ตอบข้อสงสัย "ไฟเซอร์" ฝาสีแดงเข้ม เด็ก 6 เดือน - 5 ปี ควรฉีดดีหรือไม่ ?

ตอบข้อสงสัย "ไฟเซอร์" ฝาสีแดงเข้ม เด็ก 6 เดือน - 5 ปี ควรฉีดดีหรือไม่ ?

ในเดือน ต.ค. นี้ จะมีการให้บริการ "วัคซีนโควิด-19" สำหรับเด็กเล็ก อายุ 6 เดือน - 5 ปี ซึ่งมีการศึกษาพบว่า อาการข้างเคียงไม่รุนแรง และสามารถป้องกันการเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตามยังคงมีข้อควรระวังที่ผู้ปกครองต้องรู้

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวในงานเสวนาวิชาการผ่านระบบออนไลน์เกี่ยวกับ “ข้อมูลวัคซีนโควิด19 สำหรับเด็กอายุ 6 เดือน – 5 ปี” จัดโดย สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ว่า ข้อมูล จากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่เดือนมกราคม - กรกฎาคม 2565 พบผู้ป่วยโควิดเป็นเด็กอายุ 0 - 4 ปี จำนวน 3.6 แสนราย ในจำนวนนี้ต้องนอนโรงพยาบาลเกือบ 1 แสนราย มีอาการปอดบวมรุนแรงเกือบ 1 พันราย เสียชีวิต 65 ราย อัตราเสียชีวิต 0.01 % หรือประมาณ 1 ในหมื่น

 

"ถือเป็นความสูญเสียของบุคลากร เยาวชน และทรัพยากรของประเทศ หากการะบาดมากขึ้น จะมีผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น เป็นโอกาสดีที่จะมีวัคซีนใช้ให้ลูกหลาน โดย สธ. จะจัดสรรวัคซีนลงไปในพื้นที่ในเดือน ต.ค. นี้"

 

วัคซีน mRNA สำหรับเด็กเล็ก

 

พญ.ปิยนิตย์ ธรรมาภรณ์พิลาศ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า สำหรับวัคซีนในเด็กอายุ 6 เดือนจนถึงน้อยกว่า 5 ปี ที่ใช้ในประเทศไทยนั้น จะมีวัคซีนไฟเซอร์เข้าในช่วงเดือนตุลาคม โดยเป็น ฝาสีแดงเข้ม ขวดก็สีแดงเข้มเช่นกัน

 

โดยวัคซีนชนิดนี้ต้องผสมตัวทำละลายตามที่กำหนด ซึ่ง 1 ขวดฉีดได้ 10 โดส หรือ 10 คน ขนาดโดสละ 0.2 มิลลิลิตร (ปริมาณเชื้อ 3 ไมโครกรัม) ซึ่งถือว่าปริมาณน้อย โดยฉีดจำนวน 3 เข็ม คือ เข็ม 1 และเข็ม 2 ห่างกัน 3-8 สัปดาห์ ที่แนะนำคือ 4 สัปดาห์ เพื่อให้ภูมิขึ้น ส่วนเข็ม 2 และ เข็ม 3 แนะนำฉีด 8 สัปดาห์ขึ้นไป

 

 

อาการข้างเคียงไม่รุนแรง

 

พญ.ปิยนิตย์ กล่าวต่อไปว่า จากการศึกษาความปลอดภัยของการฉีดไฟเซอร์ พบว่า อาการข้างเคียงไม่รุนแรง มีความปลอดภัย โดยส่วนใหญ่จะเจ็บบริเวณที่ฉีด มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร โดยอาการข้างเคียงเหมือนกันทั้งเข็ม 1 เข็ม 2 และเข็ม 3 ไม่พบอาการข้างเคียงรุนแรงในการศึกษาที่ผ่านมา แต่มีบางคนที่ขึ้นผื่น หรือตัวบวมจากอาการแพ้ แต่ไม่มีอาการช็อกเสียชีวิต

 

“จากการศึกษาระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ โอมิครอน หลังได้รับวัคซีน 3 เข็ม พบว่า หากฉีด 2 เข็มภูมิคุ้มกันจะไม่สูงมากนัก จึงแนะนำว่า ต้องฉีด 3 เข็ม ซึ่งจะทำให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น อีกทั้ง หลังการฉีดมีการติดตามกลุ่มตัวอย่างพบว่า ฉีดครบ 3 เข็ม อย่างน้อย 7 วันพบประสิทธิผล ลดการติดเชื้อได้ประมาณ 75-80%"

 

"อย่างไรก็ตาม เป็นการศึกษาช่วงหลังฉีดใหม่ๆ ซึ่งประสิทธิผลการป้องกันติดเชื้อลดลงเร็วมาก จึงอย่าหวังเรื่องป้องกันติดเชื้อ แต่ให้หวังป้องกันอาการรุนแรง ลดการเสียชีวิตมากกว่า” พญ.ปิยนิตย์ กล่าว

 

แนะนำให้เด็กทุกคนรับวัคซีน

 

ทั้งนี้ แนะนำให้เด็กทุกคนควรเข้ารับวัคซีน โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง ตามข้อแนะนำของ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และ อนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ได้แก่

  • เด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี เด็กคลอดก่อนกำหนด
  • โรคอ้วน
  • โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืดที่มีอาการปานกลางถึงรุนแรง
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคไตวายเรื้อรัง
  • โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
  • โรคเบาหวาน
  • กลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า

 

 

ข้อควรระวัง

 

สำหรับ ข้อควรระวัง คือ เด็กและวัยรุ่นที่เคยมีปัญหากล้ามเนื้อหัวใจ และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบที่สัมพันธ์กับการฉีด วัคซีน mRNA มาก่อน แนะนำให้เลื่อนการฉีดวัคซีนโควิดเข็มถัดไปไปก่อน แต่กรณีนี้ที่ผ่านมาไม่เคยพบในเด็กเล็ก หากพบในการฉีดเข็มที่ 1 ให้ยกเลิกการฉีดในเข็มที่ 2 – 3 จนกว่าจะมีข้อมูลด้านความปลอดภัย

 

“การรับวัคซีนเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ปกครองและเด็ก ไม่ได้เป็นเงื่อนไขของการไปโรงเรียน ถึงจะไม่ได้รับวัคซีน ก็สามารถไปโรงเรียนได้ปกติ ป้องกันตัวเอง รักษาความสะอาด การป้องกันโรคยังจำเป็นแม้จะผ่านวิกฤติโควิด"

 

อัพเกรดวัคซีน ตามช่วงอายุ 

 

"ทั้งนี้ หากฉีดเข็มที่ 1 วัคซีนฝาสีแดงเข้ม ในช่วงอายุ 4 ขวบ 9 เดือน แล้วกำหนดฉีดเข็มที่ 2 อยู่ในช่วงอายุ 5 ปี ให้อัพเกรด วัคซีนตามช่วงอายุ คือ ฉีดวัคซีนฝาสีส้มได้เลย และวัควีนโควิดสามารถฉีดร่วมกับวัคซีนพื้นฐานอื่นได้” พญ.ปิยนิตย์ กล่าว

 

หากฉีดเข็ม 1 แล้วติดโควิด ทำอย่างไร

 

จากคำถามที่ว่า หากเด็กเล็กฉีดวัคซีนโควิด 1 เข็ม แต่ติดโควิดก่อนฉีดเข็ม 2 ยังต้องฉีดหรือไม่ และต้องห่างเท่าไหร่ พญ.ปิยนิตย์ อธิบายว่า หากเด็กติดเชื้อโควิด ให้บวก 3 เดือนไปก่อนค่อยฉีดเข็มถัดไป เว้น 3 เดือนค่อยฉีดอีกครั้งจนครบโดส

 

ทั้งนี้ วัคซีนไฟเซอร์เด็กเล็ก คาดว่าจะเริ่มฉีดได้ในกลางเดือนตุลาคมนี้ โดยให้บริการตามหน่วยบริการของจังหวัด เช่น รพ.สต. ผู้ปกครองสามารถสอบถามได้ยังโรงพยาบาลใกล้บ้าน