เปิดผลศึกษาปี 65 'กัญชา' ยอดพุ่ง ใช้สันทนาการเพิ่ม 900 %

เปิดผลศึกษาปี 65 'กัญชา' ยอดพุ่ง  ใช้สันทนาการเพิ่ม 900 %

ผลศึกษาพบยอดใช้กัญชาปี 65 พุ่ง สันทนการเพิ่มขึ้น 900 % กว่า 11 ล้านคน ส่วนใหญ่ใช้ผสมอาหาร/ผลิตภัณฑ์อื่นๆราว 8 ล้านคน ขณะที่ใช้ทางการแพทย์ราว 5 แสนคน เพิ่มขึ้นน้อย  ชงรมว.สธ.คนใหม่ เซ็นต์ยกเลิกประกาศปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติด

      เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2566 ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และAddiction talk by TSAP จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง “ผลกระทบจากนโยบายกัญชา บทเรียนจากต่างประเทศและข้อห่วงใยจากประชาชน” กับข้อมูลอัปเดตที่น่าสนใจ โดยดร.สุริยัน บุญแท้ ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ กล่าวถึงผลกระทบและแนวโน้มจากการปลดล็อคกัญชาออกจากยาเสพติดของประเทศไทยว่า ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด(ศศก.)  การวิจัยเป็นผลประมาณการคนไทยที่ใช้กัญชาในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา 3 ปีย้อนหลัง ระหว่างปี 2563-2565  

        เก็บตัวอย่างจากการศึกษาและเอาไปอ้างอิงในประชากรคนไทยตามหลักสถิติ  ซึ่งคนไทยที่ศึกษาในปี 2563  เป็นผู้ที่มีอายุ 15-65 ปี จำนวนราว  47 ล้านคน ปี 2564 จำนวนราว 44 ล้านคน และ 2565 เป็นผู้ที่มีอายุ 18-65 ปี จำนวน ราว 44 ล้านคน ขนาดตัวอย่างครั้งละประมาณ 5.6พันคน เก็บข้อมูลใน 20 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

         พบว่า จากการประมาณการ

  • ในปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงหลังจากปี 2562 ที่มีกฎหมายออกมาให้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ใช้เพื่อสันทนาการที่ยังผิดกฎหมาย 1.155 ล้านคน คิดเป็น 2.5 %  ใช้ทางการแพทย์ราว 0.428 ล้านคน คิดเป็น 0.9 %
  • ในปี 2564  ใช้เพื่อสันทนาการที่ยังผิดกฎหมาย 1.899 ล้านคน คิดเป็น 4.3 %  ใช้ทางการแพทย์ 0.258 ล้านคน คิดเป็น 0.6 %
  • ในปี 2565  ตั้งแต่ 9 มิ.ย. กัญชาไม่ใช่สารเสพติด ใช้เพื่อสันทนาการ  11.106 ล้านคน คิดเป็น 24.9 %  แปลว่าถ้าเจอ 4 คน จะมี 1คนโดยประมาณเป็นผู้ใช้กัญชาในรอบปีที่ผ่านมา
  • เพิ่มขึ้นจากปี 2564 คิดเป็น 20 % หรือจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นมากกว่า 900 %   แต่ไม่ใช่ผู้ที่นำช่อดอกไปสูบทั้งหมด รวมผู้ที่ใช้กัญชาผสมในอหาร/เครื่องดื่ม หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ราว 8.266 ล้านคน ความชุก 18.6 % 
           แต่กลุ่มนี้เข้าถึงกัญชาได้ง่ายมากในห้าง หรือร้านสะดวกซื้อ หรือร้านอาหาร แม้จะไม่ใช่ช่อดอก เป็นส่วนอื่นของกัญชา แต่ก็ไม่ได้เหมาะกับทุกคนที่จะไปกินไปใช้ บางร้านบอกว่ามีกัญชาเป็นส่วนผสม ขณะที่บางร้านไม่ได้บอกก็เป็นอันตรายต่อคนแพ้ แม้จะไม่ได้เสพส่วนที่เป็นการเสพติด แต่องค์ประกอบกัญชาหลายส่วนก็เป็นอันตราย   
  • ส่วนใช้ทางการแพทย์ 0.54 ล้านคน คิดเป็น 1.2 % ขยับขึ้นมาเล็กน้อย ถ้าเทียบกับปีเริ่มต้น เพิ่มขึ้นราว  1 แสนคน ความชุกเพิ่มแค่ 0.3 %

