เปิด "ปลวกแดง2" ในEEC รพ.ร่วมทุนรัฐ-เอกชนแห่งแรก
เดิมในพื้นที่มีเพียงรพ.ชุมชนขนาด 60 เตียง กำลังจะได้รับยกระดับให้มีรพ.ทั่วไปขนาด 120-200 เตียง เพื่อรองรับให้บริการรักษาประชาชนในพื้นที่EEC กว่า 3 แสนคน โดยเฉพาะผู้ประกันตน ภายใต้การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ที่นี่เป็นแห่งแรกของประเทศไทย “รพ.ปลวกแดง2” จ.ระยอง
อ.ปลวกแดง ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) เดิมมีรพ.ปลวกแดง ขนาด 60 เตียง รองรับประชากร 5-8 หมื่นคน มีผู้มารับบริการเพิ่มขึ้นทุกปี จากปี 2561 ผู้ป่วยนอกจำนวน 233,131 ราย ผู้ป่วยใน จำนวน 5,414 ราย ,ปี 2562 จำนวน 250,707 ราย ผู้ป่วยใน จำนวน 6,509 ราย และปี2563 จำนวน 240,584 ราย ผู้ป่วยใน จำนวน 6,825 ราย ส่วนปี 2563 ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19
อีกทั้ง มีการส่งต่อผู้ป่วย ทั้งกรณีปกติและทั่วไปจำนวนมากที่เกินขีดความสามารถ เนื่องจากไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เกิดความแออัดและความไม่เพียงพอของบุคลากร ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะผู้ประกันตนที่มีกว่า 2 แสนคน จากสถานประกอกอบการ 2,532 แห่ง ต้องเดินทางไปรับบริการในจ.ระยอง หรือจ.ชลบุรี การตั้งรพ.โดยความร่วมทุนของภาครัฐและเอกชนจึงเกิดขึ้นในพื้นที่ โดยอาศัยกฎหมายพิเศษของEEC
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
รัฐบาลเดินหน้า EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ กรอบลงทุน 1.35 ล้านล้าน
เมื่อวันที่ 16 ม.ค.2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)แถลงข่าว "รพ.ปลวกแดง 2 การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) แห่งแรกของประเทศ" สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) กล่าวว่า EEC เป็นพื้นที่พิเศษที่มีการเติบโตของเมืองมาก มีปัญหาโครงสร้างเรื่องประชากรแฝง ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)จึงจำเป็นต้องแก้ปัญหา พัฒนาระบบสาธารณสุขอย่างเร่งด้วย ให้ทันกับการเติบโตของเมือง ทำให้บริการอยู่ในพื้นที่ใกล้บ้านใกล้ที่ทำงาน จะลดภาระของผู้ประกันตนในการเดินทาง เข้าถึงบริการสุขภาพที่มีมาตรฐาน ในราคาที่เหมาะสม สะดวก รวดเร็ว
แต่สธ.มีงบประมาณจำกัด จึงหารือคณะกรรมการนโยบายอีอีซี พัฒนารพ.ปลวกแดง 2 เป็นรพ.ทั่วไปขนาด 120-200 เตียง โดยใช้การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน(PPP) ในรูปแบบประเภท Build-Transfer-Operate(BTO คือ เอกชนเป็นผู้ออกแบบ ลงทุนก่อสร้างทรัพย์สินสำคัญ และโอนกรรมสิทธิ์ให้รัฐทันทีหลังก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยได้รับการสนับสนุนด้วยการให้สิทธิประโยชน์ของเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเทียบเคียงกับสิทธิประโยชน์ของ BOI
เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร เป็นต้น จะเปิดเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ. 2566 จากนั้นเข้าสู่กระบวนการคัดเลือก เจรจาสัญญา อนุมัติผลคัดเลือก คาดจะให้ได้ภาคเอกชนภายใน มี.ค. 2566 จากนั้นจะมีการทำสัญญา ให้อัยการสูงสุดตรวจสอบ และลงนามสัญญาร่วมลงทุนได้ในช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค. 2566
“รพ.ปลวกแดง 2 จะเป็นรพ.รัฐรูปแบบที่เกิดขึ้นใหม่เป็นแห่งแรกของสธ.และประเทศไทย ที่เป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยใช้ช่องทางของEEC จะทำให้ผู้ประกันตนกว่า 2 แสนคน กลับมารักษาอยู่ที่นี่ ความคุ้มทุนก็จะเกิดขึ้น และอนาคตโอกาสต่อไปของ สธ.จะไม่ได้เป็นการตัดเสื้อโหลให้ทุกที่ใส่ แต่ปัญหาพิเศษ พื้นที่พิเศษก็จะมีรูปแบบพัฒนารพ.ที่เหมาะสมเกิดขึ้นเป็นทางเลือก”สาธิตกล่าว
