเป็นอันดับที่ 5 ของโลก โดยประเทศที่ได้คะแนนสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ฟินแลนด์ แคนาดา ไทย สโลวาเนีย สหราชอาณาจักร เยอรมนี เกาหลีใต้ และสวีเดน
และ ไทยยังเป็นอันดับที่ 1 ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มประเทศที่มีประชากร 50 - 100 ล้านคน และกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง และไทยยังได้คะแนนในหมวดหมู่ “การตรวจคัดกรองและการรายงานโรคระบาด” เป็นอันดับที่ 1 ของโลกด้วย
ระหว่างการเป็นประธานเปิดมหกรรมจัดการความรู้จากบทเรียนโควิด-19 และการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2565 “การพัฒนาระบบสุขภาพที่ยั่งยืน หลังวิกฤตการณ์โควิด -19”ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ ฉลองศิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อเร็วๆๆนี้ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ตั้งแต่ 1 ต.ค.2565 โควิด-19 ถูกลดระดับจากโรคติดต่ออันตรายมาเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งโลกอาจเกลียดโควิดในฐานะโรคติดต่อ แต่โควิดก็ให้โอกาสหลายอย่าง โควิดทำให้พื้นฐานระบบสาธารณสุขแข็งแกร่งขึ้น
"ไทยได้รับการยอมรับในเวทีโลกเรื่องระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง สร้างความเชื่อมั่นให้ต่างชาติ เมื่อใดที่โลกพูดคำว่า ประเทศที่มีระบบสุขภาพที่เข้มแข็ง เมื่อนั้นต้องมีคำว่าไทยแลนด์อยู่ตรงนั้น"อนุทินกล่าว
ส่งผลต่อโครงการเมดิคัล ฮับ ทำให้ต่างชาติ อยากจะมาประเทศไทยเพื่อตรวจสุขภาพหรือ รักษาตัว แม้ส่วนใหญ่อยู่ในระบบ รพ.เอกชน แต่ต้นตอก็มาจากชาวสาธารณสุข ที่ทำให้ระบบสาธารณสุขดี รพ.เอกชนก็ไปดูแลรักษาเอาเงินจากคนที่มีฐานะจากต่างประเทศเข้ามา ทำให้ระบบสาธารณสุขของรัฐได้ดูแลคนไทยที่จำเป็นต้องใช้บริการได้อย่างเต็มที่
ทั้งนี้ ภูเก็ตกำลังจะพัฒนาเป็นเมดิคัลฮับฝั่งอันดามัน ซึ่งสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลาก็เป็นเมดิคัลฮับฝั่งอ่าวไทยได้ เพราะการสร้างรพ.รองรับก็ได้ไม่กี่เตียง ขณะที่ทั่วโลกมีประชากรเป็นหลายพันล้านคน ในจำนวนนี้เป็นคนมีฐานะราว 500 ล้านคน หากสามารถดึงมาใช้บริการเมดิคัลฮับในไทยได้ ประเทศก็จะมีรายได้มากขึ้น
ช่วงโควิด รัฐบาลจัดสรรงบประมาณจำนวนมากเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ทำให้การดูแลสุขภาพประชาชนใน รพ.ทุกแห่งเป็นไปด้วยดี และสามารถแก้ไขปัญหาเงินบำรุง รพ.จากที่เคยอยู่ในระดับวิกฤติ กลายเป็นไม่มีภาวะขาดแคลน จากเดิมเงินบำรุง 3 หมื่นล้านบาท และอยู่ใน รพ.ใหญ่ๆ ก็เพิ่มมาเกือบ 1 แสนล้านบาทและกระจายทั่วทุกทั้งรพ.ใหญ่น้อยทั่วประเทศ ทำให้เกิดความคล่องตัว เมื่อประเทศที่ต้องฟื้นตัว หากมีปัญหาการจัดสรรงบประมาณบ้าง ก็มีเงินบำรุง รพ.ไปดูแลประชาชน เพิ่มศักยภาพ รพ. ดูแลบุคลากรในสังกัดตนเอง ก็ให้นโยบายชัดเจนว่าเงินพวกนี้ฝากไว้เฉยๆ ไม่ได้ ต้องเอาไปหมุนไปใช้ จะได้ร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ถ้าใช้ในระบบอยู่ในประเทศไทย ก็เกิดประโยชน์
