เยี่ยมร้านยาหน่วยบริการปฐมภูมิ  เพิ่มบริการดูแลโรคทั่วไปคนไข้ฟรี

เยี่ยมร้านยาหน่วยบริการปฐมภูมิ  เพิ่มบริการดูแลโรคทั่วไปคนไข้ฟรี

สปสช. เยี่ยมร้านยาเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ เขตจตุจักร เผยปีงบประมาณ 2566 อัพเกรดบริการในร้านยา เพิ่มความหลากหลายบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพิ่มบริการดูแลและจ่ายยาในกลุ่มโรคทั่วไป ช่วยคนไข้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือเสียเวลาไปโรงพยาบาล

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย ผศ.ทวิดา    กมลเวชช  รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. ดร.ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 13 กรุงเทพมหานคร และ ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรมคนที่ 2 เดินทางเยี่ยมชมการดำเนินงานของร้านยาฟาร์ม่าสโตร์ รัชโยธิน ถ.พหลโยธิน ซอยพหลโยธิน 35 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. ซึ่งเป็นหนึ่งในร้านยาที่สมัครเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่ายของ สปสช.

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ร้านยาที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิของ สปสช. จะมีสัญลักษณ์ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น หรือ ร้านยาให้บริการดูแลอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น” ติดอยู่หน้าร้าน และมีบริการที่มากกว่าร้านยาทั่วไป

เยี่ยมร้านยาหน่วยบริการปฐมภูมิ  เพิ่มบริการดูแลโรคทั่วไปคนไข้ฟรี

โดยมีทั้งการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การให้คำปรึกษาด้านเภสัชกรรม บริการยาและเวชภัณฑ์ ติดตามดูแลอาการโรคเบื้องต้น ตลอดจนบริการด้านยาและเวชภัณฑ์สำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งประชาชนทุกสิทธิสามารถเข้ามารับบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และผู้ใช้สิทธิบัตรทองยังรับบริการรักษาโรคเบื้องต้นและยาและเวชภัณฑ์สำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังฟรีอีกด้วย

 

  • เพิ่มบริการดูแลรักษาผู้ป่วยทั่วไป โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

“เราพบว่าพฤติกรรมของประชาชนหากป่วยไม่มาก มักจะเลือกไปร้านยามากกว่าไปโรงพยาบาล ดังนั้น   ร้านยาจึงมีความสำคัญในฐานะที่เป็นด่านแรกในการให้บริการผู้ป่วย ข้อได้เปรียบอีกประการคือร้านยามักกระจายอยู่ตามชุมชนต่างๆ มีความใกล้ชิดกับประชาชนทั้งระยะทางและความรู้สึกที่คุ้นเคยมากกว่าโรงพยาบาล สปสช. จึงพยายามสร้างเครือข่ายร้านยาชุมชนอบอุ่นให้มีบริการด้านสุขภาพที่หลากหลาย เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ารับบริการสุขภาพเบื้องต้นได้อย่างสะดวก ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปโรงพยาบาล โดยปัจจุบันมีร้านยาที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิมากกว่า 200 แห่งทั่ว กทม.” นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า บริการของร้านยาชุมชนอบอุ่นมีพัฒนาการมาเป็นลำดับ ในระยะแรกมีบริการให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง อาทิ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต ที่ต้องรับยาที่โรงพยาบาลเป็นประจำ สามารถมารับยาที่ร้านยาใกล้บ้านได้โดยไม่ต้องเสียเวลารอคอย  

เยี่ยมร้านยาหน่วยบริการปฐมภูมิ  เพิ่มบริการดูแลโรคทั่วไปคนไข้ฟรี

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก ร้านยาชุมชนอบอุ่น ก็มีบริการแจก ATK แก่ผู้มีความเสี่ยง และต่อมาในสถานการณ์โควิด ยังร่วมดูแลผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียวแบบ Self-Isolation ทั้งการให้ยา การให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวและติดตามอาการ นอกจากนี้ ยังมีบริการแจกยาคุมกำเนิดและถุงยางอนามัย พร้อมทั้งให้คำแนะนำเพื่อป้องกันโรคติดต่อหรือติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อีกด้วย

 

  • สปสช.เพิ่มบริการร้านยาชุมชน ดูแลผู้ป่วยใช้สิทธิบัตรทอง

“ปีงบประมาณ 2566 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 เป็นต้นไป  สปสช.ยังเพิ่มบริการในร้านยาชุมชนอบอุ่นและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ ให้มากขึ้น การแจกยาคุมกำเนิดจะมีความหลากหลายมากขึ้น มีการเพิ่มบริการการแจกยาคุมฉุกเฉิน มีการเพิ่มบริการการตรวจปัสสาวะด้วยแผ่นตรวจปัสสาวะเพื่อดูการตั้งครรภ์ บริการยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กและกรดโฟลิค บริการคัดกรองปัจจัยเสี่ยงทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต”นพ.จเด็จ กล่าว 

เลขาธิการสปสช.กล่าวว่า ที่สำคัญกว่านั้น จะมีบริการการให้คำปรึกษาด้านเภสัชกรรม บริการยาและเวชภัณฑ์ตลอดจนติดตามดูแลอาการโรคเบื้องต้น (Common illness) สำหรับผู้ใช้สิทธิบัตรทองที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยและเป็นโรคที่พบบ่อยในร้านขายยา ผู้ป่วยจะได้รับยาตามแนวทางและมาตรฐานการให้บริการของสภาเภสัชกรรม โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือเสียเวลาเดินทางไปถึงโรงพยาบาลนั่นเอง

