วิกฤติโรคระบาด : การตัดสินระหว่าง ‘ชีวิต-ความตาย’
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวที่ได้รับความสนใจและนำไปสู่การถกเถียงอย่างกว้างขวางในประเทศเยอรมนี คือการที่รัฐสภาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ผ่านกฎหมายเพื่อคุ้มครองการเลือกรักษาผู้ป่วยในสภาวะวิกฤติโรคระบาด
เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2565 รัฐสภาเยอรมันได้ผ่านร่างกฎหมาย ซึ่งเสนอโดยรัฐบาลชุดปัจจุบัน เป็นผลให้บทบัญญัติเพื่อคุ้มครองการเลือกรักษาผู้ป่วยในสภาวะวิกฤติโรคระบาดเข้าสู่สภาที่ปรึกษาแห่งสหพันธ์ เพื่อพิจารณาและประกาศใช้ต่อไป
กฎหมายเพื่อคุ้มครองการเลือกรักษาผู้ป่วยในสภาวะวิกฤติโรคระบาด เกิดขึ้นหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2564 ให้ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ รัฐสภา ซึ่งเป็นองค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญ ต้องผูกพันตามรัฐธรรมนูญในการทำหน้าที่ประกันความเท่าเทียมของบุคคลภายใต้กฎหมาย
หน้าที่นี้ศาลมองว่าไม่ได้มีเฉพาะการตรากฎหมายเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมเท่านั้น แต่รวมถึงตรากฎหมายเพื่อป้องกันความไม่เท่าเทียมหรือการเลือกปฏิบัติด้วย
เหตุแห่งคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว เกิดจากการที่ผู้พิการและบุคคลทุพพลภาพได้ร่วมกันฟ้องต่อศาลว่า ในสภาวะโรคระบาดโควิด-19 กลุ่มตนเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลร้าย หรือได้รับความเสียหายจากกระบวนการคัดเลือกการรักษาผู้ป่วย (Triage) เมื่อเกิดวิกฤติทางการแพทย์
การคัดเลือกการรักษาผู้ป่วย หรือ Triage เป็นกระบวนการที่แพทย์จะใช้ในการเลือกหรือจำแนกประเภทของผู้ป่วย เพื่อจัดลำดับก่อนหลังในการให้การรักษาพยาบาล Triage เป็นคำที่มีรากฐานมาจากคำว่า "trier" ในภาษาฝรั่งเศส ซึ่งหมายถึงการเรียงลำดับ (sort) หรือการเลือก (select) คำนี้เดิมบัญญัติขึ้นโดยเวชศาสตร์การทหาร แต่ปัจจุบันมีการนำมาใช้ในการแพทย์ฉุกเฉินหรือการแพทย์พลเรือนด้วย
ในสภาวการณ์ปกติ Triage มีความสำคัญในการช่วยจัดลำดับเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา แต่ในสภาวะวิกฤติทางการแพทย์ เช่น ในสภาวะโรคระบาดที่ทรัพยากรทางการแพทย์มีอยู่อย่างจำกัด กระบวนการคัดเลือกผู้ป่วยหรือ Triage อาจหมายถึง การเลือกว่าผู้ป่วยรายใดที่จะได้รับการรักษาซึ่งอาจหมายถึงการเลือกว่าผู้ใดมีโอกาสรอดชีวิต และผู้ใดจะไม่ได้รับโอกาสดังกล่าว
เหล่านี้ส่งผลให้ผู้พิการและบุคคลทุพพลภาพมีความกังวล เนื่องจากเกรงว่าความทุพพลภาพจะทำให้ตนเสียเปรียบหากต้องเผชิญกับกระบวนการเลือกหรือจัดสรรทรัพยากรทางการแพทย์ในสภาวะวิกฤติ
พวกเขามองว่าปัจจุบัน กระบวนการ Triage ยังไม่มีกรอบของกฎหมายที่กำหนดแนวปฏิบัติที่แน่นอน มีแต่เพียงคำแนะนำทางวิทยาศาสตร์ที่พัฒนาขึ้นสำหรับแพทย์เท่านั้น
