"กัญชา-กัญชง”Local to Global อีก3ปีCBD จะอยู่ในชีวิตประจำวัน

"กัญชา-กัญชง”Local to Global  อีก3ปีCBD จะอยู่ในชีวิตประจำวัน

ปัจจุบันกำหนดให้กัญชากัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจสุขภาพ และรัฐตั้งเป้าให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ โดยสามารถที่จะส่งออกไปยังประเทศอื่นที่อนุญาตให้ใช้ CBD ได้ ถือเป็นโอกาสของประเทศไทยที่ขยับเรื่องนี้เป็นประเทศแรกๆในเอเชีย

ปัจจุบัน“กัญชา”จัดเป็น“สมุนไพรควบคุม”แต่ยังพรบ.เฉพาะยังไม่มีพรบ.กัญชากัญชง ออกมาควบคุม จึงจำเป็นที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ต้องออกประกาศเพิ่มเติมมาควบคุม โดยเฉพาะในส่วนของ “การกำหนดจำนวนปริมาณครอบครอง” เช่นกำหนดว่า ผู้ใดประสงค์เพาะปลูกกัญชา ใช้ประโยชน์ในครัวเรือนไม่เกิน 15 ต้น เป็นต้น

รวมทั้งคุม “การโฆษณา” ในส่วนผลิตภัณฑ์กัญชา โดยเฉพาะผ่านช่องทางออนไลน์ ที่เด็กเยาวชนเข้าถึง การห้ามใช้นันทนาการ ภายในบ้าน เพื่อ“ไม่ให้"ขัดอนุสัญญาระหว่างประเทศเรื่องกัญชา เนื่องจากมีกฎหมายควบคุม

อย่างไรก็ตามการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 11 ต.ค.ได้ตั้งคณะทำงานมาช่วยกันพัฒนาจัดทำแนวทางลดอันตรายจากยาเสพติด (Harm Reduction) พร้อมทั้งตั้งคณะอนุกรรมการด้านงานวิจัยกัญชาทางการแพทย์ เพื่อรวบรวม พัฒนา ต่อยอดองค์ความรู้ในด้านกัญชาทางการแพทย์ของประเทศไทยด้วย

 

  • สารCBD ในกัญชามาใช้บำบัดการติดยาแอมเฟตามีน

"นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล"ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ กล่าวว่ามติที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษว่าด้วยปัญหายาเสพติดโลก ค.ศ. 2016 (UNGASS 2016) แนะนำให้ภาคีกำหนดให้มีมาตรการทางเลือกกับผู้เสพยาเสพติด เพื่อผู้เสพเข้าสู่การบำบัดรักษา เช่น การนำมาตรการลดอันตรายจากยาเสพติด (Harm Reduction) รวมถึงการพัฒนาทางเลือก (alternative development) มาปรับใช้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นไปอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม กัญชา ถูกนำมาใช้ในการลดอันตรายจากการใช้ยาและยาเสพติดที่รุนแรง (Harm Reduction) ในต่างประเทศมีงานวิจัยในการนำสาร CBD (ซีบีดี) ในกัญชามาใช้บำบัดการติดยาแอมเฟตามีนเช่น ในแวนคูเวอร์ แคนาดาปี 2021 มีโครงการใช้กัญชาเพื่อลดอันตรายจากการใช้สารเสพติดอื่น ๆ ได้ สามารถทดแทนการใช้สารกลุ่มกระตุ้นจิตประสาทได้ถึง 50% ทดแทนการใช้โอปิออยด์ได้ถึง 31%

\"กัญชา-กัญชง”Local to Global  อีก3ปีCBD จะอยู่ในชีวิตประจำวัน

ในนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ปี 2021 การใช้กัญชาอาจเป็นทางเลือกทางการแพทย์ที่ปลอดภัยกว่าการใช้โอปิออยด์ เพิ่มการเข้าถึงการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด ทางด้านทรัพยากรและการรักษา, ในโคโลราโด สหรัฐอเมริกาปี 2005 ในประชากรส่วนใหญ่ที่ใช้กัญชา จะไม่ไปใช้ยาเสพติดที่รุนแรงกลุ่ม Hard drugs ฯลฯ ในประเทศไทยก็มีผลงานวิจัยองค์ความรู้การแพทย์แผนไทยเรื่องนี้เช่นกัน เช่น ตำรับยาอดฝิ่นที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม

 

