อะไรซุกอยู่ใน "ร่างพรบ.กัญชากัญชง" ผ่านมา 6 เดือนยังออกจากสภาฯไม่ได้!

อะไรซุกอยู่ใน "ร่างพรบ.กัญชากัญชง" ผ่านมา 6 เดือนยังออกจากสภาฯไม่ได้!

ผ่านมาแล้ว 6 เดือน ที่”กัญชา”ถูกปลดล็อกจากยาเสพติด แต่สภาผู้แทนราษฎร ยังไม่เห็นชอบ “ร่างพรบ.กัญชากัญชง”ออกมาใช้ควบคุม มีอะไรซุกอยู่ในกฎหมายนี้ หรือท้ายที่สุดแล้ว “กัญชา”จะต้องกลับไปเป็นยาเสพติดเช่นเดิม

ตัดมาตรา 3 กัญชาไม่คืนสู่ยาเสพติด

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรล่าสุด ที่พิจารณาร่างพรบ.กัญชากัญชง พ.ศ.....มีเพียงการให้ตัดมาตรา 3 ที่กำหนดว่า “กัญชาไม่ใช่ยาเสพติด” ออกทั้งหมด

จนมีการตีความไปว่า “ทำให้กัญชาต้องกลับไปเป็นยาเสพติด” ซึ่งเป็นคนละเรื่อง!

เพราะการ “ปลดกัญชาออกจากยาเสพติด” นั้น เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุชื่อยาเสพติดประเภท 5 ซึ่ง “ไม่มีการระบุชื่อกัญชา”ไว้ จึงทำให้ “กัญชาไม่ใช่ยาเสพติดประเภท5”

ดังนั้น แม้จะมีการตัดมาตรา 3 ดังกล่าวออกจากร่างพรบ. ก็ไม่ได้แปลว่า “กัญชาต้องกลับไปเป็นยาเสพติด”
 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

และการที่ต้องออก พรบ.กัญชากัญชง ก็เพื่อมารองรับหลังจากที่ “กัญชาไม่ใช่ยาเสพติด”แล้ว  เป็นกฎหมายเฉพาะที่ใช้ควบคุม เช่นเดียวกับ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ ที่มีพรบ.ควบคุมเฉพาะเช่นกัน 

      “ถ้าถามว่าตอนนี้กัญชายังเป็นยาเสพติดหรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับร่างพรบ.นี้   ณ ปัจจุบัน กัญชาไม่ถือเป็นยาเสพติด เว้นเพียงสารสกัดที่มีค่า THC เกิน 0.2 % โดยน้ำหนักเท่านั้นที่ยังเป็นยาเสพติดอยู่” 

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ กล่าว   

        และถ้ากัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีส่วนของกัญชาจะออกไม่ได้เลย ซึ่งปัจจุบัน อย.มีการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพจากกัญชากัญชงแล้วกว่า 2,200 รายการทั้งที่เป็นยา สมุนไพร อาหาร เครื่องสำอาง

ขั้นตอนนำ “กัญชา”กลับเป็นยาเสพติด

อย่างไรก็ตาม  มีการวิเคราะห์ว่า การที่ให้ตัด “มาตรา 3 ออกทั้งหมด”นั้น เป็นการปูทางสายแรก ที่จะนำไปสู่การทำให้ “กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด”

เพราะหากมีการกำหนด “กัญชาไม่ใช่ยาเสพติด”ไว้ในพรบ. อาจจะทำให้การแก้ไขยุ่งยากกว่าแค่การ “ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข”

ซึ่งปัจจุบันมีผู้ยื่นต่อศาลปกครองสูงสุดให้พิจารณา “ยกเลิกประกาศดังกล่าว”และศาลรับฟ้องแล้ว

ทว่า หากศาลปกครองสูงสุด ไม่มีคำสั่งยกเลิกประกาศ การจะแก้ไขประกาศในสมัยรัฐบาลนี้ “เป็นเรื่องยาก”! ด้วยว่าเป็นหนึ่งในนโยบายที่ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) หาเสียงไว้เป็นหลัก

“อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯและรมว.สธ. และหัวหน้าพรรคภท. ซึ่งเป็นคนๆเดียวกันกับผู้ที่มีอำนาจลงนามในประกาศดังกล่าว “คงจะไม่ลงนาม”

และเจ้าตัวเองก็เคยพูดเรื่องนี้ เมื่อถูกถามถึง “กัญชาจะกลับไปเป็นยาเสพติด”ไว้ว่า “The river has no return”(สายน้ำไม่ไหลย้อนกลับ)

ทั้งนี้ ขั้นตอนพิจารณาที่จะให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดนั้น

  • เริ่มจาก การพิจารณาเสนอของอนุกรรมการด้านกฎหมาย ในคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ
  • เสนอต่อคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ที่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เป็นประธาน
  • เสนอต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (บอร์ดป.ป.ส.)
  • หากบอร์ดป.ป.ส.เห็นชอบ  ก็จะมีการลงนามในประกาศระบุชื่อยาเสพติด โดยรมว.สธ.

