“ปลดล็อกกัญชา”ยังลับๆล่อๆ โยนโจทย์รัฐบาล(ใหม่)ตัดสิน
การไม่ออก “ร่างพรบ.กัญชากัญชง” อาจไม่ได้กระทบต่อภาคเศรษฐกิจ แต่ส่งผลต่อภาคสังคมไม่น้อย ทำให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเรื่อง “การสูบ”ได้ค่อนข้างลำบาก แต่หาก“กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด” เมื่อนั้นผลต่อธุรกิจเกิดขึ้นแน่นอน และเป็นสิ่งที่รัฐบาลใหม่ ต้องเป็นคนตัดสิน
ปัจจุบัน “กัญชา” อยู่ในสถานะไม่ใช่ยาเสพติด ยกเว้น สารสกัดที่มีสาร THC เกิน 0.2 % และช “ช่อดอกกัญชา” เป็นสมุนไพรควบคุม หากจะนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ต้องขออนุญาต
แม้ “ปลดล็อกกัญชา” ไม่เป็นยาสพติดจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 9 มิ.ย.2565 กระทั่งสิ้นปี 2565 อาจเรียกว่ายังอยู่ในภาวะ “ลับๆล่อๆ” ผลจากการที่สภาผู้แทนราษฎรยังไม่ผ่าน “ร่างพรบ.กัญชากัญชง” เนื่องด้วยส.ส.ยังมีความเห็นต่างและมองว่าร่างกฎหมายนี้ ยังมีช่องโหว่ ในเรื่องของการ “ห้ามสูบและใช้เชิงสันทนาการ” โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคภูมิใจไทย(ภท.) เจ้าของนโยบายหาเสียงและผลักดันเรื่องกัญชา
ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีการออกประกาศเพื่อมาใช้ควบคุม แบบขัดตาทัพ ระหว่างที่ร่างพรบ.กัญชากัญชงยังไม่ผ่าน แต่ต้องยอมรับว่า การมีกฎหมายที่กระจายหลายฉบับในการจะใช้บังคับ ย่อมยากต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ หากเทียบกับการรวมข้อบังคับไว้ในกฎหมายฉบับเดียว และบางเรื่อง ประกาศสธ.ก็ยังครอบคลุมไปไม่ถึง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
อะไรซุกอยู่ใน "ร่างพรบ.กัญชากัญชง" ผ่านมา 6 เดือนยังออกจากสภาฯไม่ได้!
อัปเดต สิ่งทำได้-ไม่ได้ เมื่อเฉพาะ"ช่อดอกกัญชา"เป็นสมุนไพรควบคุม
"กัญชา่" ช่องโหว่ที่กฎหมายยังไปต่อไม่ได้
ยกตัวอย่างเช่น การใช้ในครัวเรือนต้องไม่เกินปริมาณที่กำหนด ,ห้ามสูบในสถานที่สาธารณะและสถานที่หรือบริเวณที่กำหนดไว้ ,ห้ามครอบครองกัญชาในที่สาธารณะเกินกว่ากำหนด และห้ามบริโภคขณะขับขี่ยานพาหนะ หรือ ขณะควบคุมเครื่องจักร
ส่วนสาระสำคัญหลักในร่างพรบ. ประกอบด้วย 1.การผลิต ส่งออก ขายต้องได้รับอนุญาต 2.การใช้ในครัวเรือนต้องไม่เกินปริมาณที่กำหนด 3.ห้ามทำการโฆษณาหรือส่งเสริมการตลาด 4.ห้ามขาย ให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และบุคคลอื่นที่กำหนด 5.ห้ามขาย เพื่อสูบหรือเสพ แก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และบุคคลอื่นที่กำหนด
6.ห้ามขายโดยใช้เครื่อง โดยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ โดยการแจก แถม ให้หรือแลกเปลี่ยน โดยเร่ขาย 7.กำหนดสถานที่ห้ามขาย เช่น สถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา สถานศึกษา หอพัก เป็นต้น8.ห้ามสูบในสถานที่สาธารณะและสถานที่หรือบริเวณที่กำหนดไว้ 9.ห้ามครอบครองกัญชาในที่สาธารณะเกินกว่ากำหนด และ10.ห้ามบริโภคขณะขับขี่ยานพาหนะ หรือ ขณะควบคุมเครื่องจักร
อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้สูงที่เรื่อง “กัญชา” จะถูกดองไว้จนผ่านการเลือกตั้งในปี 2566 และให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาเป็นผู้ตัดสินใจว่า “จะเอาอย่างไรต่อไปกับเรื่องกัญชา”
กัญชากัญชงเชิงเศรษฐกิจ
หากเพียงแค่การไม่มีกฎหมายกัญชากัญชงออกมาบังคับใช้ หรือ การกำหนดเพิ่มเติมเรื่อง “การห้ามสูบ” ภาคธุรกิจที่ทำผลิตภัณฑ์สุขภาพถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งไม่ได้มุ่งไปที่ใช้กัญชาเชิงสันทนาการ มองว่า ไม่กระทบกับภาคธุรกิจ เพราะการดำเนินการในปัจจุบันนั้น ถูกควบคุมและต้องขออนุญาตภายใต้กฎหมายเฉพาะของแต่ละผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว เช่น พรบ.อาหาร พรบ.เครื่องสำอาง หรือพรบ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เป็นต้น
ทว่า เมื่อไหร่ที่ “กัญชาถูกย้อนกลับไปเป็นยาเสพติด” เมื่อนั้นกระทบต่อภาคธุรกิจ โดยระหว่าง 25 ต.ค.-6 พ.ย.2565 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) มีการอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มาส่วนประกอบของกัญชา กัญชงและสารสกัดCBD ทั้งหมด 2,145 รายการ เป็นเครื่องสำอาง 1,667 รายการ อาหาร 349 รายการ สมุนไพร 129 รายการ อยู่ระหว่างพิจารณา 121 รายการ เป็นเครื่องสำอาง 23 รายการ อาหาร 60 รายการ และสมุนไพร 38 รายการ
