หน้าที่ของกฎหมายเมื่อต้องเลือก..ใครควร(มีโอกาส)รอดชีวิต | ศิริญญา ทองแท้
"ในสภาวะที่โรงพยาบาลต้องรองรับคนไข้จำนวนมหาศาล แต่ทรัพยากรและอุปกรณ์ช่วยชีวิตมีอย่างจำกัด ใครควรได้รับสิทธิการรักษา ซึ่งอาจหมายถึงการเลือกว่าใครคือผู้ที่ได้รับโอกาสในการรอดชีวิต"
ผู้เขียน : ดร.ศิริญญา ทองแท้ สมจริง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ในสภาวะการระบาดของโรคโควิด-19 โลกต้องเผชิญกับความท้าทายในหลากหลายรูปแบบ ท่ามกลางวิกฤติที่เกิดขึ้นในทุกภาคส่วน วิกฤติทางการแพทย์ ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากสถานการณ์โรคระบาดเป็นส่วนที่ต้องเผชิญกับสภาวะท้าทายที่รุนแรงที่สุด ในการทำหน้าที่รักษาชีวิต
บางครั้งการรักษาชีวิตหนึ่งอาจหมายถึงการตัดโอกาสรอดของอีกชีวิตหนึ่ง ในสถานการณ์เช่นนี้ กฎหมายรวมถึงผู้มีหน้าที่สร้างกฎหมายควรมีบทบาทอย่างไร เป็นสิ่งที่สังคมให้ความสนใจ
ในประเทศเยอรมนี คำถามต่อบทบาทของกฎหมายในสถานการณ์ดังกล่าวถูกกล่าวถึงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ทรัพยากรทางการแพทย์เข้าสู่ภาวะวิกฤติ
ในสภาวะที่โรงพยาบาลต้องรองรับคนไข้จำนวนมหาศาล แต่ทรัพยากรและอุปกรณ์ช่วยชีวิตมีอย่างจำกัด ใครควรได้รับสิทธิในการรักษา
ซึ่งอาจหมายถึงการเลือกว่าใครคือผู้ที่ได้รับโอกาสในการรอดชีวิต เป็นสภาวะการตัดสินใจที่ยากลำบาก แพทย์ซึ่งรับผิดชอบการรักษาเป็นผู้ที่ต้องรับหน้าที่ในการเลือกอันหนักหน่วงนี้
หนึ่งในวิธีที่นำมาใช้คือ กระบวนการคัดเลือก หรือ Triage ซึ่งเป็นกระบวนการที่แพทย์จะใช้ในการเลือกหรือจำแนกประเภทของผู้ป่วย เพื่อจัดลำดับก่อนหลังในการให้การรักษาพยาบาล
เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ภายในเวลาที่เหมาะสมกับทรัพยากรที่มีในยามฉุกเฉิน ภายใต้ทรัพยากรทางการแพทย์ที่มีอยู่อย่างจำกัดและขาดแคลน
การใช้โอกาสในการรอดชีวิตมาเป็นปัจจัยสำคัญ ในการพิจารณาเลือกผู้ป่วยที่จะได้รับการรักษาในสภาวะฉุกเฉินในกระบวนการ Triage ได้สร้างความกังวลใจให้กับกลุ่มผู้พิการ บุคคลทุพพลภาพ รวมถึงผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความเปราะบางด้านสุขภาพ
พวกเขากังวลว่า Triage อาจส่งผลให้พวกเขาไม่ได้รับการเลือกให้เข้าถึงการรักษาพยาบาล
ในสถานการณ์ดังกล่าวแพทย์อาจตัดสินใจใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อรักษาชีวิตของผู้ที่มีโอกาสรอดมากกว่า นั่นคือผู้ป่วยที่มีสภาวะร่างกายปกติ
ยิ่งกว่านั้นพวกเขามองว่า ภายใต้สถานการณ์ที่อาจส่งผลเสียอย่างรุนแรงต่อชีวิตของพวกเขา เช่น ในภาวะโรคระบาดนี้ รัฐยังไม่ได้สร้างกฎหมายที่จะให้ความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลแก่กลุ่มผู้อ่อนแอทางสุขภาพ เช่นกลุ่มของตน
พวกเขามองว่าผู้มีหน้าที่ร่างกฎหมายคือ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” ยังไม่ได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ในการป้องกันไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติติอันไม่เป็นธรรมเนื่องจากสภาวะความพิการ
สิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม นี้เป็นสิทธิที่ผู้มีความบกพร่องทางร่างกายได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายพื้นฐาน (Basic Law) ของประเทศเยอรมนี
ทั้งหมดเป็นสาเหตุให้กลุ่มผู้พิการและผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 9 คนรวมตัวกันยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธสาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อให้ศาลพิจารณาว่าการที่ฝ่ายนิติบัญญัติละเลยในการออกกฎหมายดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
และฝ่ายนิติบัญญัติในฐานะผู้มีหน้าที่สร้างกฎหมายเพื่อประกันความเท่าเทียมและขจัดการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ควรจะมีความรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวอย่างไร
คดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญฯ มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2564 ว่า จากบทบัญญัติในมาตรา 3 (3) วรรคท้ายของกฎหมายพื้นฐานของเยอรมนี กำหนดให้รัฐมีหน้าที่ปกป้องคนพิการจากการเลือกปฏิบัติ ในระบบกฎหมายที่มุ่งไปสู่การมีส่วนร่วมที่เท่าเทียมกันของคนพิการในสังคม การเสียเปรียบเนื่องจากความพิการนั้นไม่สามารถยอมรับให้เกิดขึ้นได้
ในสภาวะวิกฤติทางการแพทย์ที่เกิดการขาดแคลนทรัพยากร หรือการเข้าถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นในการรักษามีอย่างจำกัด มีข้อบ่งชี้ที่สำคัญว่า ผู้พิการเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากความทุพพลภาพทางกาย
แม้ในประเทศเยอรมนีจะมีคำแนะนำทางเทคนิคของสมาคมสหวิทยาการและเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งเยอรมนี (DIVI) สำหรับการตัดสินใจในการดูแลผู้ป่วยหนักในกรณีที่เกิดโรคระบาดและในภาวะวิกฤติ แต่คำแนะนำดังกล่าวไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย
ในสภาวการณ์เช่นนี้ สภานิติบัญญัติในฐานะองค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญย่อมมีผลผูกพันตามรัฐธรรมนูญในการประกันสิทธิของผู้พิการที่ได้รับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ ฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่ออกกฎหมายเพื่อป้องกันความเสียหายและขจัดความเสี่ยงที่ไม่เป็นธรรมที่อาจเกิดขึ้น
การประกันความปลอดภัยทางกฎหมายนี้เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติไม่ได้ดำเนินการดังกล่าวอย่างเพียงพอ ถือว่าฝ่ายนิติบัญญัติกระทำการอันขัดกับรัฐธรรมนูญ
ในคำพิพากษาดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งให้ฝ่ายนิติบัญญัติดำเนินการออกกฎหมายที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองผู้พิการในกระบวนการคัดเลือกผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉิน หรือ Triage โดยทันที
คำพิพากษาดังกล่าวเป็นก้าวย่างที่สำคัญของฝ่ายตุลาการ ที่ต้องพิจารณาใช้อำนาจโดยไม่ก้าวล่วงถึงหลักการแบ่งแยกอำนาจระหว่างองค์กรนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ
แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงการให้คำตอบที่สำคัญกับสังคม ถึงหน้าที่ของกฎหมายที่ควรมีในสภาวะวิกฤติ เช่นในสถานการณ์โรคระบาดเช่นในปัจจุบันเช่นกัน.