9 คำถามประเมิน "ซึมเศร้า" ป่วยรักษาฟรี ทุกสิทธิรัฐ

9 คำถามประเมิน "ซึมเศร้า" ป่วยรักษาฟรี ทุกสิทธิรัฐ

แบบประเมินกรมสุขภาพจิต 9 คำถามจะช่วยคัดกรองเบื้องต้น ถึงความเสี่ยง "ซึมเศร้า" หากได้รับการวินิจฉัยว่าป่วย สามารถเข้ารับการรักษาได้ฟรี ทุกสิทธิประกันสุขภาพภาครัฐ แต่คงจะดีกว่า หากป้องกันโดยยึดหลักสื่อสารเชิงบวกระหว่างกัน

ตัวเลขคนไทยป่วยซึมเศร้า

         คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในประเทศไทยกว่า 1.5 ล้านคน เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต 4,000 รายต่อปี และพยายามคิดสั้นถึง 53,000 คนต่อปี

       ขณะที่ ข้อมูลรายงานการเข้าถึงบริการโรคซึมเศร้า อายุ 15 ปีขึ้นไป จาก HDC ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่1 ตุลาคม 2565  ใน 76 จังหวัด (ไม่รวมกรุงเทพมหานคร)
         พบว่า ทั่วประเทศ จำนวนผู้ป่วยคาดประมาณจากความชุกที่ได้จากการสำรวจ  89,684 คน จำนวนผู้ป่วยสะสมทั้งหมดที่ได้รัยการวินิจฉัยและรักษา 97,202 คน อัตราการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยและรักษา เทียบกับคาดประมาณผู้ป่วย อยู่ที่ 108. 38 
ไม่ได้คิดไปเอง! ผลสแกนชี้ สมองผู้ป่วย "โรคซึมเศร้า" ต่างจากสมองคนปกติ

9 คำถามประเมินซึมเศร้า

       กรมสุขภาพจิต ได้จัดทำ แบบประเมินโรคซึมเศร้าออนไลน์(9Q) สำหรับให้ประชาชนประเมินตนเองเบื้องต้นผ่านออนไลน์ โดยสามารถทำแบบประเมินได้ ที่นี่

         แบบประเมินจะประกอบด้วย 9 คำถาม:  " ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมารวมทั้งวันนี้ คุณมีอาการเหล่านี้บ่อยแค่ไหน "

  • รู้สึกแย่ เศร้า หงุดหงิด หรือสิ้นหวัง
  • รู้สึกเหนื่อยล้า ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง
  • ไม่สนใจหรือไม่มีความสุขเวลาทำอะไร (ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่เคยชอบ)
  • รู้สึกแย่กับตัวเอง
  • นอนไม่หลับหรือหลับมากไป
  • จดจ่อกับอะไรได้ยาก เช่น อ่านหนังสือ
  • เบื่ออาหาร หรือ กนมากกว่าปกติ
  • พูดหรือทำอะไรช้า หรือกระวนกระวายมาก

ทำอย่างไรเมื่อซึมเศร้า

       โรคซึมเศร้า สามารถรักษาให้หายได้   หากผลประเมินเบื้องต้น พบว่า มีความเสี่ยง  สามารถโทรปรึกษาเบื้องต้น ได้ฟรี ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323

         สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ได้ออกคำแนะนำ  เรื่อง ฉันควรทำอย่างไรเมื่อเป็นโรคซึมเศร้า ดังนี้

  •    ดูแลตัวเอง

เริ่มต้นด้วยการดูแลตัวเองให้ดี กินให้พอ นอนให้พอ เพราะคนซึมเศร้ามักกินไม่ได้นอนไม่หลับ ทำให้สภาพร่างกายอ่อนเพลียและอารมณ์จะแย่ตาม แต่บางคนอาจกินหรือนอนมากไปซึ่งจะทำให้อารมณ์แย่ลงได้เช่นเดียวกันควรกินนอนพอดีๆให้เป็นเวลา

  • หาอะไรทำ

อารมณ์เศร้าจะทำให้อยากอยู่เฉยๆ ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากออกไปไหน แต่สุดท้ายถ้าเราทำตามอารมณ์ก็จะยิ่งเศร้ามากขึ้น

คำแนะนำ คือ ให้ฝืนทำกิจกรรมที่ควรทำ หรือจำเป็นต้องทำต่อไปแม้จะไม่อยากทำ ให้คิดไว้เสมอว่า “ทำตามแผนอย่าทำตามอารมณ์"

ถ้าสามารถเพิ่มกิจกรรมให้ Active มากยิ่งขึ้นกว่าปกติได้ยิ่งดี เช่น ออกกำลังกาย จัดห้อง เก็บกวาดทำความสะอาดบ้าน กลับไปทำงานอดิเรกที่ตัวเองชอบการ ทำตัวให้กระฉับกระเฉง จะเป็นวิธีต้านอารมณ์เศร้าที่ดีมาก และทำให้หายจาก โรคซึมเศร้า ได้เร็วขึ้น

  • พบจิตแพทย์

การไปพบจิตแพทย์เพื่อรักษาโรคซึมเศร้า ไม่ใช่เรื่องน่าอาย คนเราป่วยกายก็ไปหาหมอตรวจร่างกาย ถ้าจิตใจไม่สบายก็ไปให้จิตแพทย์รักษา เริ่มแรกจิตแพทย์จะพูดคุย รับฟัง แนะนำการปฏิบัติตัวให้เราและพ่อแม่ฟัง แล้วนัดมาดูอาการบางครั้งโรคซึมเศร้าสามารถหายเองได้เพียงแค่ดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม

  • จิตบำบัด

จิตแพทย์อาจให้เราทำจิตบำบัด (psychotherapy) ซึ่งก็คือการไปนั่งคุยกันเพื่อประโยชน์ในการทำความเข้าใจตัวเราเองและหาวิธีจัดการอารมณ์ความรู้สึกในใจของเราให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเนื้อหาในการพูดคุยจะถือว่าเป็นความลับ

  • ยาต้านเศร้า

ยาจะช่วยปรับสารเคมีในสมองของเราให้กลับสู่สมดุลภายใน 2-4 เดือน ควรกินยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่งและไม่ควรหยุดกินยาเองแม้จะอาการดีขึ้นแล้ว

  • พูดคุยกับคนที่ไว้ใจ

การพูดคุยกับคนที่เราไว้ใจจะช่วยให้เราได้ระบายความรู้สึก ไม่ต้องเก็บเอาไว้คนเดียว ลองนึกดูว่าเราคุยกับใครได้บ้าง อาจจะเป็นคุณพ่อคุณแม่พี่น้องครูอาจารย์หรือเพื่อนที่เข้าใจการพูดคุยจะทำให้เราได้แบ่งปันความรู้สึกกันได้รู้ว่าไม่ได้มี แต่เราที่ทุกข์อยู่คนเดียวนอกจากนี้คนอื่นอาจมีวิธีแก้ปัญหาดีๆที่เรานึกไม่ถึงแนะนำให้เราก็ได้ (อย่าลืมว่าเวลาซึมเศร้าเราจะคิดอะไรไม่ค่อยออกเหมือนตอนปกติ)

ป่วยซึมเศร้ารักษาฟรี

       เมื่อเข้าพบจิตแพทย์แล้วได้รับการวินิจฉัยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาได้ฟรี ทุกสิทธิประกันสุขภาพภาครัฐทั้งประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง

        ผู้ที่อยู่ในสิทธิบัตรทอง หากไม่แน่ใจในสิทธิการรักษาพยาบาลของตัวเอง สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 ซึ่งจะแจ้งหน่วยงานบริการประจำ (ใกล้บ้าน) ว่าอยู่ที่ไหน เพื่อเดินทางไปรักษา

        สิทธิสวัสดิข้าราชการ ครอบคลุมทั้งข้าราชการและครอบครัว  ตรวจสอบสิทธิเพิ่มเติมที่ กรมบัญชีกลาง โทร. 02-127-7000

           ประกันสังคม คุ้มครองการรักษาโรคซึมเศร้าและโรคจิตเวชทุกประเภท สามารถใช้สิทธิในโรงพยาบาลที่กำหนดไว้ในระบบประกันสังคม โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ตรวจสอบสิทธิเพิ่มเติม สายด่วนประกันสังคม 1506

8 ทักษะสื่อสารป้องกันซึมเศร้า

    ศูนย์ความรู้เทคโนโลยีโรคซึมเศร้าไทย  รพ.พระศรีมหาโพธิ์ กรมสุขภาพจิต เผยแพร่ “ทักษะการสื่อสาร ป้องกันซึมเศร้า” โดยเป็นเทคนิควิธีการสื่อสารทางบวก ซึ่งเป็นการสื่อสารที่ทำให้เกิดความเข้าอกเข้าใจกัน และนำไปสู่การเติมเต็มความรู้สึกนึกคิดที่ดีต่อกัน 8 ข้อ อ้างอิงจาก
Veridian E-Journal, Slipakorn University ฉบับภาษาไทย สาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 เดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2558 ดังนี้
1.การบอกความรู้สึกนึกคิดของตนเอง หรือ I Message เป็นการสื่อสารที่ทำให้อีกฝ่ายเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่าเรามีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร
2.การถามและการรับฟังความคิดเห็นของอีกฝ่าย เป็นการสื่อสาร 2 ทาง (Two-way communication)
3.มีการแสดงความชื่นชมและขอบคุณกันในโอกาสที่เหมาะสม เช่น การชมลูกเมื่อลูกช่วยทำงานบ้าน เป็นต้น รวมทั้งให้กำลังใจกันเมื่อสมาชิกในครอบครัวประสบปัญหาบางอย่างในชีวิต
4.ใช้การสื่อสารที่มีเนื้อหาชัดเจน และตรงต่อบุคคลเป้าหมายตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
5. พึงระลึกไว้เสมอว่าการกระทำเสียงดังกว่าคำพูด (Actions speak louder than words) ดังนั้นคำพูดและการกระทำควรสอดคล้องกัน
6.ใช้คำพูดเชิงบวกที่ให้เกียรติกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ แม้แต่กับคนที่มีอายุน้อยกว่า
7.ใช้คำพูดที่ชัดเจนและเฉพาะเจาะจงในเรื่องที่ต้องการสื่อสาร

8.หลีกเลี่ยงการสื่อสารทางลบ ได้แก่ การใช้สีหน้าบึ้งตึง เฉยเมย เย็นชา การใช้วิธีเงียบไม่พูดเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง การพูดที่คลุมเครือไม่ชัดเจนซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้และการพูดที่มีลักษณะสั่งสอน ติเตียน ประชดประชัน