ผลสำรวจ "สิทธิบัตรทอง" ปี 65 พบ ปชช.-หน่วยบริการ-ภาคีฯ พึงพอใจเพิ่มขึ้น
บอร์ด สปสช. รับทราบผลสำรวจความเห็นของ ประชาชน-หน่วยบริการ-ภาคีเครือข่าย ต่อระบบ "บัตรทอง" ปี 2565 พบ มีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานของ สปสช. และระบบบัตรทองเพิ่มขึ้น ผลจากการพัฒนาระบบ ย้ายหน่วยบริการได้สิทธิทันที-ผู้ป่วยในไม่ต้องใช้ใบส่งตัว-มะเร็งรักษาทุกที่
ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 9/2565 เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2565 โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน มีมติรับทราบผลสำรวจความเห็นของประชาชน ผู้ให้บริการและองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้องต่อการดำเนินงานใน ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยพบว่า ความพึงพอใจของประชาชนอยู่ที่ 97.69% ส่วนของภาคีเครือข่ายและภาคประชาชน 97.62% และหน่วยบริการอยู่ที่ 86.19%
สำหรับสิ่งที่ยังไม่พึงพอใจ ด้านประชาชนและองค์กรภาคีเครือข่าย ต้องการให้สามารถไปรักษาที่หน่วยบริการได้ทุกที่ เพิ่มสิทธิการรักษาให้ครอบคลุมทุกโรค และสร้างการรับรู้ในหน่วยงานมากยิ่งขึ้น เพิ่มเติมการส่งเสริมและดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งขยายบริการให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่
ในส่วนของผู้ให้บริการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นเรื่องปรับปรุงช่องทางประสานงาน เพราะ สายด่วน 1330 ตอบคำถามได้ไม่ชัดเจน และกำหนดหลักเกณฑ์งบประมาณและการจ่ายเงินที่ชัดเจน เนื่องจากการปรับเปลี่ยนบ่อยทำให้เกิดความสับสน รวมถึงสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบบริการที่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ ตลอดจนระบบบันทึกข้อมูลการเบิกจ่ายที่มีความเสถียรมากยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน ได้มีข้อเสนอต่อการดำเนินงานของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดังนี้
1. พัฒนาระบบสนับสนุนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น ระบบตรวจสอบสิทธิสำหรับประชาชน ฯลฯ
2. ปรับปรุงและยกระดับระบบ รวมถึงช่องทางการสนับสนุนหน่วยบริการ สำหรับการส่งข้อมูลเพื่อขอรับการชดเชย
3. พัฒนาระบบสนับสนุน ช่องทางประสานงาน อีกทั้งบริการด้านข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็ว ชัดเจน และถูกต้อง
4. พัฒนาเพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของกลุ่มองค์กภาคีมากขึ้น
นอกจากนี้ยังได้มีข้อเสนอต่อการระบบบริการของสิทธิบัตรทองด้วยเช่นกัน อาทิ สนับสนุนและส่งเสริมเพื่อลดความแออัดในการเข้ารับบริการในสถานพยาบาลและระบบช่วยนัดหมาย ทบทวนระเบียบ กฎเกณฑ์ และงบประมาณ ขยายขอบเขตสิทธิประโยชน์เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ฯลฯ
พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากผลสำรวจในปี 2564-2565 นี้ไม่ว่าจะเป็นฝั่งของประชาชน หน่วยบริการ หรือภาคีเครือข่าย ต่างมีความพึงพอใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาระบบบริการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สังเกตได้จากประเด็นความพึงพอใจจากผลสำรวจ เช่น การลงทะเบียนสิทธิย้ายหน่วยบริการได้สิทธิทันที นโยบายผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว มะเร็งรักษาที่ไหนก็ได้ การเพิ่มสิทธิประโยชน์ที่ผู้รับบริการจะได้รับ ฯลฯ
พญ.ลลิตยา กล่าวต่อไปว่า กระบวนการสำรวจความเห็นนี้เป็นสิ่งที่ทาง สปสช. ทำมาตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งแต่ละปีการได้เสียงสะท้อนกลับมา ทำให้รู้ว่าการดำเนินงาน นโยบาย และระบบบริการของ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน และควรที่จะปรับปรุงในส่วนไหนเพิ่มเติม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเพื่อมุ่งสร้างระบบบริการที่ตอบโจทย์ให้กับทั้งประชาชน ผู้ให้บริการ และองค์กรภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