"ถ้าหมุนเงินเหล่านี้ลงไปในรูปของสินทรัพย์ การพัฒนาบุคลากร ถือเป็นการลงทุนที่จะได้กลับมาเป็นดอกผลต่อระบบสาธารณสุข อย่าไปคิดว่าเป็นค่าใช้จ่าย หากเก็บเป็นเงินสด ก็มีภาวะเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อหรือปัญหาต่างๆ ขอให้วางแผนบริหารเงินให้ดี รพ.ไหนที่มีเงินมากต้องการช่วย รพ.ที่ต้องการใช้เงินก็ทำได้ อาจเป็นรูปแบบการกู้ยืมหรือเงินหมุน โดยมีองค์กรกลางคอยกำกับ หรือใช้เพื่อจ้างแพทย์เกษียณมาดูแลประชาชน เป็นต้น ถือเป็นการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ จะหมุนเงินได้ถึง 7 รอบ หมายความเงิน 1 แสนล้านบาท จะใช้จ่ายได้ถึง 7 แสนล้านบาท "อนุทินกล่าว
ทั้งนี้ ในงานประชุมวิชาการสธ. ระดับพื้นที่ที่ปฏิบัติงานจริง มีการศึกษาวิจัยจากกรณีโควิด ซึ่งอาจนำสู่การพัฒนาระบบสาธารณสุขไทย
อย่างเช่น เรื่อง " โครงการพัฒนาโปรแกรมการส่งยาถึงบ้านภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ระบาดลดแออัด New Normal คลินิกพิเศษผู้ป่วยนอกอายุรกรรม โรงพยาบาลมหาสารคาม" ซึ่งในช่วงโควิด-19 ระบาดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ คลินิกพิเศษผู้ป่วยนอกอายุรกรรมจึงมีการปรับระบบบริการ แต่ยังให้ผู้รับบริการเข้าถึงการรักษาโดยจัดโครงการพัฒนาโปรแกรมการส่งยาถึงบ้าน
ผลของโครงการพบว่าระยะเวลารอคอยจากเดิม 95 นาทีลดลงเหลือ 45 นาทีความพึงพอใจของผู้รับบริการ คลินิกหอบหืดผู้ใหญ่ 92.8 7 % คลินิกHEMATO 91.23% คลินิกNuero Med 94.23% คลินิกแพ้ภูมิตัวเอง 93.25% และความพึงพอใจของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน 100% จากยอดผู้ป่วยทั้งหมดจำนวน 3,551 ราย ยอดส่งยาถึงบ้านจำนวน 740 ราย ไม่มีข้อร้องเรียนของผู้รับบริการ
เรื่อง "บทเรียนการจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉินในกรณีโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ อุบัติซ้ำร้ายแรง :กรณึศึกษา COVID-19" ซึ่งได้สรุปบทเรียนการจัดระบบด้านการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อเตรียมความพร้อมและตอบสนองสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน(สพฉ.) ต้องเตรียมแนวทางปฏิบัติและตอบสนองระบบที่รวดเร็ว โดยพุ่งเป้าความสำคัญกับทุนเดิมของทรัพยากรในระบบการแพทย์ฉุกเฉินเป็นสำคัญ และทำให้ทุกพื้นที่มีทิศทางการปฏิบัติการเดียวกัน
นอกจากนั้น ควรถอดบทเรียนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับ ชุดปฏิบัติการพิเศษ(SCOT TEAM) ที่สามารถนำมาปฏิบัติในช่วงเกิดสาธารณะภัยอีกทั้งควรต้องพัฒนาการเฝ้าระวังและการรายงานข้อมูลเพื่อนำสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายที่สำคัญควรมีหน่วยสื่อสารและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ภารกิจและความรู้ที่เกี่ยวข้องให้แก่ผู้ปฏิบัติการและประชาชนด้วย
หากนำการถอดบทเรียนจากระดับพื้นที่มาเชื่อมต่อถึงระดับนโยบาย แน่นอนย่อมทำให้ระบบสาธารณสุขเข้มแข็งและแข็งแกร่งมากขึ้นอย่างยั่งยืน ในช่วงหลังผ่านโควิด-19