เยี่ยมร้านยาหน่วยบริการปฐมภูมิ  เพิ่มบริการดูแลโรคทั่วไปคนไข้ฟรี

ขณะที่ ผศ.ทวิดา กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร มีประชากรตามทะเบียนบ้านจำนวน 5.8 ล้านคน และเมื่อรวมกับคนต่างจังหวัดที่เข้ามารับบริการสุขภาพใน กทม. ด้วยน่าจะมีประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งด้วยจำนวนขนาดนี้ ไม่มีสถานพยาบาลสังกัดใดรองรับประชากรได้ทั้งหมด ปัจจุบันอัตราการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนใน กทม. อยู่ที่ 1.7 ครั้ง/คน/ปี หรือครึ่งเดียวของค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ ดังนั้นการทำงานจึงต้องทำเป็นเครือข่ายถึงจะสามารถทำให้ประชาชนได้รับบริการโดยไม่ติดขัด

ผศ.ทวิดา กล่าวอีกว่า ร้านยาจะเป็นอีกกลไกสำคัญที่เติมเต็มระบบบริการปฐมภูมิใน กทม. ให้สมบูรณ์ขึ้น เพราะเป็นหน่วยบริการที่อยู่ใกล้ชิดกับชุมชน มีความสะดวกไปรับบริการมากกว่าโรงพยาบาล และเมื่อร้านยาทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. คลินิกชุมชนอบอุ่น ตลอดจนหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะทางด้านอื่นๆ ก็จะทำให้ประชาชนมีช่องทางเข้าถึงบริการที่หลากหลายตามความสะดวกของแต่ละคน และส่งผลให้อัตราการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนใน กทม. ดีขึ้น

“กทม.มีศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุขสาขาอีก 73 แห่ง เมื่อรวมกับคลินิกชุมชนอบอุ่น ตลอดจนหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะทาง เช่น คลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม ร้านยา ฯลฯ จะทำให้มีเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิใน กทม. รวมแล้วมากกว่า 700 แห่ง แต่ กทม.และสปสช.ยังไม่หยุดแค่นี้ เรายังมองถึงการขยายหน่วยบริการในรูปแบบต่างๆ เช่น การจัด Unit ปฐมภูมิเข้าไปในพื้นที่ที่ไม่มีหน่วยบริการตั้งอยู่ หรือมีตู้คีออสบริการพบแพทย์ผ่านระบบเทเลเมดิซีน เป็นต้น และสำหรับร้านยา ตลอดจนหน่วยบริการอื่นๆที่สนใจเข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายร่วมดูแลประชาชนในพื้นที่ กทม. ก็สามารถสมัครเข้าร่วมได้ตลอดเวลา”ผศ.ทวิดา กล่าว

เยี่ยมร้านยาหน่วยบริการปฐมภูมิ  เพิ่มบริการดูแลโรคทั่วไปคนไข้ฟรี

ด้าน ภญ.ปาริชาติ ธัมมรติ เภสัชกรประจำร้านยาคุณภาพฟาร์ม่าสโตร์ รัชโยธิน กล่าวว่า ในส่วนของบริการ Common illness จะเป็นโรคพื้นฐานทั่วไป 13 กลุ่มโรค ซึ่งเป็นโรคที่คนไข้มักซื้อยาในร้านยาเป็นประจำ เช่น โรคหวัดทั้งแบบติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ โรคท้องเสีย โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ อาการผื่นผิวหนังต่างๆ สำหรับขั้นตอนในการรับบริการนั้นแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ

1.คนไข้ติดต่อผ่านไปที่ สปสช. เจ้าหน้าที่จะแนะนำให้ไปรับบริการที่ร้านยาคุณภาพในเครือข่ายที่อยู่ใกล้บ้าน

2. กรณี walk in ทางเภสัชกรจะทำการคัดกรองว่าเข้าเกณฑ์ที่จะได้รับบริการตามสิทธิบัตรทองหรือไม่ เช่น คนไข้เป็นหวัดมาซื้อยาที่ร้าน เภสัชกรจะซักประวัติ คัดกรองและให้บริการตามสิทธิประโยชน์ของ สปสช. ทันทีโดยคนไข้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ต้น และมีมาตรฐานในการติดตามอาการในวันที่ 3 ของการรักษาในผู้ป่วยทุกราย

ที่สำคัญคือ ร้านยาคุณภาพเหล่านี้จะมีการจ่ายยา ( ตามกรอบรายการที่กำหนด ) โดยพิจารณารายยาที่เหมาะสมกับอาการ  หรือ ที่เรียกว่า การใช้ยาสมเหตุผล  และแนะนำให้ไปพบแพทย์กรณีที่พบว่าอาการนั้นควรไปพบแพทย์

“กลุ่มโรคที่ สปสช. กำหนด ส่วนมากคนไข้มักมาซื้อยาในร้านยาอยู่แล้ว หรือกลุ่มโรคความดัน เบาหวาน ก็เป็นกลุ่มโรคที่ร้านยาติดตามการใช้ยาอยู่แล้ว เมื่อ สปสช. มาสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายก็ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการของบัตรทองและผู้ป่วยได้ใช้ยาอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการไป รพ และช่วยลดความแออัดและแบ่งเบาภาระของ รพ."ภญ.ปาริชาติ กล่าว