สปสช.เร่งรณรงค์ “คัดกรองสายตาเด็กเขต กทม.
ประธาน อปสข. เขต 13 กทม. และ เลขาธิการ สปสช. ลงพื้นที่โรงเรียนพระโขนงวิทยา เขตคลองเตย เร่งคัดกรอง “การตรวจคัดกรองเชิงรุกสายตาผิดปกติในเด็กนักเรียน” ระบุปี 2566 ในพื้นที่ กทม. พบเด็กต้องได้รับแว่นตากว่า 5.6 พันคน ในโรงเรียน 107 แห่ง
นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระดับเขตพื้นที่ (อปสข.) เขต 13 กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการ สปสช. ดร.ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. และ ดร.ทพญ.น้ำเพชร ตั้งยิ่งยง ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 13 ตลอดจน นพ.สุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. ลงพื้นที่โรงเรียนพระโขนงวิทยา เขตคลองเตย เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2566 เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานตรวจคัดกรองสายตาเด็ก ตามสิทธิประโยชน์การตรวจคัดกรองสายตาในเด็กและตัดแว่นฟรีแก่เด็กที่มีปัญหาสายตาผิดปกติ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2566 ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นมา สปสช. เขต 13 กทม. ได้จัดหาหน่วยบริการที่มีจักษุแพทย์จำนวน 10 แห่ง ออกให้บริการตรวจคัดกรองสายตาเชิงรุกในโรงเรียนไปแล้ว 107 โรงเรียน พบนักเรียนที่มีความเสี่ยงและต้องได้รับการตรวจยืนยันโดยจักษุแพทย์ 11,439 คน มีเด็กที่มีความผิดปกติทางสายตาต้องได้รับแว่นตาจำนวน 5,648 คน ขณะที่ในส่วนของโรงเรียนพระโขนงวิทยา ได้รับความร่วมมือจากคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกวินิจฉัยสายตาผิดปกติและตัดแว่นให้นักเรียน โดยพบเด็กที่มีสายตาผิดปกติ 88 คน และจำเป็นต้องตัดแว่น 30 คน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
อย่าลืม! ใส่ใจสุขภาพสายตา จ้องหน้าจอไม่พัก ค่าสายตาเปลี่ยนทุกปี
ทำความรู้จัก "ตาแห้ง" โรคฮิตวัยทำงาน ในยุคติดจอ
ปัญหา "สายตา" ใครว่าเรื่องเล็ก ทำความเข้าใจสาเหตุและวิธีรักษา
เร่งตรวจคัดกรองสายตาเด็กไทย
นพ.สุวิทย์ กล่าวว่า หากเด็กมีความผิดปกติทางสายตาจะทำให้เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง ซึ่งมีผู้ปกครองจำนวนมากที่ต้องออกไปทำงาน ทำให้ไม่ทราบความผิดปกตินี้ จึงต้องอาศัยคุณครูในโรงเรียนทุกๆ โรงเรียนช่วยสังเกตอีกทางหนึ่ง เช่น เวลาเด็กอ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง อาจจะต้องสังเกตเบื้องต้นก่อนว่าเด็กมีสายตาผิดปกติหรือไม่
อย่างไรก็ดี ปัญหาการดำเนินการตรวจคัดกรองสายตาเด็กในพื้นที่ กทม. ในขณะนี้คือยังจัดบริการได้ไม่ทั่วถึง จึงอยากรณรงค์ให้โรงเรียนและผู้ปกครองให้ความสำคัญในการตรวจคัดกรอง ซึ่งถ้าพบเด็กที่มีสายตาผิดปกติ ก็สามารถใช้สิทธิบัตรทองเข้ารับบริการได้เลย ซึ่งถ้าจำเป็นต้องได้รับแว่นตา สิทธิประโยชน์ก็ครอบคลุมตัดให้ฟรี รวมถึงกรณีที่ต้องพบจักษุแพทย์เพื่อทำการรักษาอื่นๆ ก็รักษาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
สปสช.ตั้งเป้าตัดแว่นเด็กประมาณ 4 หมื่นคน
ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวว่า สปสช. ตั้งเป้าตัดแว่นให้เด็กประมาณ 4 หมื่นคน แต่ขณะนี้ตัวเลขยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ในพื้นที่ กทม. เอง เพิ่งเริ่มการคัดกรอง ตัวเลขเด็กที่มีสายตาผิดปกติจึงยังไม่มาก ขณะนี้สามารถตัดแว่นตาให้เด็กไปได้ประมาณ 3,000 ชิ้น ซึ่งยังห่างจากเป้าหมายและต้องดำเนินการตรวจคัดกรองอีกมาก
“จากนี้ต้องรณรงค์ทั่วประเทศเพราะเด็กในวัยนี้ถ้าไม่ได้รับการดูแล ท้ายที่สุดจะทำให้มีปัญหาสายตาที่แก้ไม่หาย ดังนั้นเรื่องนี้จึงต้องแข่งกับเวลาพอสมควร จากการวิเคราะห์ของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) คาดว่าจะมีเด็กประมาณ 4% ที่มีสายตาผิดปกติ ทั้งสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง สายตายาวไม่เท่ากัน ฯลฯ ตรงนี้ต้องลงไปค้นหา และเราอยากรณรงค์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญในการร่วมดูแลสายตาให้กับเด็กๆ ที่ สปสช. ได้จัดสิทธิประโยชน์รองรับไว้แล้ว ” นพ.จเด็จ กล่าว