  • ส่งออกสาร CBD ไปประเทศอื่น ถือเป็นโอกาสของประเทศไทย

“การประชุมในครั้งนี้ได้เน้นเรื่องการพัฒนาการนำกัญชามาใช้ในการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดที่รุนแรง เช่น ยาบ้า ซึ่งเป็นปัญหามากในปัจจุบันของประเทศ ส่วนด้านงานวิจัยกัญชาทางการแพทย์ เพื่อรวบรวม พัฒนา ต่อยอดองค์ความรู้ในด้านกัญชาทางการแพทย์ของประเทศไทยด้วย”นพ.ประพนธ์ กล่าว

ขณะที่ภาคเอกชนที่ดำเนินการธุรกิจกัญชง-กัญชาทางด้านการแพทย์และสุขภาพอย่างครบวงจร (ตามที่กฎหมายกำหนด)

“นายพรประสิทธิ์ สีบุญเรือง”กรรมการผู้จัดการ บริษัท 88 แคนนาเทค จำกัด ที่ปลูกกัญชา กัญชง เพื่อสุขภาพครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตามที่กฎหมายกำหนด ตั้งแต่ปี 2562 มองว่า  ธุรกิจกัญชา กัญชง เป็นเทรนด์ต่างประเทศที่มีการใช้กัญชาทางการแพทย์และกัญชงเชิงพาณิชย์มานาน เมื่อกฎหมายในประเทศไทยอนุญาตจึงเล็งเห็นโอกาสเข้าสู่ธุรกิจ และจดทะเบียนตั้งบริษัทตั้งแต่ปี 2562 ภายใต้แนวคิด ปลูกสุขภาพ โดยดำเนินการตลอดเส้นทางครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

แม้ว่าสภาผู้แทนราษฎรยังไม่พิจารณาร่างพรบ.กัญชากัญชง แต่ ในภาคอุตสาหกรรม ในภาคปฏิบัติของธุรกิจไม่กระทบ หากดำเนินการตามกฎหมายเนื่องจากมีกฎหมายให้สามารถดำเนินการได้ทั้งเรื่องกัญชาทางการแพทย์ และกัญชงเชิงพาณิชย์

 “ในต่างประเทศมีการนำสาร CBD มาใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ต่างๆมานาน ส่วนของประเทศไทย ปัจจุบันกำหนดให้กัญชากัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจสุขภาพ และรัฐตั้งเป้าให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ โดยสามารถที่จะส่งออกไปยังประเทศอื่นที่อนุญาตให้ใช้ CBD ได้ ถือเป็นโอกาสของประเทศไทยที่ขยับเรื่องนี้เป็นประเทศแรกๆในเอเชีย เชื่อว่าภายใน 3 ปีนี้สาร CBD จะเข้าไปอยู่ในส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ต่างๆที่อยู่ในชีวิตประจำวันมากขึ้น”นายพรประสิทธิ์ กล่าว

สำหรับบริษัท 88 แคนนาเทค จำกัด นำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชงจากสหรัญอเมริกามาปลูกในพื้นที่โรงเรือน ที่ จ.เชียงรายและที่ Contract Framing โดยในปี 2566 จะมีพื้นที่ปลูกรวมทั่วประเทศ 25,000 ตารางเมตร ปลูกกัญชงได้ประมาณ 3 แสนต้น ได้สารสกัดCBD ราว 1.5-1.8 ตัน นำไปทำผลิตภัณฑ์ได้ 1.5-1.8 ล้านยูนิต

นอกจากนี้ยังสนับสนุนกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ตั้งโรงสกัดนำสารกัญชาไปทำยา เมตตาโอสถ และ การุณโอสถ และออกผลิตภัณฑ์ลดเลือนริ้วรอยคาดวางตลาดได้ราว 50,000 ยูนิตในปีนี้

ส่วนปี 2566 จะวางผลิตภัณฑ์ได้ 1.2 ล้านยูนิต สร้างรายได้ระดับ 1 พันล้านบาท ส่งออกไตรมาสแรกของปีหน้า  60 % พร้อมเปิดตัวคลินิก CannaHealth คลินิกการแพทย์และการดูแลสุขภาพองค์รวมที่ใช้สารสกัดกัญชงและกัญชาร่วมกับการรักษาของแพทย์แผนไทยประยุกต์ ตอบโจทย์ผู้บริโภคด้วยสมุนไพรทางเลือกมากขึ้น