ลงนามแล้ว "ซื้อช่อดอกกัญชา"ต้องแสดงบัตรประชาชน
อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ ลงนามประกาศแล้ว กำหนดผู้ซื้อช่อดอกกัญชา ต้องแสดงบัตรประชาชน กำชับผู้รับใบอนุญาตต้องส่งรายงานการซื้อ-ขาย มีผู้ขออนุญาตมากกว่า 7,000 ราย
เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า เนื่องจากช่อดอกกัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม เมื่อต้นเดือนม.ค. 2565 ได้ลงนามในประกาศกำหนดให้ผู้ซื้อช่อดอกกัญชาต้องมีการแสดงบัตรประชาชน ขณะนี้อยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็จะมีผลบังคับใช้
จากนั้นจะมีการสื่อสารทำความเข้าใจ และต้องมีการส่งรายงานการซื้อ ขาย ช่อดอกกัญชามาให้กรมฯ และกรมได้จ้างบริษัทเขียนโปรแกรมเชื่อมโยงข้อมูลการซื้อขาย เพื่อที่เมื่อมีคนมาซื้อเพียงเสียบบัตรประชาชน และกรอกข้อมูลว่าใครซื้อ จำนวนเท่าไหร่ เป็นต้น หากไม่ส่งรายงานการซื้อขาย กรมก็จะยึดใบอนุญาตคืน โดยมีการขออนุญาตเรื่องช่อดอกกัญชาแล้วมากกว่า 7,000 ราย
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีร่างพรบ.กัญชากัญชงไม่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรออกมาบังคับใช้จะส่งผลต่อการพัฒนาเรื่องกัญชากัญชงหรือไม่ นพ.ธงชัย กล่าวว่า ไม่ แต่หากนำกลับไปเป็นยาเสพติดจะเป็นอุปสรรคมาก คนที่บอกว่าเป็นยาเสพติดก็ยังพัฒนากัญชาได้ไม่เป็นปัญหานั้น ขอยืนยันว่าทำไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าทำไม่ได้ ยากมาก หากทำได้คงทำมานานแล้ว ปัจจุบันเชื่อว่าประเทศไทยจะมีการพัฒนามากขึ้น เพียงแต่กัญชายังต้องการการยอมรับมากขึ้น ก็จะมีคนพัฒนามากขึ้น
นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า แต่ก็มีข้อกังวลว่าเมื่อไม่เป็นยาเสพติดแล้วการควบคุมน้อยไป ซึ่งถ้าร่างพรบ.กัญชากัญชงแท้ง ก็อาจจะออกประกาศในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)คุมได้มากที่สุด และปฏิบัติได้จริง โดยขั้นตอนคือประชุมคณะกรรมการด้านกฎหมาย หากเห็นพ้องกับคณะกรรมการวิชาการแล้ว เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.)ลงนามประกาศโดยไม่ต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร เพียงแต่มีข้อจำกัด เรื่องบังคับได้เฉพาะผู้จำหน่าย บังคับประชาชนทั่วไปไม่ได้
“วันนี้หากบังคับแล้ว ทุกคนเข้าแถวหมด ไม่มีคนที่ไม่ขออนุญาตจำหน่าย แล้วส่งข้อมูลการได้มา เก็บที่ไหน ส่งให้ใคร หากมีข้อมูลทั้งหมดจะรู้มูลค่า และความเชื่อมโยงการใช้กัญชา และนำสู่การบังคับใช้กฎหมาย เจาะข้อมูลเอาผิดตามกฎหมายได้ตรง ไม่ต้องไปไล่จับ”นพ.ธงชัยกล่าว
นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า ตามแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 กำหนดให้มีการพิจารณา Herbal Championsทุก 2 ปี ซึ่งปีนี้มีข้อสรุปออกมาเป็นสมุนไพร 15 ชนิด แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. สมุนไพรที่มีความพร้อมตามห่วงโซ่การพัฒนาสมุนไพร และ2. สมุนไพรที่มีศักยภาพที่จะผลักดันต่อ คือ กัญชา กัญชง กระท่อม ทั้งนี้ ในส่วนของกัญชาส่วนตัวมองว่า ยังมีประเด็นปลายน้ำที่มีผลิตภัณฑ์ออกมาจำนวนมมาก แต่ยังไม่หลากหลาย แม้กระทั่งผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ยังต้องการงานวิจัยพอสมควร หน้าที่กรมจึงต้องทำปลายน้ำให้ชัดขึ้นในเรื่องกัญชาทางการแพทย์
“ปลายน้ำที่เป็นผลิตภัณฑ์กัญชามีออกมาจำนวนมาก แต่ใช้ในรูปแบบเหมือนๆกันในการอ้างสรรพคุณ ส่วนกัญชาทางการแพทย์ยังคงที่ 5 โรค ส่วนใหญ่ยังเป็นการใช้น้ำมันหยด กรมจึงพยายามทำรูปแบบซอฟต์เจล แผ่นแปะ และอื่นๆ เพิ่มเติม ”นพ.ธงชัยกล่าว