‘สภาพัฒน์’ ถอดบทเรียนต่างประเทศ เปิดเสรีกัญชาอย่างไร? ไม่กระทบสังคม

‘สภาพัฒน์’ ถอดบทเรียนต่างประเทศ เปิดเสรีกัญชาอย่างไร? ไม่กระทบสังคม

ประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านการใช้กฎหมายกัญชาจากยาเสพติดเป็นนโยบายกัญชาเสรี แม้จะมีข้อดีในการเป็นพืชเศรษฐกิจ และมีประโยชน์ทางการแพทย์ และการวิจ้ย อย่างไรก็ตามช่วงเปลี่ยนผ่านดังกล่าวยังมีปัญหาในหลายด้านจำเป็นต้องศึกษาบทเรียนจากต่างประเทศเพื่อลดผลกระทบ

นับตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมาประเทศไทยได้กลายเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียที่สามารถใช้กัญชาและกัญชงได้อย่างถูกกฎหมาย โดยฝ่ายนโยบายได้ยืนยันเจตนารมณ์ ในการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ของสารสกัดกัญชา และประโยชน์เพื่อการศึกษาวิจัย

นอกจากนี้มีข้อมูลการวิจัยที่ระบุว่ากัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์หลายด้าน ช่วยลดอาการนอนไม่หลับ แก้ปัญหาการติดสุราและยา แก้โรคลมชัก ลดอาการเจ็บปวดเรื้อรัง รวมทั้งช่วยในการฟื้นฟูสุขภาพจิตและโรคซึมเศร้าได้ ขณะเดียวกันก็มีผลการศึกษาประโยชน์ทางเศรษฐกิจของกัญชา โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่พบว่าในปี 2565 อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับกัญชา และกัญชงในประเทศไทยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท และคาดว่าในปี 2568 มูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมกัญชาจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.2 หมื่นล้านบาทหรือเติบโตกว่า 15% ต่อปี

อย่างไรก็ตามในการแถลงภาวะสังคมไตรมาสที่ 3/2565 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ “สภาพัฒน์” ได้รายงานถึงสถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ เรื่อง “เสรีกัญชา : มุมมองที่ควรเรียนรู้จากต่างประเทศ”

 

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่าสาระสำคัญของรายงานฉบับนี้ไม่ได้เป็นการกล่าวถึงข้อดีข้อเสียของนโยบายกัญชาเสรีแต่เป็นการเสนอข้อมูลและบทเรียนที่น่าสนใจจากต่างประเทศที่มีการเปิดเสรีการใช้กัญชาเพื่อให้นโยบายเปิดเสรีกัญชาของไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความเข้มงวดและรัดกุมเพียงพอสำหรับการควบคุมการใช้กัญชาที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อสังคม และเพื่อให้การเปิดเสรีกัญชาของไทยเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ต้องการให้เกิดประโยชน์ทางการแพทย์ และการศึกษา

จากประสบการณ์การเปิดเสรีกัญชาในประเทศแคนาดา รัฐโคโลราโด และรัฐวอชิงตัน สหรัฐฯ สะท้อนผลสำเร็จ ที่สำคัญในการควบคุมการใช้กัญชา ใน 3 มิติ คือ

1.การผลิตกัญชา กำหนดให้ต้องจดทะเบียนก่อนดำเนินการ และมี การจำกัดพื้นที่/จำนวนต้นที่สามารถปลูกได้ รวมถึงมีการกำหนดคุณลักษณะของพื้นที่เพาะปลูกและการเข้าถึง พื้นที่นั้น ๆ ซึ่งจะช่วยควบคุมปริมาณกัญชาและป้องกันการรั่วไหลของกัญชาไปสู่ตลาดมืด

2.การซื้อขายและการครอบครองกัญชา ที่ต้องมีการกำหนดคุณสมบัติของทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย โดยผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องลงทะเบียนก่อนรวมทั้งผู้ซื้อจะถูกคัดกรองโดยอาศัยใบสั่งจากแพทย์ ซึ่งจะมีการกำหนดปริมาณที่สมารถซื้อและถือครองด้วย เพื่อควบคุมการใช้ให้มีความเหมาะสมและเป็นไปตามวัตถุประสงค์

3.การคุ้มครองผู้บริโภค มีการกำหนด อายุขั้นต่ำและคุณสมบัติของผู้ที่สามารถใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ รวมถึงมีข้อแนะนำในการงดสั่งจ่ายกัญชา ให้แก่ผู้ป่วยบางกลุ่ม อีกทั้งยังได้กำหนดบทลงโทษหากใช้กัญชาในที่สาธารณะและขายกัญชาอย่างผิดกฎหมาย หรือขายให้แก่เด็กและเยาวชน เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยด้านสุขภาพให้แก่ผู้ป่วยและเยาวชน