การดำเนินการ สธ.จะส่งมอบที่ดินพร้อมอาคารผ่าตัด-อุบัติเหตุ 5 ชั้น วงเงิน 232 ล้านบาทให้ภาคเอกชนก่อสร้างอาคารบริการเพิ่มเติม พร้อมทั้งประสานหน่วยงานประกันสุขภาพให้รับเป็นโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ส่วนภาคเอกชน จะตกแต่ง ก่อสร้างอาคารเพิ่มเติม สาธารณูปโภคต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี และโอนคืนให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) ก่อนที่รัฐจะส่งมอบกรรมสิทธิ์ให้เอกชนเข้าบริหารจัดหาร จัดหาครุภัณฑ์ บุคลากร เพื่อให้บริการทางการแพทย์ รวมถึงรับผิดชอบกรณีเกิดความเสียหายทางการแพทย์
ระยะเวลาสัญญา 50 ปี สร้างผลประโยชน์ทางการเงินแก่ภาครัฐ ตลอดระยะเวลาโครงการ 50 ปี จำนวน 3,684.51 ล้านบาท โดยเป็นรายได้จากค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ที่ดิน 1,033.68 ล้านบาท และส่วนแบ่งรายได้จากภาคเอกชน 2,650.83 ล้านบาท
ขณะที่ นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ คณะกรรมการนโยบายอีอีซี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า บอร์ดนโยบายอีอีซีเห็นชอบให้มีการร่วมลงทุน โดยภาครัฐมีที่ดินให้ 30 ไร่ มีอาคารแห่งแรกให้มูลค่า 230 ล้านบาท โดยเอกชนที่ชนะประมูลก็จะมาสร้างอาคารเสริมอีก 2 -4 หลัง เพื่อให้ครบรูปแบบเป็น รพ.ขนาด 200 เตียงภายในเวลา 3 ปี ซึ่งเอกชนก็ลดการลงทุนลง ภาครัฐก็จะมีภาคเอกชนมาให้บริการ โดยแบ่งผลตอบแทนให้ หลังครบสัญญา 50 ปี เอกชนโอนทรัพย์สินทั้งหมดที่เกิดขึ้นคืนสธ. อย่างไรก็ตาม รัฐไม่ได้ต้องการเป็นตัวเงิน แต่หวังให้ประชาชนได้รับการดูแล เข้าถึงบริการ
สำหรับการพิจารณาเอกชนที่จะร่วมทุน จะมีคณะกรรมการ 2 ชุด จะดูเรื่องของเทคนิคก่อนให้บริการที่มีคุณภาพแก่ประชาชน และอีกชุดจะดูเรื่องของการยื่นราคา ซึ่งสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ได้ศึกษาคำนวณอย่างต่ำที่เอกชนต้องให้ภาครัฐคิดเป็นมูลค่าสุทธิ 567 ล้านบาท หากรายใดที่ผ่านมาตรฐานและยื่นราคาสูงกว่านี้ก็จะเป็นผู้ชนะโครงการ
ทั้งนี้ อาคารหลังแรกของรพ.ปลวกแดง 2 ราว 60 เตียง คาดว่าจะเสร็จในสิ้นปี 2566 เอกชนก็รับไปปรับปรุงเพิ่มเติมแล้วเปิดทำการได้ก่อน ราวกลางปีหรือปลายปี 2567 ก็จะเปิดให้บริการได้ ส่วนตึกที่เหลือก็จะต้องสร้างควบคู่กันไป ทั้งหมดจะสมบูรณ์แบบภายใน 3 ปีหลังทำสัญญา จะรองรับได้ถึง 200 เตียง ดังนั้น ปี 2567 อ.ปลวกแดง จะมี รพ.ใกล้บ้านที่มีศักยภาพสูงขึ้น โดยรูปแบบบริการจะรองรับตามมาตรฐานของประกันสังคม
“รพ.แห่งนี้เป็นรพ.ระดับจังหวัด จะลดการส่งต่อ ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ผู้ประกอบการมั่นใจว่าลูกจ้างเมื่อเจ็บป่วยจะได้รับการดูแลทันท่วงที พนักงานอุ่นใจว่ามี รพ.ใกล้บ้าน เศรษฐกิจก็จะดีขึ้น เนื่องจากมีการร่วมลงทุน PPP ส่วนอนาคตพื้นที่ใดจะใช้รูปแบบ PPPอีกหรือไม่ สธ.อาจต้องออกระเบียบเองและทำ PPP”นพ.พีรพลกล่าว
นางธัญรัตน์ อินทร รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวว่า อุตสาหกรรมทางการแพทย์เป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรมสำคัญที่อีอีซีเข้ามาลงทุน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์สูงสุด เข้าถึงบริการที่ได้มาตรฐาน รพ.ปลวกแดง 2 ถือเป็นต้นแบบของการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน เป็นโมเดลสำคัญของประเทศที่อีอีซีต้องการขับเคลื่อน โดยรัฐลงทุน 5% แต่ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น เกิดการจ้างงานในพื้นที่ ลดการส่งต่อผู้ป่วยเข้ากทม.