"กัญชา่" ช่องโหว่ที่กฎหมายยังไปต่อไม่ได้
แม้”กัญชา”จะถูกปลดล็อกจากยาเสพติดมาแล้ว 6 เดือน แต่ยังไร้กฎหมายเฉพาะออกมาควบคุม การใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เพียงพอหรือไม่ หรือจำเป็นต้องออก“ร่างพรบ.กัญชากัญชง”ออกมาใช้บังคับ
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีการประชุมหารือนโยบายและแนวทางสร้างความเข้าใจการบังคับใช้กฎหมาย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขสมุนไพรควบคุม(กัญชา) พ.ศ.2565 โดยมีผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
“สาธิต ปิตุเตชะ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า มีการหารือเพื่อทำให้เป็นตัวอย่างในการนำประกาศ เรื่อง ช่อดอกกัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม ไปบังคับใช้ ซึ่งที่ผ่านมามีการดำเนินคดีและฟ้องศาล มีคำตัดสินแล้ว เป็นกรณีที่ผู้ต้องหารับสารภาพ
แต่หากเป็นกรณีที่ไม่รับสารภาพ จะต้องมีแนวทางขั้นตอนดำเนินการที่ชัดเจนให้กับฝ่ายปฏิบัติเพื่อความมั่นใจในการปฏิบัติงาน ว่าเมื่อดำเนินการแล้วจะไม่ถูกร้องเรียนว่าปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ต้องกลัวการถูกฟ้องร้อง ซึ่งได้มอบหมายให้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ไปจัดทำข้อปฏิบัติในการดำเนินการตามกฎหมายของกรมในเรื่องนี้
“ร่างพรบ.กัญชากัญชง ที่อยู่ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรนั้น ยังไม่ถูกบังคับใช้ ซึ่งก็ยังมีช่องโหว่ที่ไม่สามารถควบคุมการเสพ"”สาธิตกล่าว
และยังมีความไม่แน่นอนว่าจะผ่านออกมาในการประชุมสภาฯสมัยนี้ และการหมดวาระของรัฐบาลในเดือนมี.ค.2566 จึงต้องเร่งใช้ประกาศสธ.เท่าที่มีอยู่ โดยเฉพาะการควบคุมช่อดอกให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ในส่วนประกาศสธ.ที่จำเป็นต้องมีการเพิ่มเติม “สาธิต” บอกว่า ประกาศกรมอนามัยที่ ให้กลิ่นและควันกัญชาเป็นเหตุรำคาญนั้น ที่ผ่านมามีการบังคับใช้เพียง 2 ราย เนื่องจากขั้นตอนยุ่งยาก ซับซ้อน ขณะที่ ข้อกังวลของสังคม “ไม่อยากเห็นเรื่องการสูบ”จึงมอบหมายให้กรมอนามัยไปพิจารณาว่าสามารถลดขั้นตอนเพื่อยุติเหตุได้หรือไม่ ถ้าจะดำเนินการได้ต้องแก้ไขพรบ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 หรือสามารถออกประกาศสธ.ออกมาได้เลย
“ขณะนี้พยายามดำเนินการเท่าที่กฎหมายมีอยู่ ส่วนเรื่องนโยบายคงแก้ไขไม่ได้ อยู่ที่รัฐบาลหน้าจะตัดสินใจจะดำเนินการเรื่องประกาศกัญชาเป็นยาเสพติดเหมือนเดิม หรือกัญชาทางการแพทย์อย่างไรต่อไป ก็ขึ้นอยู่เสียงประชนชนที่จะเลือกตั้ง”สาธิตกล่าว
ทั้งนี้ ข้อกังวลในการบังคับใช้ประกาศเรื่อง “ช่อดอกกัญชา”ของฝ่ายปฏิบัตินั้น อยู่ที่ เมื่อประชาชนมีการแจ้งเรื่องการนำไปใช้เชิงสันทนาการในเรื่องสูบ แต่ในประกาศนั้น ห้ามเฉพาะเรื่องของการจำหน่ายต้องได้รับอนุญาต แต่ไม่ได้ห้ามสูบ ในทางปฏิบัติอาจจะดำเนินการยาก ในกรณีกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กและเยาวชน อาจจะต้องนำกฎหมายอื่นมาเทียบเคียงดำเนินการ
นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า ในการดำเนินการตามกฎหมายของประกาศช่อดอกเป็นสมุนไพรควบคุมนั้น จุดสำคัญต้องระบุให้ได้ว่าเป็น “ช่อดอก”ซึ่งการลงตรวจสอบ จะมีพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นคนชี้มูลให้ตำรวจดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งการพิสูจน์สามารถทำได้โดยนำไปวิเคราะห์ หามีสารTHC ในปริมาณสูงก็เป็นช่อดอก เนื่องจากส่วนอื่นของกัญชา สารTHC ไม่สูง ซึ่งที่ผ่านมามีการเอาผิดแล้ว 12 ราย
สาระสำคัญในร่างพรบ.กัญชากัญชง
ลองเปิดแง้มในร่างพรบ.ดังกล่าว มีการกำหนดหลักๆไว้ ได้แก่
1.การผลิต ส่งออก ขายต้องได้รับอนุญาต
2.การใช้ในครัวเรือนต้องไม่เกินปริมาณที่กำหนด
3.ห้ามทำการโฆษณาหรือส่งเสริมการตลาด
