เปิดงานวิจัย "กัญชาทางการแพทย์"กับ "โรคจิตเวช"
กรมสุขภาพจิตเปิดงานวิจัยกัญชาทางการแพทย์ ด้านจิตเวช เผยผลต่อโรคPTSD -ซึมเศร้า-ไบโพลาร์-สมองเสื่อม และความสัมพันธ์กับอาการจิตเวช
เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2565 ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีการประชุมวิชาการกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก (DTAM Forum) ประเด็น "งานวิจัยกับการใช้กัญชาในการดูแลสุขภาพ" นพ.บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวถึง “งานวิจัย กัญชาทางการแพทย์ด้านจิตเวช” ว่า มีการวิจัยกัญชาเพื่อใช้ในโรคจิตเวชค่อนข้างมาก โดยเฉพาะต่างประเทศ ซึ่งมีตั้งแต่โรควิตกกังวลทางสังคม โดยผลค่อนข้างดี
การใช้กัญชากับกลุ่มโรคเครียดที่เกิดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (กัญชากับกลุ่มPTSD) ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียารักษาเฉพาะ แต่พบว่ากัญชามีกลไกเข้าไปลดตัวกระตุ้นในสมอง ทำให้ดีขึ้นร่วมกับการนอนและความฝันก็จะลดลง
ส่วนกรณี โรคซึมเศร้า ผลยังไม่ชัดเจน บางงานวิจัยระบุว่าสารTHCไปเพิ่มภาวะการฆ่าตัวตาย(suicide) อย่างไรก็ตาม ข้อมูลปัจจุบันค่อนข้างชัดว่าสารสกัดกัญชา ช่วยเรื่องการนอนหลับได้ดีขึ้น แต่ระยะยาวยังมีผลข้างเคียงที่ไม่ชัดเจน จึงต้องศึกษาต่อว่าดื้อยาหรือฤทธิ์จะยังคงอยู่หรือไม่
กลุ่มโรคไบโพลาร์ พบว่าอาการช่วงขาขึ้น(mania) จะดี แต่ยังมีปัญหาในช่วงขาลงที่เป็น(depressive)
4 ข้อกัญชาด้านจิตเวช
สรุปกัญชาด้านจิตเวช 4 เรื่อง คือ
1.โอกาสในการใช้สารCBD ในเรื่องกลุ่มโรควิตกกังวล หรือ PTSD ดีขึ้น สารสกัดที่ใช้บำบัดสารเสพติด ตอนนี้เริ่มมีงานวิจัยเยอะขึ้น มีการพูดถึงการเอามาลดใช้แอลกอฮอล์มากขึ้น
2.ผลลัพธ์ที่ยังไม่ชัดเจน ยังต้องอาศัยการติดตามผลระยะยาว เช่นกลุ่มโรคด้านอารมณ์ โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ ส่วนหนึ่งที่เราห่วงจากหลายงานวิจัย ระบุว่า ลดซึมเศร้าได้ แต่ไปเพิ่มภาวะการฆ่าตัวตาย(suicide)
3.CBD อาจเป็นประโยชน์ในกลุ่มโรคที่มีความผิดปกติทางความคิดและการรับรู้เป็นหลัก(Psychotic disorder) แต่ขณะเดียวกันทีเอชซีอาจทำให้อาการทางจิตแย่ลง
4.โอกาสการใช้กัญชาเพียวๆ อาจมีผลต่อการฆ่าตัวตาย(suicide) จึงต้องระวังเรื่องนี้พอสมควร
อาการจิตเวชที่สัมพันธ์ใช้กัญชาทางการแพทย์
ในส่วนของกรมสุขภาพจิต มีงานวิจัยหลายตัว โดยดูทั้งด้านลบและด้านบวก และมีงานวิจัยที่เสร็จแล้ว อาทิ
อาการจิตเวชที่สัมพันธ์กับผู้ที่ใช้กัญชาทางการแพทย์ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ตีพิมพ์แล้ว เป็นการใช้ข้อมูลของผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์จากระบบรายงานการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ปีงบประมาณ 2563 จำนวน 6,202 ราย
ผู้ที่ใช้กัญชาระยะสั้นและใช้แบบเกรดทางการแพทย์ พบว่า
- ไม่ค่อยพบปัญหาทางจิตเวช ไม่เกิดอาการทางจิตเวช 96.73 % โดยจะเจออาการจิตเวชอยู่ที่ 3.27 % พบมากที่สุด ได้แก่อาการซึมเศร้า 2.05 %
- ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเกิดอาการทางจิตโดยรวมอย่างน้อย 1 อาการขึ้นไป หลังได้นีบกัญชาทางการแพทย์ มีเพียงปัจจัยเดียวที่สัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ อาการสำคัญที่มารักษา/ข้อบ่งชี้
- มี 4 ข้อบ่งชี้ คือ ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคพาร์กินสัน โรคปลอกประสาทอักเสบอื่นๆ และมีตั้งแต่ 2 อาการร่วมกัน
- เมื่อแยกตามการเกิดอาการทางจิตเวช พบปัจจัยด้ายอายุ เพศ อาการสำคัญที่มารักษา/ข้อบ่งชี้ และชนิดกัญชาทางการแพทย์สัมพันธ์กับอาการทางจิตเวชบางอาการมากขึ้น เช่น ความวิตกกังวล และซึมเศร้า
สรุป ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเกิดอาการทางจิตเวช อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ อาการสำคัญที่มารักษา/ข้อบ่งชี้ ของผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์ ดังนั้น การรักษาด้วยกัญชาทางการแพทย์ จึงควรเฝ้าระวังการเกิดอาการทางจิตเวช
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดงานวิจัยนี้ คือ เป็นการวิเคราะห์ข้อมูล Secondary data และเป็นข้อมูลที่มีอยู่แล้วจากสถานพยาบาล 26 แห่ง
กัญชากับผู้ป่วยสมองเสื่อม
การศึกษาความปลอดภัยและความทนต่อน้ำมันกัญชาในการรักษาอาการBPSD (พฤติกรรมอารมณ์และจิตใจ) ของผู้ป่วยสมองเสื่อม รพ.ศรีธัญญา โดยอาสาสมัครได้รับน้ำมันกัญชาชนิด THC ขนาด 2.5 มิลลิกรัม 5 หยด 2 เวลา จำนวน 28 วัน อาสาสมัครมีภาวะสมองเสื่อมระดับน้อย ผลการศึกษาพบว่า
- ในผู้สูงอายุที่ได้รับน้ำมันกัญชา THC 5 มิลลิกรัมต่อวัน เวลา 28 วัน สามารถลดอาการ BPSD ในอาสาสมัครสมองเสื่อมระดับน้อยได้ ทำให้อาสาสมัครอาการดีขึ้น
- การประเมินอาการทางจิตประสาทของผู้ป่วยสมองเสื่อม (Neuropsychiatric Inventory Questionnaire Thai version) มีความรุนแรงลดลงแสดงให้เห็นว่าอาสาสมัครมีอาการดีขึ้น และมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้น
- แต่งานวิจัยชิ้นนี้มีอาสาสมัครเพียง 2 ราย จึงควรเพิ่มตัวอย่างให้มากขึ้น เพื่อนำผลมาวิเคราะห์ต่อไป
9 ข้อแนะนำลดเสี่ยงจากกัญชา
ข้อแนะนำเพื่อลดความเสี่ยงจากการใช้กัญชา
1.ควรแนะนำให้ผู้ป่วยรักษาโรค หรืออาการของโรคตามมาตรฐานทางการแพทย์ปัจจุบัน
2.ไม่ควรเริ่มใช้ในผู้ป่วยที่มีอายุน้อย(แนะนำให้ใช้กับผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 16 ปีขึ้นไป)
3.ควรแนะนำให้ผู้ป่วยชิผลิตภัณฑ์กัญชาที่มีอัตราส่วน CBD:THCสูง เพราะมีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนว่าCBD ช่วยลดผลข้างเคียงที่เกิดจากTHC
4.ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาที่ได้จากการสังเคราะห์
5.การสูบกัญชาแบบเผาไหม้เป็นประจำส่งผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจ ไม่ควรใช้การสูบกัญชา
6.การใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาในความถี่สูง หรือมีความเข้มข้นสูง เสี่ยงเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ
7.แนะนำให้งดการขับขี่ยานพาหนะ หรือการทำงานกับเครื่องจักรไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง หลังจากการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา
8.ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา ในกรณีผู้ป่วยมีประวัติครอบครัวเป็นโรคทางจิตเวช ผู้ติดยาและสารเสพติดอื่นๆหรือหญิงตั้งครรภ์
9.หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา ในกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยงหลายประการด้วยกัน เช่น ผู้มีอายุน้อย