เช็กสิทธิ! "ใส่รากฟันเทียม" ในระบบบัตรทองมีเงื่อนไขอะไรบ้าง?

เช็กสิทธิ! "ใส่รากฟันเทียม" ในระบบบัตรทองมีเงื่อนไขอะไรบ้าง?

สปสช. แจงสิทธิประโยชน์รากฟันเทียมในระบบบัตรทอง ย้ำชัดๆ มีเงื่อนไขต้องไม่มีฟันทั้งปากและไม่สามารถใส่ฟันปลอมได้แล้ว ถึงจะผ่าตัดใส่รากฟันเทียมได้

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เข้าร่วมดำเนินการ “โครงการฟันเทียม รากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567” ภายใต้ความร่วมมือ โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรมอนามัย กรมการแพทย์ หน่วยทันตกรรมพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และกรมบัญชีกลาง 

นอกจากนี้ ยังเป็นการสืบสานโครงการพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการแก้ปัญหาให้ผู้ที่สูญเสียฟันทั้งปากให้ได้รับฟันเทียม สำหรับคนไทยทุกสิทธิมาตั้งแต่ปี 2548 ทำให้สามารถรับประทานอาหารได้ดีขึ้น ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจที่แข็งแรง มีคุณภาพชีวิตที่ดี 

เช็กสิทธิ! \"ใส่รากฟันเทียม\" ในระบบบัตรทองมีเงื่อนไขอะไรบ้าง?

ทั้งนี้ โครงการฯ กำหนดระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี คือ ปี 2566 -2567 นอกจากบริการใส่ฟันเทียมที่กำหนดเป้าหมาย 72,000 ราย ให้กับคนไทยทุกสิทธิการรักษาแล้ว ยังเพิ่มเติมการให้บริการรากฟันเทียมกับผู้ที่มีปัญหาใส่ฟันเทียมแล้วหลวม

เบื้องต้นให้บริการเฉพาะผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ก่อน เพื่อจัดระบบบริการ กำหนดเป้าหมาย 7,200 ราย โดยจะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2567

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 ใช้บริการสิทธิบัตรทองได้

ฟรี ฝัง"รากฟันเทียม"สิทธิบัตรทอง ใส่"ฟันเทียม"ทุกสิทธิรักษา

เพิ่มสิทธิ "บัตรทอง" ให้ผู้สูงอายุ เข้าถึงการรักษา - ป้องกันหลายโรค

สิทธิประโยชน์บัตรทอง "ผู้สูงอายุ" ไม่เสียค่าใช้จ่าย

บริการใส่ "รากฟันเทียม" ปี 66-67 

การเข้ารับบริการใส่ฟันเทียมภายใต้โครงการฟันเทียม รากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติฯ ครอบคลุมคนไทยทุกอายุ โดยการใส่ฟันเทียมทั้งปากหรือเกือบทั้งปาก รับบริการได้ทุกสิทธิการรักษา ทั้งสิทธิบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ โดยมีเป้าหมายบริการปี 2566 - 2567 จำนวน 72,000 ราย

อย่างไรก็ดี ผู้มีสิทธิบัตรทองเข้ารับการใส่ฟันเทียมที่โรงพยาบาลรัฐ ไม่เสียค่าใช้จ่าย และไม่จำเป็นต้องเป็นหน่วยบริการประจำตามสิทธิการรักษาของแต่ละคน แต่ขอให้เป็นหน่วยบริการใกล้บ้านเพื่อความสะดวกรักษาต่อเนื่อง โดยรับบริการได้ทั้งที่โรงพยาบาลจังหวัด และโรงพยาบาลชุมชน จำนวน 800 แห่ง

สำหรับผู้ประกันตนรับบริการได้ที่โรงพยาบาลเอกชนและคลินิกทันตกรรมเอกชนในระบบประกันสังคม โดยเบิกจ่ายจากสำนักงานประกันสังคมตามจริงไม่เกินวงเงิน 4,400 บาท ส่วนผู้มีสิทธิข้าราชการเข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง ทั้งนี้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ป่วยใหม่เท่านั้น แต่ผู้ป่วยรายเก่าก็เข้ารับบริการได้ตามเกณฑ์รับบริการ ถ้าใส่ฟันเทียมชุดเก่านานกว่า 5 ปี

เช็กสิทธิ! \"ใส่รากฟันเทียม\" ในระบบบัตรทองมีเงื่อนไขอะไรบ้าง?

ทั้งนี้ ส่วนบริการฝังรากฟันเทียมนั้นกำหนดเป้าหมายบริการ 7,200 ราย หรือ 14,000 ราก ปี 2566ให้บริการ 3,500 ราย และปีที่ 2 จำนวน 3,700 ราย เป็นการดำเนินการเพื่อสืบสานต่อยอดโครงการฟันเทียมพระราชทานฯ ที่ช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาใส่ฟันเทียมแล้วหลวม ขยับ จำเป็นต้องฝังรากฟันเทียมเพื่อยึดฟันเทียมให้แน่นขึ้น

แต่ด้วยรากฟันเทียมต้องใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนและทำโดยทันตแพทย์ที่ผ่านการอบรม รวมถึงโรงพยาบาลต้องมีเครื่องมืออุปกรณ์ เบื้องต้นจึงให้บริการเฉพาะผู้ที่มีสิทธิบัตรทองก่อนเพื่อวางระบบบริการ ขณะเดียวกันยังเป็นการส่งเสริมนวัตกรรมรากฟันเทียมของไทย ที่พัฒนาขึ้นโดยมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์