“ถ้ากัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ผลิตภัณฑ์ต่างๆที่อย.มีการอนุญาต จะออกมาจำหน่ายไม่ได้เลย”นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)กล่าว
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกร ระบุว่า รายงาน The Global Cannabis Report ของ Prohibition Partners ผู้ให้บริการข้อมูลเชิงลึกและที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ชั้นนำระดับโลก คาดว่า มูลค่าตลาดกัญชาทั่วโลกจะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 103.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2567 แบ่งเป็น ตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์มีสัดส่วนราว 60% ของมูลค่าตลาดกัญชาทั้งหมด และอีก 40 % เป็นตลาดกัญชาเพื่อการสันทนาการ
ขณะที่ วิจัยกรุงศรี ประมาณการมูลค่าอุตสาหกรรมกัญชงของไทย ปี 2564 คาดว่าอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีกัญชงผสมจะมีมูลค่า 280 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์อาหารจากกัญชง 240 ล้านบาท ยาและอาหารเสริมจากกัญชง 50 ล้านบาท เครื่องแต่งกายที่ทำด้วยใยกัญชง 30 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล ยังอยู่ในช่วงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นหลัก โดย 5 กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวจะมีการนำกัญชงไปใช้มูลค่าประมาณ 600 ล้านบาท แต่ประเมินว่าผลิตภัณฑ์กัญชงไทยจะเติบโตอย่างมากในช่วง 5 ปีแรกหลังรัฐปลดล็อคการประกอบธุรกิจ โดยตลาดกัญชงไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 15,770 ล้านบาท ในสิ้นปี 2568 หรือเติบโตเฉลี่ย 126% ต่อปี
โอกาสกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด
สำหรับ โอกาสที่ “กัญชา”จะกลับไปเป็นยาเสพติดนั้น เป็นได้ใน 2 ช่องทาง คือ
1.ศาลปกครองสูงสุดมีการสั่งยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ระบุชื่อยาเสพติดประเภท 5 ซึ่งไม่มีการระบุชื่อกัญชา
2.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (บอร์ดป.ป.ส.)เห็นชอบให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด และส่งเรื่องให้รมว.สาธารณสุข ลงนามในประกาศ แต่บอร์ดป.ป.ส.จะดำเนินการเรื่องนี้ได้ ต่อเมื่ออนุกรรมการด้านกฎหมาย ในคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เสนอต่อคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ที่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เป็นประธานเห็นชอบและส่งเรื่องเข้ามาให้พิจารณา
เงื่อนไขข้อ 2 นี้ต้องจับตาดูว่าหลังการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลแล้ว “พรรคการเมืองใดจะได้ที่นั่งตำแหน่งรมว.สาธารณสุข” หากเป็นภท.ย่อมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะ “อนุทิน ชาญวีรกูล” หน.ภท.เคยกล่าวไว้ว่า “จะผลักดันเรื่องกัญชาในเชิงเศรฐกิจ สุขภาพและการแพทย์ต่อไป”
แต่ถ้าเป็นปชป. ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย เพราะ “สาธิต ปิตุเตชะ” รองหน.ปชป. เคยกล่าวไว้ว่า “ภายใต้กรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบัน ปชป.เห็นด้วยกับกัญชาทางการแพทย์ แต่ไม่เห็นด้วยกับการสูบและการใช้เชิงสันทนาการ”
และหากเป็นพรรคการเมืองอื่น ก็ต้องดูท่าทีต่อเรื่องกัญชาที่ผ่านมาว่าโน้มเอียงไปทางใด
ทางออกเรื่องนี้ แบบไม่กระทบภาคเศรษฐกิจและสังคม ดูเหมือนจะต้องอยู่ที่ “ร่างพรบ.กัญชากัญชง” จะต้องกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า “ห้ามสูบกัญชา” ไม่ใช่เพียงระบุว่า “ห้ามสูบในที่สาธารณะ”
แต่จะทำได้หรือไม่ ภายใต้กฎหมายที่ “กัญชา”ไม่ใช่ยาเสพติดแล้ว เพราะกฎหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ ก็ไม่ได้กำหนดว่า “ห้ามดื่ม” “ห้ามสูบ”
คงเป็นโจทย์ที่รัฐบาลใหม่ในปี 2566 ต้องเข้ามาตัดสินใจ และต้องจับตาว่า 2 พรรคอย่างปชป.และภท.จะยังเป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันหรือไม่ และพรรคไหนจะมีอำนาจต่อรองทางการเมือง จากจำนวนส.ส.ที่มากกว่ากัน