วันวาเลนไทน์ สธ.แนะ 'อยากมีลูก ชายอย่าแช่น้ำอุ่นนานก่อนมีเซ็กส์'
วันวาเลนไทน์ สธ.แนะเทคนิค คนอยากมีลูก ชายอย่าแช่น้ำอุ่นนานก่อนมีเซ็กส์ ลดคุณภาพอสุจิ ทั้งปริมาณ-คุณภาพ ส่วนผู้หญิงแช่ได้ แนะกลุ่มมีโรคประจำตัว เตรียมร่างกายให้แข็งแรงก่อนท้อง ข้อมูลในไทย 50 % มารดาคลอดเสียชีวิต เกิดจากโรคประจำตัว
เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันวาเลนไทน์ กรมอนามัย มีการดำเนินการเรื่องรักเป็นปลอดภัย สุขกาย สบายใจ มีคำแนะนำ 2 กลุ่มเกี่ยวกับ เรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ ส่งเสริมการมีบุตร ได้แก่
1.การวางแผนครอบครัว กลุ่มที่ต้องการมีบุตร ในวันวาเลนไทน์ถือโอกาสชวนกันไปคลินิกในการตรวจสุขภาพ ความพร้อมของคู่รัก ปรึกษาเรื่องการมีบุตร และมีข้อแนะนำพิเศษสำหรับกลุ่มคนที่ต้องการมีลูก ก่อนมีเซ็กส์ห้ามอาบน้ำอุ่นนานเกินไป
2.การวางแผนครอบครัว กลุ่มที่ยังไม่ต้องการมีบุตร ควรใส่ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์และไม่ให้เกิดโรค
อุณหภูมิน้ำมีผลต่ออสุจิ
นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ สูตินรีแพทย์ และโฆษกส่วนตัวรมช.สธ. กล่าวว่า กรณีไม่ควรอาบน้ำอุ่นนานเกินไปก่อนมีเซ็กส์ในผู้ที่ต้องการมีบุตรนั้น มีงานวิจัยมาหลายปีและล่าสุดปี 2565 เป็นการรวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยหลายชิ้น เนื่องจากอุณหภูมินั้นมีผลต่อคุณภาพอสุจิ ทำให้คุณภาพลดลงทั้งปริมาณและคุณภาพการแล่นเร็ว ไม่เพียงเท่านี้ รวมถึง ผู้ที่ใส่กางเกงยีนส์รัดแน่น ขับขี่มอเตอร์ไซค์นาน หรือนักกีฬาปั่นจักรยาน
“อุณหภูมิน้ำหรือแช่ระยะเวลานานเท่าไหร่ ยังไม่มีตัวเลขชัดๆ แต่ไม่ควรนานเกินไป ส่วนผู้หญิงนั้น อุณหภูมิไม่ได้มีผลต่อคุณภาพไข่เพราะอยู่ในร่างกายที่มีอุณหภูมิเหมาะสมอยู่แล้ว แต่อวัยวะเพศชายที่ผลิตอสุจิอยู่นอกร่างกาย ที่จะต้องมีอุณหภูมิต่ำกว่าร่างกาย 1-2 องศาเซลเซียส”นพ.โอฬาริกกล่าว
4 กลุ่มเข้าข่ายมีบุตรยาก
กรณีผู้มีบุตรยากแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
1.อายุต่ำกว่า 35 ปี หากไม่มีการคุมกำเนิดมาแล้ว 1 ปี และมีเซ็กส์สม่ำเสมอ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ แล้วยังไม่ตั้งครรภ์ ให้รีบมาปรึกษาแพทย์
2.อายุ 35-40 ปี ไม่มีการคุมกำเนิดนาน 6 เดือน และมีเซ็กส์สม่ำเสมอ ให่รีบมาพบแพทย์
3.อายุเกิน 40 ปี ถือว่าอยู่ในภาวะมีบุตรยาก ให้รีบพบแพทย์
4.มีประวัติมีโรคเกี่ยวกับรังไข่ เช่น ช็อกโกแลตซีสต์ หรือได้ยาบางอย่างที่อาจจะส่งผลต่อคุณภาพไข่ เป็นต้น
คุมกำเนิดกลุ่มมีโรคประจำตัว
นพ.โอฬาริก กล่าวด้วยว่า ข้อมูลประเทศไทย พบว่า มารดาที่คลอดเสียชีวิต 50 % ไม่ใช่เกิดจากโรคทางสูติกรรม แต่เกิดจากโรคประจำตัวที่มีอยู่ เช่น เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ จึงได้มีการหารือร่วมกลุ่มราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ ราชวิทยาลัยเวชศาสตร์ครอบครัวฯ และราชวิทยาจิตแพทย์ฯ ในการวางแผนคุมกำเนิดหรือวางแผนตั้งครรภ์ในคนมีโรคประจำตัวที่ยังไม่เหมาะสมกับการตั้งครรภ์
เมื่อมาตรวจกับแพทย์เจ้าของไข้ ก็ให้มีการปรึกษาเรื่องวางแผนครอบครัวด้วย ในกรณีที่อยากมีบุตร ต้องรักษาร่างกายให้แข็งแรง คุมอาการให้ได้ ลดยาที่รับประทานประจำก่อนการตั้งครรภ์ แต่หากไม่ต้องการมีบุตร ก็ให้วางแผนเรื่องการคุมกำเนิดทั้งชั่วคราวและถาวร รวมถึง คนที่เป็นโรคอ้วนต้องมีการวางแผนก่อนการตั้งครรภ์ด้วย ซึ่งประเทศไทยมีคนน้ำหนักเกิน 60 % ในจำนวนนี้เป็นโรคอ้วน 37 %