7 ข้อห้าม “ช่อดอก”กัญชากัญชง พร้อมปรับคุม “โซนนิ่งสูบ”
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) “ช่อดอกกัญชากัญชง”เป็นสมุนไพรควบคุม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 24 พ.ย.2565 ผู้ประกอบการต้องขออนุญาต จ่อปรับเพิ่มคุม “โซนนิ่งสูบ” หลังมีผู้ประกอบเลี่ยงกฎหมายเปิดบริการ เตือน “แพทย์แผนไทย” โผล่นั่งในร้านขายปล่อยให้สูบ มีความผิด
เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2565 ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แถลงข่าวชี้แจงมูลเหตุการคุมช่อดอกกัญชาและแนวทางปฏิบัติในการใช้กฎหมาย สมุนไพรควบคุมว่า การที่กรมกำหนดให้เฉพาะช่อดอกกัญชากัญชงเป็นสมุนไพรควบคุม เนื่องจากเป็นส่วนที่มีสารTHC มาก
ในไทย ช่อดอกมีTHCประมาณ 5-20%บางพันธุ์มากถึง 30% ขณะที่ใบ กิ่ง ราก เมล็ด มี THC น้อย เช่น ใบมีTHCประมาณ 0.2% มี CBD 2 % ทำให้ฤทธิ์ THC ที่มีผลต่อจิตประสาทลดลง เพราะมีตัวหักล้าง จึงเป็นที่มาของการคุมเฉพาะช่อดอก
ในส่วนข้อซักถามกรณีที่มีผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาต จำหน่ายช่อดอก จัดพื้นที่เฉพาะนอกสถานประกอบการแต่ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะไว้สำหรับการสูบ นพ.ธงชัย กล่าวว่า หากพิจารณาเฉพาะตามประกาศฉบบันี้ ก็เหมือนกับการเลี่ยงกฎหมาย ซึ่งถ้าสามารถเชื่อมโยงตามประกาศฉบับนี้ได้ก็ถือว่าผิด แต่ถ้าเชื่อมโยงไม่ได้ก็อาจจะหลุดรอดไป แต่อาจจะไม่ได้หลุดรอดกฎหมายฉบับอื่น ก็ต้องไปดูว่าสิ่งที่ทำนั้น มีข้อที่ผิดกฎหมายอื่นๆหรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
“อยากเชิญชวนผู้ประกอบการช่วยกันใช้ประโยชน์จากกัญชา อย่าหาวิธีการหลบเลี่ยงเพื่อใช้เหตุอื่น เช่น สันทนาการ เป็นต้น และไม่คิดว่าการที่มีประกาศควบคุมแบบนี้แล้วจะทำให้จำหน่ายได้ลดลง แต่ถ้าควบคุมไว้ให้ดี ไม่ให้มีโอกาสเกิดผลกระทบในคนที่สูบในที่นั้นๆ แต่ถ้านำกลับไปสูบที่บ้านเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้และเข้าใจว่าทำเพื่อประโยชน์ใด” นพ.ธงชัยกล่าว
ถามต่อว่าเมื่อประกาศฉบับนี้คุมได้เฉพาะห้ามสูบ ณ จุดขาย เป็นไปได้หรือไม่ที่จะห้ามผู้ประกอบการจัดพื้นที่บริการสูบ(โซนนิ่ง)ด้วย นพ.ธงชัย กล่าวว่า ตอนที่พิจารณาออกประกาศนั้น คิดไปไม่ถึงว่าจะมีคนมีความพยายามเป็นอย่างมากที่จะหาทางเลี่ยง และหากประเด็นนี้มีความสำคัญ ก็สามารถปรับปรุงแก้ไขประกาศให้ห้ามสถานประกอบการที่ได้รับอนุญาต จัดพื้นที่สูบได้
โดยขั้นตอนก็จะนำเข้าพิจารณาในอนุกรรมการด้านกฎหมาย ก่อนเสนอคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยพิจารณาต่อไป ซึ่งการออกเป็นประกาศสามารถปรับเปลี่ยนได้ เหมือนกับก่อนหน้านี้ที่กำหนดให้ทั้งหมดของกัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม ต่อมามีการแก้ไขปรับปรุงกำหนดเฉพาะช่อดอกเท่านั้น
สำหรับสาระสำคัญของประกาศช่อดอกกัญชากัญชงเป็นสมุนไพรควบคุม
1.ห้ามใช้ ช่อดอกไปศึกษาวิจัย ส่งออก จำหน่ายหรือแปรรูปก่อนได้รับอนุญาต ซึ่งจำหน่ายหมายรวมถึง ขาย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ทั้งนี้ ผู้ที่ดำเนินการโดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีความผิดมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.ห้ามจำหน่ายให้กับผู้ที่มีอายุ ต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ หรือสตรีให้นมบุตร นักเรียน นิสิต หรือนักศึกษา