เช็กหน่วยบริการทำรากฟันเทียม

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นผู้ป่วยต้องเริ่มทำฟันเทียมก่อน เมื่อทันตแพทย์ประเมินแล้วว่าฟันเทียมใส่ยึดติดกับเหงือกไม่ได้ ก็จะส่งต่อรักษาทำรากฟันเทียมด้วยการปักหมุดลงไปที่ฟันเขี้ยว 2 ซี่ล่างเพื่อยึดติด ซึ่งผู้ป่วยต้องมารับบริการต่อเนื่อง 3 ครั้งในช่วง 4 เดือน

โดยความยากของการให้บริการรากฟันเทียมคือ หน่วยบริการที่ทำรากฟันได้ยังมีจำกัด ขณะนี้มีโรงพยาบาล 190 แห่งที่ทำได้ ในจำนวนนี้เป็น โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป  77 แห่ง ที่เหลือเป็นโรงพยาบาลชุมชน

ขณะที่ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ ได้แก่ สถาบันทันตกรรม สถาบันประสาท และ รพ.ราชวิถี ซึ่งในอนาคตจะมีการขยายหน่วยบริการรากฟันเทียมเพิ่มเติม เนื่องจากสถาบันทันตกรรมมีแผนที่จะจัดการอบรมทันตแพทย์เพิ่มเติม พร้อมความร่วมมือจากโรงพยาบาลในการลงทุนเครื่องมือทำรากฟันเทียม

เช็กสิทธิ! \"ใส่รากฟันเทียม\" ในระบบบัตรทองมีเงื่อนไขอะไรบ้าง?

ปี66 สิทธิ "ใส่รากฟันเทียม-ฟันปลอม"

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทองหรือสิทธิ 30 บาท) มีทั้งสิทธิทำฟันเทียมหรือที่เรียกง่ายๆ ว่าฟันปลอม และสิทธิการทำรากฟันเทียม โดยกรณีรากฟันเทียม คณะกรรมการ สปสช. ได้อนุมัติให้เป็นสิทธิประโยชน์ตั้งแต่ปี 2564 และเริ่มดำเนินการจริงตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา

ทพ.อรรถพร กล่าวต่อไปว่า ในกรณีของการทำฟันเทียมนั้น ขณะนี้ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ คือบัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการ ได้จัดให้เป็นสิทธิประโยชน์แล้ว แต่ในส่วนของรากฟันเทียม

ขณะนี้ยังมีเฉพาะสิทธิบัตรทองและไม่ใช่ว่าจะสามารถทำได้ทุกคน แต่มีเงื่อนไขคือผู้ใช้สิทธิบัตรทองที่สูญเสียฟันทั้งหมดของขากรรไกรบนและ/หรือขากรรไกรล่าง และมีการละลายตัวของกระดูกขากรรไกรมากจนไม่สามารถใส่ฟันเทียมตามวิธีปกติได้ หรือใส่ฟันปลอมทั้งปากแล้วหลวม/หลุดและทันตแพทย์ไม่สามารถแก้ไขได้แล้วจึงจะพิจารณาให้ใส่รากฟันเทียม

ฝังรากฟันเทียมได้ 100 กว่าแห่งทั่วประเทศ

ทพ.อรรถพร เน้นย้ำว่า การจะใส่รากฟันเทียมได้ ผู้ป่วยจะต้องทำฟันปลอมก่อน เพื่อที่ทันตแพทย์จะได้รู้ว่าเมื่อใส่ฟันปลอมแล้วสามารถใช้งานได้ บดเคี้ยวอาหารได้มากน้อยเพียงใด มีปัญหาอะไรหรือไม่ หากใส่แล้วไม่มีปัญหา สามารถบดเคี้ยวอาหารได้ ก็ไม่จำเป็นต้องใส่รากฟันเทียม แต่หากใส่ฟันปลอมแล้วหลวม หลุดง่าย ไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันตแพทย์จะทำการปรับแก้ จนกระทั่งไม่สามารถปรับแก้ได้แล้ว จึงจะพิจารณาให้ใส่รากฟันเทียม

“ขั้นตอนการรับสิทธิ ผู้ป่วยก็ไปรับบริการที่หน่วยบริการประจำตามปกติ หากหน่วยบริการนั้นรักษาไม่ได้ ทันตแพทย์จะแนะนำให้ไปรับบริการในหน่วยบริการที่สามารถผ่าตัดฝังรากฟันเทียมได้ ซึ่งขณะนี้มีหน่วยบริการที่สามารถผ่าตัดได้ประมาณ 100 กว่าแห่งทั่วประเทศ และการไปรับบริการก็ไม่จำเป็นต้องใช้ใบส่งตัวแต่อย่างใด”ทพ.อรรถพร กล่าว

ทั้งนี้ รากฟันเทียมที่ใช้สำหรับสิทธิบัตรทองนั้น จะเป็นรากฟันเทียมที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรม ซึ่งผลิตโดยบริษัทคนไทย โดยองค์การเภสัชกรรมจะเป็นผู้จัดซื้อแทน สปสช. จากนั้นสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย จะเป็นผู้จัดการกระจายรากฟันเทียมเหล่านี้ไปที่ Center ของแต่ละจังหวัด เมื่อมีการให้บริการเกิดขึ้น สปสช.จะจ่ายชดเชยค่าบริการแบบเหมาจ่าย 17,500 บาท/ราย และยังมีค่าติดตามการรักษาปีที่ 1 เหมาจ่าย 700 บาท/ครั้ง ปีที่ 2-5 เหมาจ่ายปีละ 2,800 บาท โดยมีการติดตามการรักษาอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง