วิธีที่จะอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 ทำอย่างไรบ้าง
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) โพสต์เฟซบุ๊กประเด็น "โควิด-19" แนะวิธีอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 ทำอย่างไรบ้าง โดยตั้งหัวข้อว่า "ทำอย่างไรจะอยู่ฟ้าเดียวกันกับโควิดได้"
(24 ธ.ค.2565) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กประเด็น "โควิด-19" แนะวิธีอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 ทำอย่างไรบ้าง โดยตั้งหัวข้อว่า "ทำอย่างไรจะอยู่ฟ้าเดียวกันกับโควิดได้"
สู้กับโควิด ไม่มีสูตรใดสูตรหนึ่งเป็นสูตรสำเร็จ คนต้องมีสุขภาพดี วัคซีนไม่ถึงกับต้องมากมายนัก ติดไปแล้วกลับกลายเป็นดีในระยะหลัง (ถ้าไม่เจ๊งจาก ลองโควิด) และต้องระแวดระวังติดตามสถานการณ์เคร่งครัด อาการเริ่มมา สกัดกั้นด้วยยาในทันที
ตัวอย่างประเทศที่มีความสำเร็จอย่างสูง มีความเป็นปึกแผ่นในรากฐานของรัฐบาล วิทยาศาสตร์ และประชาชน เช่น ประเทศเดนมาร์ก ทั้งนี้โดยที่มีระบบสาธารณสุขที่โปร่งใส ใช้วิทยาศาสตร์ในการเข้าใจโควิดอย่างเที่ยงตรงและประชาชนมีความไว้ใจรัฐบาลมาอย่างเนิ่นนาน
ประเทศเดนมาร์กประกาศในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 แล้วว่า เราจะอยู่ใต้ฟ้าเดียวกันกับโควิด ทั้งนี้ ประเทศเดนมาร์กถูกรุกรานด้วยโอมิครอน BA1 ก่อน และถูกแทนที่ด้วยโอมิครอน BA2 และสายต่อๆมา และด้วยความที่เป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าอย่างสูงในการถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสอย่างหมดจดตลอดเวลา ทำให้ทราบข้อมูลจริงของการติดเชื้อ การระบาด และวิเคราะห์แยกแยะความรุนแรงของการเสียชีวิตหรืออาการหนักที่ต้องเข้าโรงพยาบาล
ทั้งนี้ ด้วยต้นทุนทางสุขภาพของประชาชนในประเทศที่แข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวที่เมื่อติดโควิดจากที่ควรจะอาการเบาจะกลายเป็นหนักสาหัส
ทำให้เดนมาร์กประกาศอิสรภาพต่อภาวะเข้มงวดกวดขัน โดยให้คนแข็งแรงหนุ่มสาวเริ่มปฏิบัติอาชีพภารกิจได้อย่างเต็มที่ เพราะถือว่ามีภูมิทางจากการติดเชื้อและจากการฉีดวัคซีน แต่ในขณะเดียวกันตระหนักถึงผู้สูงวัยและผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยมีมาตรการในการป้องกันและรักษากลุ่มคนเปราะบางเหล่านี้
ความเป็นไปของประเทศเดนมาร์กต่างกันอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งประสบกับโอมิครอนในลักษณะเดียวกัน แต่ต่างกันตรงสุขภาวะ สุขภาพของประชาชนไม่ได้ดีเท่าเดนมาร์ก ประชาชนเข้าไม่ถึงการรักษาโดยมีระบบประกันสุขภาพ ซึ่งต้องเสียเบี้ยประกันมหาศาลและแม้กระทั่งคนที่เป็นเบาหวานการรักษาด้วยการฉีดอินซูลินยังทำได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเพราะแพง ด้วยปัจจัยของความไม่เท่าเทียมของประชาชน ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจในรัฐบาลซึ่งใช้การเมืองเป็นตัวนำในการแก้ปัญหา ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยอาการหนักและผู้เสียชีวิตยังมีจำนวนสูงมากแม้จะเป็นโอมิครอนก็ตาม
เมื่อมองประเทศเดนมาร์กแล้วซึ่งยอมอยู่ใต้ฟ้าเดียวกันกับโควิด ต้องหันมามองประเทศจีนซึ่งกว้างใหญ่มหาศาลและมีประชาชนมากมายถึง 1,400 ล้านคน
นโยบายเป้าหมายของประเทศจีน คือให้มีคนติดเชื้อโควิดเป็น 0 (zero COVID) ซึ่งเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อและถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงจากประเทศตะวันตกว่า เป็นนโยบายสิ้นเปลืองสิ้นคิด และไม่เข้าท่า
ดังนั้น การรับรู้ในรายละเอียดเส้นทางไปสู่เป้าหมายเพื่อบรรลุสู่จุดเชื้อจำนวนที่ 0 (zero COVID) ของประเทศจีน (หนึ่งเดียวในโลก) ที่ยืนหยัดไม่เคยเปลี่ยนตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา จึงเป็นสิ่งที่น่าศึกษาและน่าวิเคราะห์ว่า เป็นสิ่งที่มีเหตุผลและสมควรอย่างยิ่งหรือไม่
เพื่อจะได้เห็นว่า จีนนั้นกล้าทำในสิ่งที่เกือบทุกประเทศในโลกไม่กล้า แม้กระทั่งจะคิด และเพื่อที่จะได้ทราบว่า จีนได้ทุ่มเท เสียสละ ใช้กำลังคน ใช้เงินทอง ทรัพยากร หลักวิทยาศาสตร์ ความรู้ เทคโนโลยีใหม่ๆที่ทำให้มาถึงสถานะปัจจุบัน
และจริงๆแล้ว หากไม่มีโอมิครอนที่แพร่อย่างรวดเร็ว จีนคงบรรลุเป้าหมายโควิดเป็น 0 ไปแล้ว (ดูจากจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศ ก่อนโอมิครอน ที่เป็นตัวเลขหลักเดียว คือ ต่ำสิบ) และถึงแม้ว่าจะยังไม่เป็นศูนย์ในสิบเดือนแรก ของปี 2022 แต่จำนวน คนติดเชื้อในประเทศ ต่ำกว่าร้อย ในมณฑลใหญ่ ทั้งจากภายในประเทศบวกจากต่างประเทศ
จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศจีนเป็นตัวเลขที่น่าเชื่อถือ และมีมาตรฐาน เพราะมีการตรวจวินิจฉัยและคัดกรองอยู่ในระดับเดียวกันหรือสูงกว่าประเทศเดนมาร์ก ทั้งนี้ เนื่องจากประชากรมากกว่าอย่างมากมาย
ในประเทศจีน ปลายปี 2022 เริ่มอยู่ใต้ฟ้าเดียวกันกับโควิดแล้ว เพราะแรงอัดอั้นมานาน ขณะนี้ มีติดแพร่หลายจริง เมื่อผ่อนคลายมาตรการ แต่มีการติดตามอย่างเคร่งครัด แต่อาการหนักไม่มาก ไม่กระทบระบบสาธารณสุขเลยและเสียชีวิตน้อยมาก แม้จะมีติดเป็นหลายหมื่นคนต่อวัน
วัคซีนที่ใช้เป็นหลักยังคงเป็นวัคซีนเชื้อตายแม้ในระยะหลังจะมีวัคซีนเทคโนโลยีใหม่ก็ตาม แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าวัคซีนเชื้อตายที่ใช้มาตลอดทั่วประเทศตั้งแต่ 3 ปีที่แล้วยังสามารถปกป้องอาการของสายย่อยใหม่โอมิครอนได้ดีมาก แม้จะเจอกับ BX7 และสายย่อยอื่นๆแบบนานาประเทศ
ที่เมืองเล็กๆใน มณฑลซานตง มีหมอให้สัมภาษณ์เชื้อติดเร็วมากๆ บอกว่า 10 วันมีคนไข้มาโรงพยาบาลหาหมอ 4,000 ราย ไม่มีอาการหนักแม้แต่รายเดียว เป็นกรณีตัวร้อน อาการหวัดมาหายากินเท่านั้น แต่ตอนนี้ยาแก้หวัด แก้ไข้ประเภทนี้ขาดแคลนทั่วประเทศ
ในทวีปแอฟริกาและประเทศแอฟริกาใต้ ฉีดวัคซีนปริมาณน้อยมาก แต่ปัญหาจากโควิดแทบไม่มี บทสัมภาษณ์จากคุณหมอโรคติดเชื้อที่อูกันดาในวันที่ 21 ธันวาคม 2022
สรุป บทเรียนจากโควิดต้องเรียนรู้จากรอบด้าน ไทยมีแดดแจ๋คนมีใจเอื้อเฟื้อ สกปรกเล็กๆน้อยๆเป็นประจำตามปกติ เพิ่มภูมิต้านทานและมีฟ้าทะลายโจร และสมุนไพรไทยควบรวม สุดยอด