     “เหมือนเจตนาตั้งต้นของกัญชาเสรีต้องการสนับสนุนการใช้ทางการแพทย์ แต่ผู้ใช้ทางการแพทย์ยังมีน้อย ขณะเดียวกันส่วนที่ไม่ได้สนับสนุนการใช้ คือการใช้เพื่อสันทนาการกลับเพิ่มขึ้นไปสูงมาก  สื่อว่าเมื่อมีการเปิดใช้กัญชาเสรี คนต้องการใช้เชิงสันทนาการมากกว่าการแพทย์ และการศึกษาที่ผ่านมา มีข้อคำถามว่าถ้าเปิดให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ คิดถึงโอกาสการใช้กัญชาหรือไม่ พบว่า อยากจะใช้กว่า 50 % แต่มี 3 ใน 4 ใช้เพื่อสันทนาการ ที่เป็นการใช้ในทางที่ผิดอยู่ดี แม้เปิดให้ใช้ทางการแพทย์ก็จะไปใช้ในทางสันทนาการ”ดร.สุริยันกล่าว 

        ดร.สุริยัน กล่าวว่า  ปี 2565 กัญชาไม่ใช่ยาเสพติด มีการใช้ยอดพุ่งขึ้นมา ใครก็ซื้อได้ เพราะเป็นสูญญากาศทางกฎหมาย มีเพียงกฎหมายควบคุมการก่อเหตุรำคาญ ช่วยไม่ให้มีการสูบในที่สาธารณะ แต่การควบคุมอย่างอื่นยังไม่เกิด เป็นที่น่าห่วง นอกจากนี้ ใน 11 ล้านคน พบว่า มีเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี อายุ 18-19 ปี ราว 3 แสนคน ที่เข้าถึงและเป็นผู้ใช้กัญชาในรอบปีที่ผ่านมา มีทั้งสูบและผ่านผลิตภัณฑ์ต่างๆ นี่เป็นประเด็นที่ทุกคนห่วงใยในการเข้าถึงกัญชาได้ง่ายของเด็กเยาวชน และเกิดผลกระทบตามมา  

เปิดผลศึกษาปี 65 \'กัญชา\' ยอดพุ่ง  ใช้สันทนาการเพิ่ม 900 %

เปรียบเทียบมาตรการควบคุมกัญชา 

       ขณะที่ นพ.บัณฑิต ศรไพศาลนักวิทยาศาสตร์the Institute for Mental Health Policy Research, Centre for Addiction and Mental Health, Toronto, Canada กล่าวถึงประเด็นวิเคราะห์นโยบายกัญชาประเทศไทย: เพื่อการแพทย์หรือเพื่อนันทนาการ?ว่า เปรียบเทียบมาตรการควบคุมกัญชาระหว่างแคนาดา(ตั้งแต่ปี 2561) กับประเทศไทย(ตั้งแต่ 9 มิ.ย.และ11พ.ย.2565)