ทั้งนี้หาก พิจารณาจากกรณีศึกษาของประเทศแคนาดา รัฐโคโลราโด และรัฐวอชิงตัน โดยมีสาระสำคัญที่น่าสนใจ 6 ประเด็นดังนี้

  • การควบคุมการผลิต เพาะปลูก และมาตรฐานของโรงเรือนหรือพื้นที่เพาะปลูก

โดยจะต้องกำหนด ปริมาณที่สามารถผลิตหรือเพาะปลูกในครัวเรือนให้มีความเหมาะสม รวมทั้งกำหนดรูปแบบของพื้นที่หรือสถานที่ เพาะปลูกขั้นพื้นฐานที่ต้องดำเนินการเพื่อป้องกันผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าถึงกัญชาซึ่งอาจนำไปสู่การรั่วไหลไปสู่ตลาดมืด

 

  • การควบคุมการซื้อขายและการครอบครอง

โดยควรกำหนดให้มีการลงทะเบียนร้านค้าหรือ ร้านขายยา ผู้จัดจำหน่าย และผู้ใช้กัญชา กัญชง หรือสารสกัด และกำหนดเพดานปริมาณกัญชาที่สามารถซื้อ ขายหรือถือครองได้ รวมถึงมีข้อกำหนดด้านการส่งเสริมการตลาดของผลิตภัณฑ์กัญชา อีกทั้งยังอาจพิจารณา กำหนดให้การซื้อจะต้องใช้ใบสั่งยาจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต เพื่อจำกัดการซื้อขายกัญชาให้เป็นไปตาม วัตถุประสงค์และป้องกันการใช้ที่ไม่เหมาะสม เช่น ใช้เสพเกินขนาด ใช้เพื่อการนันทนาการ

  • การกำหนดรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ

ซึ่งควรกำหนดผลิตภัณฑ์ ที่สามารถมีส่วนผสมของกัญชาได้ และต้องให้ความสำคัญกับรูปแบบของบรรจุภัณฑ์และความเข้มข้นของกัญชา ประกอบด้วย รวมถึงควรกำหนดให้มีการแสดงฉลากและวิธีการใช้ที่ถูกต้องอย่างชัดเจน

เพื่อป้องกันการบริโภคกัญชาโดยไม่เจตนาหรือบริโภคอย่างไม่ถูกวิธีซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ การมีมาตรการป้องกันการเข้าถึงของเด็กและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคกลุ่มอื่น ๆ ที่ชัดเจน โดยต้องมีการกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ที่สามารถใช้กัญชาได้ และอาจพิจารณาจัดทำคู่มือการใช้กัญชาทาง การแพทย์ หรือกำหนดอาการ/กลุ่มโรคที่เข้าข่าย

หรือคุณสมบัติของผู้ป่วยที่สามารถใช้กัญชาในการบำบัดหรือ รักษาโรคได้ รวมถึงข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ควรสั่งจ่ายกัญชาให้ เพื่อป้องกันการผลข้างเคียงจากการใช้ กัญชากับผู้ป่วยที่มีประวัติเสี่ยงหรือโรคที่ไม่เหมาะสม รวมถึงเป็นการป้องกันการใช้กัญชาโดยไม่จำเป็น

  • การส่งเสริมและสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้กัญชาที่ถูกวิธี

โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควร สร้างและรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับกัญชาที่ถูกต้อง และเผยแพร่ต่อประชาชน รวมทั้งผู้ต้องการใช้กัญชา ในด้านต่าง ๆ อย่างทั่วถึง ซึ่งควรเร่งดำเนินการตั้งแต่ก่อนอนุญาตให้สามารถใช้กัญชาทางการแพทย์ได้อย่าง ถูกกฎหมาย เพื่อป้องกันการใช้กัญชาอย่างไม่ถูกต้อง การบังคับใช้กฎหมายและการติดตามตรวจสอบต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

โดยเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานและความถูกต้องของกระบวนการต่าง ๆ ตั้งแต่การเพาะปลูก การผลิต การซื้อขาย การศึกษา และวิจัย ซึ่งการมีกลไกและระบบติดตามตรวจสอบที่ดีถือเป็นปัจจัยสำคัญ จะก่อให้เกิดกรกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบเชิงลบในด้านต่าง ๆ ทั้งผลทางด้านสุขภาพ การซื้อขายกัญชาในตลาดมืด การก่ออาชญากรรม และความรุนแรง