ร้านหมูกระทะ-อาหาร มีความผิดด้วย ใช้เนื้อสัตว์มีสารฟอร์มาลีน
หลังกรมปศุสัตว์บุกยึดอายัดเครื่องใน และเนื้อสัตว์แช่ถังสารฟอร์มาลิน ส่งขายร้านหมูกระทะในพื้นที่ชลบุรี ล่าสุดกรมอนามัยระบุ ร้านอาหารที่รับซื้อหากตรวจพบมีความผิดด้วย
ปศุสัตว์อายัดเนื้อสัตว์แช่ถังสารฟอร์มาลิน
นสพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า เปิดเผยว่าได้รับรายงานจาก นสพ.ชุติพนธ์ ศิริมงคลรัตน์ ผู้อำนวยการกองสารวัตรและกักกัน กรมปศุสัตว์ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2565 นสพ.จิรภัทร อินทร์สุข หัวหน้าด่านกักกันสัตว์ชลบุรี พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ ได้เข้าตรวจสอบสถานประกอบกิจการผลิตแปรรูปวัตถุดิบเนื้อและเครื่องในสัตว์รายใหญ่ แห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี สืบเนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่ามีการลักลอบผลิตเนื้อสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาตหวั่นแพร่โรคระบาดสัตว์ร้ายแรง
ผลการเข้าตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่าสถานประกอบการดังกล่าว
- ไม่มีการขออนุญาตผลิตอาหาร
- ไม่มีเอกสารใบอนุญาตค้าซากสัตว์(ร.10)
- ไม่มีเอกสารเคลื่อนย้ายซากสัตว์(ร.3)
- และไม่มีเอกสารรับรองให้จำหน่ายเนื้อสัตว์(รน.)
มีความผิดตามพระราชบัญญัติโรคระบาด พ.ศ.2558 พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559
ยังพบการผลิตวัตถุดิบชิ้นส่วนเครื่องในโค ชิ้นส่วนเครื่องในสุกร มีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ประกอบด้วย ฟอร์มาลิน โซดาไฟ และไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์
พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้ทำการยึดอายัดของกลางชิ้นส่วนเนื้อ และเครื่องในสุกรและโคที่อยู่ในสถานประกอบการและในตู้แช่เย็นคอนเทนเนอร์ จำนวนกว่า 25,000 กิโลกรัม
สารเคมีและแกนลอนบรรจุสารฟอร์มาลิน ขนาด 25 ลิตร จำนวนกว่า 50 แกนลอน รวมถึงได้ยึดใบเสร็จกว่า 2,300ใบ ที่มีหลักฐานการขายให้กับลูกค้าร้านหมูกะทะ และร้านอาหารอีสาน จำนวนกว่า 66 ราย
และในส่วนของชิ้นส่วนสไบนาง ที่ผลิตแปรรูปนั้นแช่อยู่ในถังน้ำผสมสารฟอร์มาลิน พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้สั่งยึดอายัดไว้ และเก็บตัวอย่างเนื้อและเครื่องในสัตว์ นำส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ สำนักตรวจสอบคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ เพื่อตรวจหาเชื้อโรคปนเปื้อนที่เป็นอันตรายและตรวจหาสารเคมีตกค้าง (ฟอร์มาลิน)
อาการหลังกินเนื้อสัตว์มีสารฟอร์มาลีน
จากกรณีดังกล่าว นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ฟอร์มาลีนหรือน้ำยาแช่ศพเป็นน้ำยาที่อันตรายต่อสุขภาพ การกินเนื้อสัตว์ที่มีสารฟอร์มาลีนเข้าไป อาการจะขึ้นกับปริมาณที่ได้รับ
- ถ้ารับน้อยๆ อาจจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน บางคนมีอาการเวียนศีรษะ
- ถ้ารับปริมาณมากๆ ก็อาจมีอาการรุนแรงมากขึ้นได้
“การรับสารฟอร์มาลีนมากๆ โดยตรงก็อาจอันตรายถึงชีวิตได้ แต่คนที่กินหมูกระทะแล้วอาจกังวลนั้น ตามปกติเราคงไม่ได้กินหมูกระทะกันทุกวันที่จะสะสมจนเป็นอันตราย หากมีระยะห่างก็สามารถกำจัดได้”นพ.อรรถพลกล่าว
อย่างไรก็ตาม ไม่ควรมีสารฟอร์มาลีนในเนื้อทุกชนิดเลย ซึ่งการขายเนื้อสัตว์ในตลาดนั้น สารฟอร์มาลีนและสารเร่งเนื้อแดงเป็นข้อบ่งชี้ที่ตลาดจะต้องมีการสุ่มตรวจ ยิ่งตลาดที่ได้มาตรฐานติดดาวหรือตลาดที่ได้มาตรฐานกรมอนามัย จะต้องมีการสุ่มตรวจสารพวกนี้ว่าไม่มีสารฟอร์มาลีนและสารเร่งเนื้อแดงอยู่ในเนื้อ
ร้านหมูกระทะมีความผิดด้วย
สำหรับร้านหมูกระทะหรือร้านอาหารต่างๆ กรมอนามัยมีมาตรฐานร้านอาหารที่กำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบกิจการอาหารและผู้สัมผัสอาหารว่า จะต้องดูแลอะไรอย่างไรบ้าง เช่น
แหล่งที่มาอาหารเป็นอย่างไร ได้คุณภาพหรือไม่ ไม่เฉพาะเนื้อสัตว์ แต่รวมไปถึงวัตถุดิบอื่นๆ ด้วย การล้าง การเก็บ วัตถุดิบก็ต้องได้มาตรฐาน
“ตามปกติร้านอาหารก็ควรจะต้องมีการตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของเนื้อสัตว์หรือวัตถุดิบต่างๆ ก่อนซื้อเข้ามาด้วย เพราะหากมีการ ตรวจพบว่า ร้านอาหารมีการใช้เนื้อสัตว์ที่มีสารฟอร์มาลีนแบบนี้ก็จะมีความผิดเช่นกัน ซึ่งการเปิดกิจการอาหารได้จะต้องได้รับใบอนุญาต หลังจากได้รับใบอนุญาตเจ้าพนักงานท้องถิ่นก็จะมีการลงไปสุ่มตรวจอยู่แล้ว”นพ.อรรถพลกล่าว
ท้องถิ่นต้องสุ่มตรวจเนื้อสัตว์มีสารฟอร์มาลีน
นพ.อรรถพล กล่าวอีกว่า การลงไปตรวจเพิ่มกรณีเนื้อสัตว์และเครื่องในจากโรงงานดังกล่าวที่มีการใช้สารฟอร์มาลีนส่งไปขายในร้านหมูกระทะและร้านอาหารอีสาน เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่นในเขตพื้นที่นั้นๆ ที่จะต้องลงไปสุ่มตรวจ
อย่างเช่น พื้นที่กทม.ก็จะเป็นสำนักงานเขตที่ต้องลงไปดู หรือต่างจังหวัดก็ต้องเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ที่จะต้องลงไปตรวจสอบ ซึ่งอาจจะขอความร่วมมือร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)ลงไปตรวจร่วมกันได้ เพราะจะมีการตรวจด้วยน้ำยาสามารถบอกได้ว่าเนื้อสัตว์มีสารฟอร์มาลีนหรือไม่