  •  การปลูกในครัวเรือน แคนาดา 4 ต้น ไทย ไม่จำกัด
  • การปลูกเชิงพาณิชย์ ขออนุญาตมีรายละเอียดการควบคุม ไทยไม่จำกัด ไม่ต้องขออนุญาต 
  • การครอบครอง แคนาดา ไม่เกิน 30 กรัมของกัญชาแห้ง ไม่เกิน 4 ต้นกัญชา ไม่เกิน 1 ต้นกัญชาที่มีดอก ไทย ไม่ห้าม
  • การขายผลิตภัณฑ์กัญชา แคนาดา ขออนุญาต ห้ามให้เยาวชนเห็นผลิตภัณฑ์กัญชาจึงต้องขายเฉพาะในร้านกัญชาแบบปิดและห้ามเด็กเข้าไปในร้าน ไทย ขออนุญาตเฉพาะการขายดอกกัญชา(ยังไม่มีรายละเอียดการควบคุมการขายในร้าน) การขายส่วนอื่นของกัญชาทำได้เสรี  100 % ไม่ต้องขออนุญาต ไม่มีการควบคุม ขายเครื่องอัตโนมัติได้
  • ควบคุมอายุผู้ซื้อ แคนาดาตั้งแต่ 19 ปีขึ้นไป มีการตรวจบัตรก่อนเข้าร้านจริงจัง ไทย ตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป
  • การโฆษณา แคนาดาห้ามโฆษณา แม้แต่ในร้านขายยา ไทย ห้ามโฆษณาดอกกัญชา ไม่ห้ามการโฆษณาส่วนอื่นของกัญชา
  • ฉลากบนผลิตภัณฑ์ แคนาดา ระบุระดับสาร THC CBD ให้มีฉลากคำเตือน ไทย  ไม่กำหนด
  • การใช้กัญชาในที่สาธารณะ แคนาดา จำกัดการใช้ในที่สาธารณะ ไทยห้ามใช้แล้วสร้างความรำคาญแก่ผู้อื่น
  • เก็บภาษีกัญชา แคนาดา เก็บภาษาผลิตภัณฑ์กัญชา ไทยไม่เก็บภาษีใดๆ
    ปัญหานโยบายกัญชาประเทศไทย

     นพ.บัณฑิต กล่าวอีกว่า ปัญหานโยบายกัญชาประเทศไทย ส่วนหนึ่ง คือ

1.ปัญหาการแพร่ระบาดของกัญชาและผลกระทบจากการใช้กัญชาอย่างกว้างขวางทั่วประเทศในขณะนี้ โดยไม่มีมาตรการควบคุมเพียงพอ ทำให้มีการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการได้ ไม่ได้เพียงกัญชาทางการแพทย์ตามที่อ้าง

2.ปัญหาของการแก้ปัญหานโยบายกัญชาเสรีไม่ได้อยู่ที่สภาไม่ผ่านพรบ.กัญชา กัญชงเป็นกฎหมาย แต่อยู่ที่การไม่ยอมยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปลดกัญชาเสรี

และ3.การดำเนินนโยบายกัญชาของประเทศไทย กระทำผิดตั้งแต่ต้นที่ไม่ออกกฎหมายกัญชา ก่อนที่จะปลดกัญชาเสรีด้วยประกาศกระทรวงสาธารณสุข หากรอให้มีกฎหมายกัญชาก่อน จะไม่มีสภาวะสูญญากาศกัญชาเสรีแบบปัจจุบัน อีกทั้ง การอ้างว่าประมวลกฎหมายยาเสพติดต้องการปลดักญชาจากการเป็นยาเสพติด เพราะไม่มีคำว่ากัญชา ก็เป็นการอ้างที่ไม่ชอบธรรม เป็นต้น
ชงรมว.สธ.คนใหม่ยกเลิกปลดกัญชา
     “ทางออกของการแก้ปัญหา ประชาชนต้องร่วมกำหนดนโยบายกัญชาของประเทศไทย ด้วยการส่งเสียงให้นักการเมือง โดยเฉพาะรมว.สาธารณสุขคนใหม่ ทราบว่าประชาชนต้องการนโยบายกัญชาทางการแพทย์ หรือกัญชาเพื่อสันทนาการ ทั้งนี้ รมว.สาธารณสุขคนใหม่ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาสพติด สามารถยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับปลดกัญชา โดยกำหนดให้กลับไปเป็นกัญชาทางการแพทย์แล้วพัฒนาให้ดีขึ้นได้”นพ.บัณฑิตกล่าว