4.ห้ามขาย ให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และบุคคลอื่นที่กำหนด
5.ห้ามขาย เพื่อสูบหรือเสพ แก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และบุคคลอื่นที่กำหนด
6.ห้ามขายโดยใช้เครื่อง โดยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ โดยการแจก แถม ให้หรือแลกเปลี่ยน โดยเร่ขาย
7.กำหนดสถานที่ห้ามขาย เช่น สถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา สถานศึกษา หอพัก เป็นต้น 8.ห้ามสูบในสถานที่สาธารณะและสถานที่หรือบริเวณที่กำหนดไว้
9.ห้ามครอบครองกัญชาในที่สาธารณะเกินกว่ากำหนด
และ10.ห้ามบริโภคขณะขับขี่ยานพาหนะ หรือ ขณะควบคุมเครื่องจักร
เทียบกม.สธ-ร่างพรบ. ควบคุมกัญชา
แม้ที่ผ่านมา สธ.จะมีการงัดกฎหมายในความรับผิดชอบออกมาควบคุมกำกับการใช้กัญชา หลังจากที่ไม่ใช่ยาเสพติดแล้ว มากมายหลายฉบับ
- กำหนดให้ “ช่อดอกกัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม” ของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
- ห้ามนำช่อดอกเป็นส่วนผสมในอาหาร, ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ยา อาหาร เครื่องสำอางที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบจะต้องขออนุญาต ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)
- การกำหนดให้ กลิ่นและควันกัญชาเป็นเหตรำคาญ ของกรมอนามัย
แต่จากสาระสำคัญหลักๆที่กำหนดไว้ในร่างพรบ.กัญชากัญชง จะเห็นได้ว่า ยังมีส่วนที่มีการควบคุมมากกว่า “กฎหมายสธ.” อย่างเช่น
- การใช้ในครัวเรือนต้องไม่เกินปริมาณที่กำหนด,
- ห้ามสูบในสถานที่สาธารณะและสถานที่หรือบริเวณที่กำหนดไว้
- ห้ามครอบครองกัญชาในที่สาธารณะเกินกว่ากำหนด
- ห้ามบริโภคขณะขับขี่ยานพาหนะ หรือ ขณะควบคุมเครื่องจักร
เมื่อขณะนี้สถานะ “กัญชาไม่ใช่ยาเสพติด” ก็ควรที่จะต้องเร่งออกพรบ.เฉพาะออกมาควบคุมโดยเร็วหรือไม่ หรือมิเช่นนั้น ก็ต้องเร่งทำให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด
หรือเกมจะยื้อไปให้ “รัฐบาลชุดใหม่”เข้ามาตัดสิน จึงจะชัดเจน???
เอาผิด”ช่อดอกกัญชา” 12 ราย
นพ.ธงชัย กล่าวว่า หลังจากที่ประกาศเรื่องช่อดอกกัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2565 กรม เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงตรวจสอบบริเวณถนนข้าวสารและย่านทองหล่อ มีการเอาผิดกับผู้ประกอบการแล้ว 12 ราย โดยที่ถนนข้าวสาร 6 ราย มีการเอาผิดและลงโทษทางปกครองด้วยการ พักใบอนุญาต 2 ราย และอีก 4 รายส่งฟ้องศาลโดยมีคำตัดสิน ปรับ 5,000 บาท
และย่านทองหล่อ 6 ราย จำแนกเป็นรถเร่ (food truck) 5 ราย กระทำการจำหน่ายหรือแปรรูปสมุนไพรควบคุม (กัญชา) (พันลำ /จำหน่ายช่อดอก) โดยไม่ได้รับอนุญาต ในจำนวนนี้ พบว่ามี 3 ราย ได้แสดงใบอนุญาตเข้าข่ายเป็นเท็จเนื่องจาก รถเร่หรือแผงลอย ที่ไม่มีที่อยู่แน่นอนไม่สามารถให้การอนุญาตได้
อีก 1 ราย มีสถานประกอบการชัดเจน แต่จำหน่ายหรือแปรรูปช่อดอกกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาตพนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจ ยึด อายัดของกลาง สั่งปิด พร้อมส่งเจ้าพนักงานตำรวจดำเนินการ ณ สน.ทองหล่อ และศาลได้ตัดสินลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมาย 6 ราย
ผลการลงโทษผู้ต้องหา ที่กระทำความผิดเป็นไปตามมาตรา 46 กรณีจำหน่ายหรือแปรรูปสมุนไพรควบคุม โดยมิได้รับอนุญาต มีบทกำหนดโทษเป็นไปตามมาตรา 78 แห่งพรบ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 ระบุโทษ จำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีนี้ ศาลมีคำสั่งโทษให้จำคุก 2 เดือน รอลงอาญา 2 ปี โดยต้องมีการติดตามพฤติกรรม หรือให้ไปรายงานตัวต่อศาลเป็นระยะตามศาลนัด และปรับเป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท ทั้งนี้ศาลริบของกลางของผู้กระทำความผิดไว้ทั้งหมด