โคราช ป่วยไข้เลือดออกแนวโน้มสูงขึ้น ปีนี้ป่วยแล้ว 638 ราย

โคราช ป่วยไข้เลือดออกแนวโน้มสูงขึ้น ปีนี้ป่วยแล้ว 638 ราย

จับตาไข้เลือดออก หลัง สคร.9 ระบุ ตั้งแต่ต้นปี 2565 โคราชป่วยแล้ว 638 ราย ส่วนใหญ่กลุ่มเด็กนักเรียน และมีแนวโน้มป่วยเพิ่มขึ้น

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา ได้ออกมาเปิดเผยถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่ดูแล ว่า เขตสุขภาพที่ 9 ซึ่งดูแล 4 จังหวัดอีสานล่าง ได้แก่ จ.นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และ จ.สุรินทร์ โรคไข้เลือดออกใน ช่วงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 19 พฤศจิกายน 2565 พบผู้ป่วยสะสมแล้ว 1,600 ราย เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วย 638 ราย , จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วย 618 ราย , จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วย 253 ราย และ จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 91 ราย โดยกลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุด จะเป็นกลุ่มเด็กนักเรียน คือ อายุ 5-9 ปี และ 10-14 ปี และมีแนวโน้มป่วยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศ มีฝนตกประปรายแม้สภาพอากาศจะอยู่ในช่วงฤดูหนาวก็ตาม ทำให้มีแอ่งน้ำขัง หรือมีน้ำขังอยู่ตามเศษวัสดุ เศษภาชนะ จานรองกระถางต้นไม้ และกาบใบไม้ จึงกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์อย่างดีของยุงลาย ประชาชนจึงเสี่ยงป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกในฤดูหนาวได้สูง ซึ่งโรคนี้จะพบผู้ป่วยได้ตลอดปี แต่จะพบมากสุดในช่วงฤดูฝน ประชาชนจึงเข้าใจว่าโรคจะระบาดให้ช่วงหน้าฝนเท่านั้น ทำให้ละเลยการตรวจสอบและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
 

ซึ่งอาการของโรคไข้เลือดออก จะพบอาการป่วยหลังถูกยุงลายที่มีเชื้อไข้เลือดออกกัด ประมาณ 5-8 วัน เริ่มจากมีไข้สูงกะทันหัน ติดต่อกัน 2-7 วัน ผิวหน้าแดง ปวดกระบอกตา ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูก คลื่นไส้ อาเจียน แต่จะไม่มีอาการไอ ไม่มีน้ำมูกไหลเหมือนไข้หวัด นอกจากนี้ อาจมีผื่นหรือจุดแดงๆ ขึ้นที่ใต้ผิวหนัง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะฟื้นตัว สดชื่น แจ่มใสขึ้น และหายเป็นปกติ แต่ประมาณร้อยละ 2-5 จะมีอาการช็อคหลังไข้ลง สังเกตได้จากมีอาการซึมลง เบื่ออาหาร เพลีย ปวดท้อง อาเจียน กระสับกระส่ายมือเท้าเย็น ปัสสาวะน้อยลง ไม่ควรซื้อยาลดไข้ในกลุ่มแอสไพรินและไอบูโพรเฟนมารับประทาน ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ให้ตรวจรักษาทันที เพื่อป้องกันการเสียชีวิต และกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือกลุ่มเด็กเล็ก เพราะเด็กยังไม่สามารถบอกอาการตัวเองได้ ผู้ปกครองต้องใช้วิธีสังเกตอย่างใกล้ชิด หากหลังให้กินยาลดไข้ คือยาพาราเซตามอล หรือเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นแล้วไข้ไม่ลดภายใน 2 วัน หรือเด็กร้องกวนมาก ไม่กินนม ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ที่โดยเร็วเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้องและรักษาได้ทันท่วงที ควรรีบไปเพื่อตรวจรักษา ได้
 

นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนยึดหลัก 3 เก็บ ได้แก่

1. เก็บบ้าน หรือเก็บบริเวณโรงเรียนให้สะอาดไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก

2.เก็บขยะให้เรียบร้อยไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และจัดกิจกรรมเสริมจัดการสิ่งแวดล้อมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงและการป้องกันถูกยุงกัดทั้งในบริเวณบ้านและโรงเรียน

3.เก็บน้ำ และเก็บภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิด ป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ ซึ่งมาตรการเก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ จะช่วยป้องกันได้ถึง 3 โรค ทั้งโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถโทร.ไปได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422