คกก. MIU "สธ." เสนอ 5 ประเด็นสำคัญถ่ายโอน รพ.สต.ไป อบจ.

คกก. MIU "สธ." เสนอ 5 ประเด็นสำคัญถ่ายโอน รพ.สต.ไป อบจ.

คณะกรรมการ MIU สธ. เสนอ 5 ประเด็นถ่ายโอนภารกิจ "รพ.สต." ไปยัง อบจ. ต้องให้บริการประชาชนไม่ต่างจากเดิม ส่งมอบข้อมูลให้ อบจ.จัดทำแผนพัฒนาสุขภาพระดับพื้นที่ รพ.แม่ข่าย หนุนเท่าเทียมกับ รพ.สต. ที่ยังไม่ถ่ายโอน กำกับให้มีบุคลากรขั้นต่ำตามกำหนด และจัดสรรงบประมาณตามขนาด

วันนี้ (9 ตุลาคม 2565) นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิ 11) และประธานคณะกรรมการ MIU กระทรวงสาธารณสุข ด้านถ่ายโอนภารกิจ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) เปิดเผยว่า จากการศึกษาฯ มีข้อเสนอเกี่ยวกับการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และ รพ.สต. ให้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ใน 5 ประเด็นสำคัญ คือ 

 

1.การให้บริการ ต้องให้บริการประชาชนได้อย่างมีคุณภาพไม่น้อยกว่าเดิม มีบุคลากรตามเดิม ในช่วงแรก โรงพยาบาลแม่ข่าย เดิมยังสนับสนุนแพทย์ เภสัชกร บุคลากรอื่นที่ให้บริการแก่ รพ.สต. หากช่วงแรก อบจ.ยังไม่มีวิชาชีพต่างๆ ที่จำเป็น โดยที่ อบจ. ซึ่งจะต้องมีคุณสมบัติตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุขที่ออกตามความในกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรม ต้องเน้นประเด็นนี้เพื่อให้ รพ.สต. ยังให้บริการได้ตามเดิม ในระยะยาวต่อเนื่อง

 

2.เรื่องโครงสร้าง ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจัดเตรียมและส่งมอบข้อมูลภารกิจ งบประมาณ อัตรากำลัง และพัสดุครุภัณฑ์ ของ สอน./รพ.สต. เพื่อให้ อบจ. จัดทำแผนพัฒนาสุขภาพระดับพื้นที่ แผนพัฒนาท้องถิ่นและข้อบัญญัติงบประมาณ ตามกรอบระยะเวลาที่กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด โดยพัสดุครุภัณฑ์ที่เป็นของ รพ.สต.อยู่เดิม ควรถ่ายโอนไปทั้งหมด

 

3.การสนับสนุน ควรทำความเข้าใจกับหน่วยบริการประจำแม่ข่ายของเครือข่ายบริการปฐมภูมิ (CUP) ทั้งการจัดสรรงบประมาณ การสนับสนุนยา เวชภัณฑ์ บุคลากร ให้แก่ รพ.สต.ที่ถ่ายโอนอย่างเสมอภาค เท่าเทียมกับหน่วยบริการปฐมภูมิในสังกัด กระทรวงสาธารณสุข และควรแก้ไขหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินบำรุง เพื่อการปฏิบัติราชการของหน่วยบริการอื่น พ.ศ.2544 ให้จ่ายเงินบำรุงให้ รพ.สต. ที่ถ่ายโอนไปแล้วได้ แต่ขึ้นกับการตัดสินใจเชิงนโยบาย รวมถึงควรมีข้อตกลงและระเบียบที่ชัดเจนในการสนับสนุนยา เวชภัณฑ์ และบุคลากรข้ามกระทรวง

 

4.เรื่องบุคลากร ควรกำกับท้องถิ่นให้บริหารจัดการให้มีบุคลากรขั้นต่ำตามที่กำหนด โดย สอน.หรือ รพ.สต.ขนาดเล็ก รับผิดชอบประชากรน้อยกว่า 3,000 คน มีบุคลากร 7 อัตรา, ประชากร 3,000 - 8,000 คน มีบุคลากร 12 อัตรา และประชากรมากกว่า 8,000 คน มีบุคลากร 14 อัตรา

 

5.งบประมาณ เสนอว่ารายได้จากหน่วยบริการประจำแม่ข่ายที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก สปสช. ที่จัดสรรให้ตามหลักเกณฑ์ที่แต่ละเครือข่ายได้ทำข้อตกลงกำหนดไว้ ต้องไม่แตกต่างจากแนวทางการจัดสรรงบประมาณก่อนการถ่ายโอน มีความเสมอภาคและเท่าเทียม และให้สำนักงบประมาณ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดสรรงบประมาณให้แก่ รพ.สต.ที่ถ่ายโอน ขนาดเล็ก 1 ล้านบาท/ปี ขนาดกลาง 1.5 ล้านบาท/ปี และขนาดใหญ่ 5 ล้านบาท/ปี โดยต้องวางแผนให้ รพ.สต. และ อปท.ทราบ เพื่อจะได้เตรียมงบประมาณในอนาคตและบริหารจัดการได้

 

สิ่งสำคัญคือ มาตรฐานและคุณภาพของระบบสาธารณสุขและการดูแลสุขภาพประชาชนต้องไม่แตกต่างจากเดิมก่อนการถ่ายโอนฯ รวมถึงการทำงานร่วมกันที่สอดประสานปฏิบัติตามนโยบายและแนวทางสาธารณสุขระดับชาติเพื่อประโยชน์สุงสุดของประชาชน