พัฒนา "ระบบเฮลท์แคร์” แบบผู้บริหารคนใหม่ "รพ.วิมุต กลุ่มพฤกษา"
การมีผู้บริหารใหม่ จะทำให้บริการรพ.วิมุต และเฮลท์แคร์ของกลุ่มพฤกษาเปลี่ยนไปอย่างไร “กรุงเทพธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุต โฮลดิ้ง จำกัด คำตอบว่า “การดูแลสุขภาพครบวงจรทุกมิติ ธุรกิจมีกำไรพอสมควร และคืนกำไรให้สังคมด้วย”
หลังเกษียณอายุราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมการแพทย์ในปี 2565 “นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์” ตั้งใจพัก1-2 เดือน ทว่า ได้รับการทาบทามจากรุ่นพี่ที่เคารพให้รับตำแหน่งผู้บริหารในภาคเอกชน แต่ยังกังวลเรื่องข้อกฎหมาย ได้ทำหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เมื่อได้รับคำตอบว่า “สามารถทำได้ไม่ขัดกฎหมายเพราะกรมการแพทย์เป็นกรมวิชาการ ไม่ได้มีหน้าที่ดูแล ควบคุมรพ.เอกชน”
จึงตอบตกลงรับตำแหน่ง ด้วยเหตุผลสำคัญ ที่นี่มีนโยบายต่อระบบสุขภาพตรงกัน คือ “มีกำไรพอสมควรแต่มีส่วนช่วยสังคมได้ด้วย” โดย “นพ.สมศักดิ์” จะรับผิดชอบในกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลและธุรกิจเฮลท์แคร์ต่าง ๆ ภายใต้บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)
“มีโอกาสหารือกับระดับนโยบายของกลุ่มพฤกษา คุณทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ และคุณอุเทน โลหชิตพิทักษ์ว่า เข้าใจถึงการที่เอกชนต้องทำกำไร แต่ไม่ใช่แค่ธุรกิจเท่านั้น ถ้าคืนกำไรให้สังคมได้ด้วย ก็เป็นเรื่องที่ดี โดยมีกำไรพอสมควรให้ธุรกิจเติบโต อยู่ได้แบบยั่งยืน เมื่อเห็นตรงกันจึงเข้ามารับตำแหน่ง”นพ.สมศักดิ์กล่าว
การเข้ามาทำงานไม่ใช่แค่รพ.วิมุต แต่เป็นวิมุตโฮลดิ้ง มีหลายส่วนทั้งอยู่ในและนอกรพ. และเนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมสูงอายุ ถ้าจะต่อยอดไปเนิร์สซิ่ง โฮม และเวลเนส ก็จะครบวงจร และจะตอบโจทย์คนชั้นกลางอีกกลุ่มที่พ่อแม่ติดเตียงไปไหนไม่ได้ ก็จะมีบริการอย่างครอบคลุม
เมื่อข้ามการบริหารจากภาครัฐมาสู่ภาคเอกชนความเหมือนและแตกต่าง “นพ.สมศักดิ์” บอกว่า เอกชนเน้นที่ประสิทธิภาพ ทำกำไร แล้วถ้าคืนประโยชน์ให้สังคมได้ก็ดี
เพราะฉะนั้น ถ้าฝั่งราชการมุ่งเน้นที่ผลลัพธ์ จึงไม่น่าแตกต่าง ซึ่งส่วนตัวพยายามเน้นเรื่องงานเป็นหลัก โดยมีแนวทางที่ยึดมาตลอด คือ “เรียนรู้ตลอดชีวิต” ยิ่งข้ามสายการบริหาร ก็ยิ่งต้องเรียนรู้มากขึ้น รวมถึง มองประโยชน์ส่วนรวมด้วยนอกเหนือจากธุรกิจ ก็จะเป็นเรื่องที่ดี อย่ามองตัวเองเป็นหลัก ให้มองพ้นจากตัวเองด้วย ถ้าทำงานแบบนี้ได้ ก็จะสนุกทุกวัน
สำหรับการดำเนินงานจากนี้ ในส่วน Health Care ของเครือพฤกษานั้น ต้องการให้เกิด “บริการทางการแพทย์ที่ไร้รอยต่อและครบวงจร” อย่างที่ผ่านมามีบ้านหมอวิมุตที่รังสิต คลอง 3แล้วส่งต่อมารพ.วิมุตหากมีความจำเป็น ถ้าเป็นกลุ่มอายุที่ติดเตียงก็มีเนิร์สซิ่งโฮม ถ้ายังไม่ใช่ก็จะมี Wellness และเดย์แคร์ ก็จะครบวงจรได้
นอกจากนี้ “วิมุต” มีแผนทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเฮลท์แคร์อื่นๆอีก อาทิ การส่งเสริมป้องกันเชิงดิจิทัล ซึ่งอีก 2-3 ปีข้างหน้าน่าจะตลาดที่เป็นคำตอบของสังคม หรือ วิมุตแอฟพลิเคชัน ที่บริการเรื่องเทเลเมดิซีน รวมถึง บริการเจาะเลือดไม่ต้องมารพ. หรือการส่งยาให้ทางไปรษณีย์ เป็นต้น
“สิ่งที่ทำไปแล้วมีการไปเทครพ.เทพธารินทร์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเรื่องโรคเบาหวาน ต่อมไร้ท่อ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และการส่งเสริมป้องกันร้าค แต่อาจจะดำเนินการในแง่วิชาการ โดยรูปแบบอาจจะยังเป็นอะนาล็อกก็จะเอาเรื่องดิจิทัลเข้าไปเสริมบริการ มีการแชร์ทรัพยากรระหว่างกัน และมาต่อยอดกับรพ.วิมุต เป็นสิ่งที่จะพยายามเชื่อมข้อดีเข้าด้วยกัน ก็จะทำให้สามาถบริการได้ดีมากขึ้น” นพ.สมศักดิ์กล่าว
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โรคโควิด-19ระบาด ทำให้คนไข้ต่างชาติหาย อย่างไรก็ตาม เดิมมุ่งเป้าที่กลุ่มคนไข้ Middle ไปจนถึง Upper Middle แต่ไม่ถึง Upper รวมถึง กลุ่มคนไข้ต่างชาติโดยในกลุ่มนี้จะดูแลเฉพ่ะทางในบางเรื่อง และอาจจะขยายฐานเรื่องการผ่าตัด การดูแลทั่วไป
เป้าหมายHealthcare กลุ่มพฤกษา นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า จะทำให้ครบวงจร โดยปัจจุบันกำลังต่อจิ๊กซอว์ให้ครอบคลุม อีกทั้ง จะคืนกำไรให้กับคนที่ซื้อบ้านพฤกษาได้ด้วยก็ดี เมื่อซื้อบ้านพฤกษาระดับนี้มีแพคเกจการดูแลสุขภาพแบบนี้ เช่น ซื้อทาวน์เฮาส์พฤกษามาดูแลรักษาที่รพ.วิมุต แล้วมีส่วนลด เป็นต้น และดูแลสังคม คนชั้นกลางในกรุงเทพฯด้วย อย่างกรณี ผ่าไส้ติ่ง ไม่รู้จะไปที่ไหน รพ.วิมุตสามารถมาดูแลตรงนี้ได้หรือไม่ โดยรพ.จะพยายามคงอัตราค่าบริการที่เหมาะสม ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ตั้งใจดำเนินการ
“จะมีการประสานความร่วมมือกับรพ.รัฐด้วย ในกรณีที่คนไข้รัฐอาจจะต้องรอคิวนาน อย่างการผ่าตัด ให้สามารถมารักษาที่รพ.วิมุตได้ โดยมีคิวที่สั้นกว่า ในอัตราค่าบริการที่เทียบเท่ากับส่วนของรพ.รัฐที่เป็นกึ่งเอกชน ซึ๋งเป็นการบ้านที่จะต้องขับเคลื่อนต่อไป โดยยึดคนไข้เป็นหลัก ได้รับบริการที่มีคุณภาพ ในราคาที่เหมาะสม และใช้เวลาน้อยในการรอคิว” นพ.สมศักดิ์กล่าว
ท้ายที่สุด “นพ.สมศักดิ์” มองว่า ภาคเอกชนจะมีส่วนไปเกื้อและหนุนเสริมภาครัฐได้อย่างดี กรณีการระบาดของโรคโควิด-19เห็นได้ชัดเจน ถ้าไม่มีรพ.เอกชนนั้น การให้บริการดูแลผู้ป่วยในกรุงเทพฯจะวุ่นแน่นอน หรือรพ.เอกชนที่ดูแลสิทธิ์บัตรทอง 30 บาท ประกันสังคม
รวมถึง หากมีการหารือร่วมกันเพื่อคิดแพคเกจร่วมที่ให้บริการประชาชน แบบกรณีUCEP ที่เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติถึงแก่ชีวิตสามารถเข้ารักษาในรพ.ใกล้ที่สุดแห่งไหนก็ได้ทั้งรัฐและเอกชน ก็จะ WIN WIN
แต่ละภาคส่วนย่อมมีบทบาทของตัวเอง แน่นอนภาคเอกชนต้องทำกำไร แต่ต้องมองว่าตรงไหนที่เป็นจุดที่พอเหมาะพอควร และสมดุล เพราะ “ธุรกิจรพ.ก็คือชีวิตคนด้วย”