เมื่อยังไม่มีกฎหมายเพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน และฝ่ายนิติบัญญัติละเลยไม่ดำเนินการออกกฎหมายดังกล่าว ถือว่าฝ่ายนิติบัญญัติกระทำการอันขัดกับรัฐธรรมนูญ
ศาลรัฐธรรมนูญเห็นด้วยกับคำฟ้อง และให้ฝ่ายนิติบัญญัติผูกพันตามคำพิพากษาในการดำเนินการตรากฎหมาย เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่บุคคลทุพพลภาพ จากกระบวนการเลือกผู้ป่วยเพื่อการรักษา หรือ Triage โดยทันที
จึงเป็นที่มาของกฎหมายเพื่อคุ้มครองการเลือกรักษาผู้ป่วยในสภาวะวิกฤติโรคระบาด ซึ่งผ่านการพิจารณาของรัฐสภาเยอรมนีในสัปดาห์ที่ผ่านมา
บทบัญญัติในเรื่องดังกล่าว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายป้องกันโรคระบาด (Infektionschutzsgesetz) มีเนื้อหาสำคัญคือการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียเปรียบและลดความเสี่ยงจากการเกิดการเลือกปฏิบัติ
ทั้งนี้ บทบัญญัติซึ่งปรากฏอยู่ในกฎหมายระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ไม่มีใครควรเสียเปรียบจากการตัดสินใจจัดสรรทางการแพทย์ในสภาวะโรคระบาด ด้วยเหตุเพราะความทุพพลภาพ ระดับความอ่อนแอ อายุ ชาติพันธุ์ ศาสนาหรือความเชื่อ เพศหรือรสนิยมทางเพศ
ในภาวะโรคระบาดที่มีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว จนทำให้ความสามารถในการรักษาผู้ป่วยไม่เพียงพอ หรือเกิดวิกฤติทางการแพทย์ การตัดสินว่าผู้ใดควรได้รับการจัดสรรให้เข้าถึงทรัพยากรในการรักษาหรือการเลือกผู้ป่วยเพื่อรับการรักษา
แพทย์ต้องตัดสินใจโดยประเมินจากความน่าจะเป็นของการอยู่รอดของผู้ป่วยในปัจจุบันในระยะสั้นเท่านั้น การประเมินดังกล่าวไม่อนุญาตให้ชั่งน้ำหนักจากความทุพพลภาพ ระดับความอ่อนแอ อายุ ชาติพันธุ์ ศาสนา โลกทัศน์ เพศหรือรสนิยมทางเพศแต่อย่างใด
กฎหมายยังกำหนดขั้นตอนการดำเนินการคัดเลือกหรือจัดสรรการรักษา โดยต้องเป็นการตัดสินใจโดยแพทย์ไม่น้อยกว่าสองคนที่เป็นแพทย์เฉพาะทาง ได้รับการฝึกปฏิบัติงานด้านเวชศาสตร์รักษาผู้ป่วยหนัก มีประสบการณ์หลายปีในด้านการรักษาผู้ป่วยหนักและการประเมินผู้ป่วยต้องเกิดจากการตัดสินใจจัดสรรอย่างอิสระ
ผู้สนับสนุนกฎหมายดังกล่าวมองว่า บทบัญญัตินี้จะช่วยลดความเสี่ยงจากการเลือกปฏิบัติในวิกฤติโรคระบาด ที่ปัจจุบันยังไม่สิ้นสุดและเป็นการเตรียมพร้อมหากเกิดวิกฤติโรคระบาดในอนาคต นอกจากนี้ยังช่วยให้แพทย์ตัดสินใจภายใต้กรอบกฎหมายที่ชัดเจนอันเป็นการประกันสิทธิของผู้ป่วย
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่เห็นด้วยในเนื้อหาของบทบัญญัติดังกล่าวโดยเฉพาะแพทย์บางส่วนมองว่า เมื่อนำกฎหมายดังกล่าวไปใช้ในสถานการณ์จริงจะสร้างกระบวนการอันซับซ้อนและยุ่งยาก ในทางปฏิบัติการรักษาพยาบาลทุกครั้งจะต้องได้รับการตรวจสอบครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อให้การรักษาประสบความสำเร็จ
เหล่านี้เป็นกระบวนการทำงานที่ได้รับการฝึกฝนจากการปฏิบัติงานในฐานะแพทย์ การออกกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยและการควบคุมเกินความจำเป็นนั้นเป็นสิ่งที่น่ากลัว