ณ ขณะนี้  คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ไม่ได้มีวาระประชุมพิจารณา เรื่องกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดแต่อย่างใด  

 

สาระสำคัญในร่างพรบ.กัญชากัญชง

นอกจากความกังวลผลกระทบจากกัญชาที่จะเกิดขึ้นต่อสังคม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนแล้ว ในร่างพรบ.กัญชากัญชงนั้น มีอะไรซุกไว้อีกหรือไม่ จึงทำให้ “พรรคร่วมรัฐบาลฝ่ายค้าน” หมายถึงพรรคร่วมรัฐบาลที่ค้านร่างพรบ.นี้ ไม่เห็นด้วย

ลองเปิดแง้มในร่างพรบ.ดังกล่าว มีการกำหนดหลักๆไว้ ได้แก่ 

1.การผลิต ส่งออก ขายต้องได้รับอนุญาต

2.การใช้ในครัวเรือนต้องไม่เกินปริมาณที่กำหนด

3.ห้ามทำการโฆษณาหรือส่งเสริมการตลาด

4.ห้ามขาย ให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และบุคคลอื่นที่กำหนด

5.ห้ามขาย เพื่อสูบหรือเสพ แก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และบุคคลอื่นที่กำหนด

6.ห้ามขายโดยใช้เครื่อง โดยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ โดยการแจก แถม ให้หรือแลกเปลี่ยน โดยเร่ขาย

7.กำหนดสถานที่ห้ามขาย เช่น สถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา  สถานศึกษา หอพัก เป็นต้น

8.ห้ามสูบในสถานที่สาธารณะและสถานที่หรือบริเวณที่กำหนดไว้

9.ห้ามครอบครองกัญชาในที่สาธารณะเกินกว่ากำหนด

10.ห้ามบริโภคขณะขับขี่ยานพาหนะ หรือ ขณะควบคุมเครื่องจักร 

 

เทียบกม.สธ-ร่างพรบ. ควบคุมกัญชา

แม้ที่ผ่านมา สธ.จะมีการงัดกฎหมายในความรับผิดชอบออกมาควบคุมกำกับการใช้กัญชา หลังจากที่ไม่ใช่ยาเสพติดแล้ว มากมายหลายฉบับ

  • กำหนดให้ “ช่อดอกกัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม” ของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
  •  ห้ามนำช่อดอกเป็นส่วนผสมในอาหาร, ผลิตภัณฑ์สุขภาพ  ยา อาหาร เครื่องสำอางที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบจะต้องขออนุญาต ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)
  •  การกำหนดให้ กลิ่นและควันกัญชาเป็นเหตรำคาญ ของกรมอนามัย

แต่จากสาระสำคัญหลักๆที่กำหนดไว้ในร่างพรบ.กัญชากัญชง จะเห็นได้ว่า ยังมีส่วนที่มีการควบคุมมากกว่า “กฎหมายสธ.”   อย่างเช่น

  •  การใช้ในครัวเรือนต้องไม่เกินปริมาณที่กำหนด
  • ห้ามสูบในสถานที่สาธารณะและสถานที่หรือบริเวณที่กำหนดไว้
  • ห้ามครอบครองกัญชาในที่สาธารณะเกินกว่ากำหนด
  • ห้ามบริโภคขณะขับขี่ยานพาหนะ หรือ ขณะควบคุมเครื่องจักร 

"การมีข้อกำหนดระบุไว้ในกฎหมายฉบับเดียวนี้  ผู้ปฏิบัติงานก็จะเห็นทิศทางชัดเจน แม้สธ.จะมีกฎหมายหลายฉบับที่ดูแล แต่ก็ควรต้องมีกฎหมายเฉพาะออกมา”นพ.ไพศาลกล่าว 

เมื่อขณะนี้สถานะ “กัญชาไม่ใช่ยาเสพติด” ก็ควรที่จะต้องเร่งออกพรบ.เฉพาะออกมาควบคุมโดยเร็วหรือไม่ หรือมิเช่นนั้น ก็ต้องเร่งทำให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด

ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ผู้กำหนดนโยบาย และผู้แทนประชาชน ต้องชั่งน้ำหนักผลที่จะเกิดขึ้นทั้งต่อสังคม และเศรษฐกิจ แล้วรีบตัดสินใจดำเนินการ