อัปเดต!!วิธีการลงทะเบียนสิทธิบัตรทอง ไร้สถานะทางทะเบียนต้องทำอย่างไร?
หลายครั้งที่เด็กในประเทศไทย ถึงแม้จะมีแม่หรือพ่อเป็นคนไทย มีสัญชาติไทย แต่หากแม่หรือพ่อเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ อาจจะทำให้ไม่ได้รับสัญชาติ ไร้สถานะทางทะเบียน หรือมีบัตรประชาชน หรือได้รับสิทธิประโยชน์อย่างคนไทยควรจะได้รับ
เมื่อวันที่ 31 ต.ต.2565 หน่วยรับเรื่องสิทธิบัตรทอง 50(5) เขตบางกอกน้อย ช่วยหนุ่มไร้สถานะทางทะเบียนได้บัตรประชาชน ทั้งที่ พ่อเป็นคนไทย
นางฐิตินัดดา รักกู้ชัย ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน และหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50(5) เขตบางกอกน้อย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ศูนย์ได้เข้าช่วยเหลือนายเงิน ตาใส อายุ 20 ปี ซึ่งเป็นคนไทยที่ไร้สถานะทางทะเบียน ให้ได้รับการตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์ และทำบัตรประชาชนไปเมื่อเดือนก.ย. 2565 ที่ผ่านมา
ครอบครัวของนายเงิน มีภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.ลำปาง และย้ายเข้ามาทำงานใน กทม. โดยพักอาศัยในแขวงบางขุนศรี เขตบางกอกน้อย โดยในส่วนของบิดาของนายเงิน มีสถานะเป็นคนไทยที่มีเลขประจำตัว 13 หลักขึ้นต้นด้วยเลข 5
ส่วนมารดาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าลัวะที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนเช่นกัน ซึ่งตามหลักแล้วเมื่อบิดามีสัญชาติไทย บุตรก็ย่อมมีสัญชาติไทยด้วยตามหลักสายโลหิต อย่างไรก็ดี ไม่ทราบว่าเกิดเหตุผิดพลาดประการใด ในตอนที่ไปแจ้งเกิดนายเงินกลับได้เลขประจำตัว 13 หลักที่ขึ้นต้นด้วย 0 ซึ่งหมายถึงบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เช็ก 16 กลุ่มอาการป่วย "สิทธิบัตรทอง" รับยาร้านยาได้
เช็กสิทธิ! "ใส่รากฟันเทียม" ในระบบบัตรทองมีเงื่อนไขอะไรบ้าง?
สปสช. เตรียมหน่วยปฐมภูมิ 64 แห่ง ดูแลผู้ป่วยนอกสิทธิบัตรทอง โซน กทม.ตะวันออก
แนวทางการใช้บริการกลุ่มไร้สถานะทางทะเบียน
นางฐิตินัดดา กล่าวว่า การที่นายเงินไม่มีบัตรประชาชน ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล และสวัสดิการที่รัฐจัดให้ได้ ซึ่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา นายเงินไม่สามารถรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดได้ จึงได้ร้องขอความช่วยเหลือมายังหน่วยรับเรื่องร้องเรียนสิทธิบัตรทอง 50(5) เขตบางกอกน้อย และมีการตรวจลายพิมพ์ดีเอ็นเอกับโรงพยาบาลรามาธิบดีแล้ว
อย่างไรก็ดี เนื่องจากในช่วงนั้นสถานการณ์การระบาดกำลังรุนแรง ขั้นตอนการขอทำบัตรประชาชนจึงยังไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ต่อมาเมื่อสถานการณ์คลี่คลายทางหน่วยรับเรื่องสิทธิบัตรทอง 50(5) จึงได้ดำเนินการช่วยประสานขอเพิ่มรายชื่อในทะเบียนบ้าน และทำบัตรประชาชนจนสำเร็จ และหลังจากนี้จะช่วยเหลือในการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรทองเพื่อให้เข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลต่อไป
สำหรับแนวทางการใช้บริการของกลุ่มเป้าหมายบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ (คืนสิทธิ)
-ใช้บริการ ณ หน่วยบริการที่ลงทะเบียนไว้ (ตามทะเบียนบ้าน)
-กรณีอุบัติเหตุ/เจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลข้ามเขตภายในจังหวัดหรือข้ามจังหวัด ณ หน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
-ในกรณีข้ามเขตจังหวัดต้องมีใบอนุญาตออกนอกพื้นที่ของกรมการปกครอง (กรณีประสบภัยจากรถสามารถใช้สิทธิต่อเนื่องจากค่าเสียหายเบื้องต้นที่กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถหรือบริษัทประกันภัยเป็นผู้จ่าย)
ทำอย่างไรถึงได้สิทธิประโยชน์
ติดต่อลงทะเบียนสิทธิการรับรักษาด้านสาธารณสุขตามภูมิลำเนาในทะเบียนราษฎร์ได้ที่จังหวัดต่างๆ
- สถานีอนามัย (วัน - เวลาราชการ)
- โรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (วัน - เวลาราชการ)
- สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (วัน - เวลาราชการ)
ส่วนกรุงเทพมหานคร สามารถติดต่อได้ที่
โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ 3 แห่ง ดังนี้
1. โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี
2. โรงพยาบาลราชวิถี
3. โรงพยาบาลเลิดสิน
จากหน้าเว็บไซด์กองทุนบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ กลุ่มประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดฯ กระทรวงสาธารณสุข
ลงทะเบียนสิทธิกลุ่มถูกตัดสิทธิบัตรทอง
การลงทะเบียนสิทธิกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ กรณีรายใหม่ และที่ถูกตัดสิทธิจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้หน่วยบริการดำเนินการ ดังนี้
เลขหลักที่1 หน่วยงานที่ลงทะเบียน
เลข3, 4, 5, 8 โรงพยาบาลลงทะเบียน
เลข 6 โรงพยาบาลลงทะเบียน หลักที่ 6 และ 7 เป็น 50 ขึ้นไป ลงทะเบียนได้ด้วยตนเอง(ถ้าไม่ตรงเงื่อนไขให้ซื้อประกันต่างด้าว 2,800 บาท)
เลข 7 ส่วนกลางลงทะเบียน ต้องส่ง สูติบัตร มาให้ส่วนกลางลงทะเบียนเท่านั้น บิดาหรือมารดาต้องมีเลขขึ้นต้นด้วย 6 และในหลักที่ 6, 7 ต้องเป็นเลข 50 ขึ้นไปจึงจะลงทะเบียนได้ (ถ้าไม่ใช่ตามเงื่อนไขนี้ ให้ซื้อประกันสุขภาพต่างด้าว)
เลข 0 ส่วนกลางลงทะเบียน หลัก 6 และ 7 ต้องเป็น 89 เท่านั้น และส่ง แบบ 89 มาให้ส่วนกลางลงทะเบียนกลุ่มที่ลงทะเบียนได้คือ
1. กลุ่มเด็กนักเรียน (แบบ 89 ให้ระบุว่านักเรียนหรือใบรับรองจากสถานศึกษาสถานะกำลังศึกษา)
2. กลุ่มไร้รากเหง้า (แบบ 89 ให้ระบุว่าไร้รากเหง้า)
3. กลุ่มทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ (แบบ 89 ให้ระบุว่าผู้ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ)
Download ตัวอย่างแบบ 89 (สำเนาจาก สนบท.)
อัปเดต! "วิธีการลงทะเบียนสิทธิบัตรทอง"
สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยลงทะเบียนสิทธิ ดำเนิการตาม 6 ขั้นตอนดังนี้
1.ทุกคนรู้ตัวเองปัจจุบันมีสิทธิรักษาพยาบาลอะไร ถ้าไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลตามที่รัฐจัดให้ ไม่ว่าจะเป็น สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม สิทธิรัฐวิสาหกิจ และอื่นๆ ให้ทุกคนไม่ว่าท่านจะเป็นคนกรุงเทพฯ คนต่างจังหวัด ต้องทำการ "ตรวจสอบสิทธิ" ครับ บางคนเป็นสิทธิว่าง (ค่าว่าง)
2. สิ่งที่ต้องเตรียมคือ 1.บัตรประชาชน/สูติบัตร (สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปีหรือที่ยังไม่มีบัตรประชาชน) และ 2.เอกสารรับรองการพักอาศัย เช่น ทะเบียนบ้าน หรือใบเสร็จค่าน้ำค่าไฟ เป็นต้น
3.เดินทางไปลงทะเบียน ถ้าพักอาศัยในกรุงเทพมหานคร ให้ไปติดต่อ สำนักงานเขตทั้ง 19 เขต ที่เปิดรับลงทะเบียนครับ ถ้าพักอาศัยในต่างจังหวัดให้ไปติดต่อโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. ของจังหวัด
4.ก็ลงทะเบียน ณ จุดลงทะเบียน เพื่อเลือกหน่วยบริการในการเข้ารับการรักษาพยาบาลตามบัญชีเครือข่าย
5.รอเวลา เพราะหลังจากลงทะเบียนจะได้รับสิทธิ ทุกวันที่ 15 หรือ วันที่ 28 ของเดือน โดยการส่งข้อมูลการลงทะเบียน จะแบ่งเป็น 2 รอบ ดังนี้
*รอบที่ 1 ลงทะเบียนไม่เกินวันที่ 10 ของเดือน สิทธิจะขึ้น วันที่ 15 ของเดือน
*รอบที่ 2 ลงทะเบียน หลังวันที่ 10 แต่ไม่เกินวันที่ 22 ของเดือน สิทธิจะขึ้น วันที่ 28 ของเดือน
**กรณีย้ายสิทธิการรักษาก็ให้ใช้สิทธิที่เดิมไปก่อน จนกว่าสิทธิใหม่จะขึ้น แต่ถ้ายังไม่เคยลงทะเบียนก็จะเป็นสิทธิว่างจะใช้สิทธิได้ในกรณีอุบัติเหตุฉุกเฉินเท่านั้น สำหรับผู้ที่ลาออกจากประกันสังคมมาลงทะเบียนสิทธิบัตรทองต้องรีบตรวจสอบสิทธิของตนเองทันที ภายหลังจากหมดการคุ้มครองของสิทธิประกันสังคม
ทั้งนี้ สิทธิสามารถใช้ได้ทุกวันที่ 15 และ 28 หมายถึง หลังจากลงทะเบียนใช้สิทธิบัตรทอง จะมีระยะเวลาประมาณ 15 วันถึง 1 เดือน ถึงจะเริ่มใช้สิทธิที่แห่งใหม่ได้ (สปสช. จะมีรอบการลงทะเบียนทุกวันที่ 15 และ 28 ของเดือน) โดยใช้สิทธิการรักษาที่หน่วยบริการแห่งเดิมไปก่อนจนกว่าสิทธิแห่งใหม่จะใช้ได้
6.แนะนำให้ตรวจสอบสิทธิตนเองอีกครั้งก่อนเข้ารับบริการที่หน่วยบริการ เพื่อตรวจว่าสิทธิที่ลงทะเบียนเข้าในระบบ
สำหรับผู้ที่ประสงค์จะลงทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพ (สิทธิบัตรทอง) หากพบปัญหาและมีข้อสงสัย สามารถโทร สายด่วน สปสช. 1330 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์