3.ห้ามจำหน่ายเพื่อการสูบในสถานประกอบการ เว้นแต่เป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรมเพื่อการรักษาผู้ป่วยของตน
“กรณีนี้ก็มีการพยายามเลี่ยงด้วยการให้หมอแผนไทยมานั่งในร้านแล้วบอกว่าสามารถจำหน่ายและสูบในร้านได้ เพราะมีหมอแผนไทยอยู่ ย้ำว่าแบบนี้ทำไม่ได้ เพราะข้อกำหนดของการประกอบวิชาชีพเวชกรรมแพทย์แผนไทย ต้องให้บริการในสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตถูกต้อง หากแพทย์แผนไทยมานั่งในร้านจำหน่ายช่อดอกแล้วปล่อยให้มีการสูบในร้าน แพทย์แผนไทยรายนั้นก็จะมีความผิดตามกฎหมายประกอบวิชาชีพเวชกรรม จะมีโทษอาญา จำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท ส่วนร้านก็มีโทษพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต”นพ.ธงชัยกล่าว
4.ห้ามจำหน่ายเพื่อการค้าผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์หรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์
5.ห้ามโฆษณาในทุกช่องทางเพื่อการค้า
6.ห้ามสูบในสถานที่ต้องห้าม ได้แก่ วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรรมทางศาสนา หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์และสวนสนุก ส่วนสถานศึกษานั้นมีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)กำหนดไว้อยู่แล้ว
7. ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กำหนดไว้ชัดเจนว่า “ห้ามนำช่อดอกมาเป็นส่วนประกอบในอาหาร”
ขณะที่ นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบกรมแพทย์แผนไทยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมจะมีการประชุมและร่วมมือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ อย่างเช่น ประกาศนี้ ห้ามขายออนไลน์ ห้ามโฆษณาออนไลน์เกี่ยวกับช่อดอก ซึ่งจะสอดคล้องกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯด้วย มีโทษหนักกว่าประกาศฉบับนี้ ซึ่งหากเป็นการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จหรือแอบอ้าง โดยใช้รูปเจ้าหน้าที่ไปแอบใช้ ตรงนี้มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับเป็นแสนบาท ดังนั้น ข้อกำหนดในประกาศสมุนไพรควบคุมนี้ จะสอดคล้องกับความผิดในกฎหมายอื่นด้วย
ผู้ประกอบการ รวมถึงประชาชนทั่วไป ที่จะมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์กัญชาในเชิงพาณิชย์และทำการค้า ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดก็ตาม ต้องขออนุญาตจำหน่ายหรือแปรรูปสมุนไพรควบคุม เพื่อการค้า ถ้าอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ต้องยื่นขออนุญาต ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดย กองคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้านไทย หากอาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด ต้องขออนุญาตจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่ท่านอาศัยอยู่
หากมีข้อสงสัยหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ กองคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้านไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โทร. 0 2149 5607-8 หรือ 0 2591 7007 ต่อ 3708, 3713