'วันวาเลนไทน์' เรียนรู้ 12 เรื่องราวความรัก ครอบครัวผู้มีภาวะสมองเสื่อม
วันวาเลนไทน์ เรียนรู้ 12 เรื่องราว 'มากกว่ารัก คือ เข้าใจ' ผ่านเรื่องจริงของผู้ดูแลครอบครัวผู้มีภาวะสมองเสื่อม
เนื่องในวันวาเลนไทน์และเดือนแห่งความรัก คอลัมน์ “วันวาน ณ ปัจจุบัน” เว็บไซต์ CaregiverThai.com พลังใจสู้สมองเสื่อม โดยสาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล รวบรวมเรื่องเล่ารักประทับใจจากชีวิตจริงของผู้ดูแล 12 ครอบครัวผู้มีภาวะสมองเสื่อม
จากหนังสือในชื่อเดียวกัน โดยสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม มานำเสนอบนแพลตฟอร์มออนไลน์ วันวาน ณ ปัจจุบัน - CaregiverThai.com เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ตรงในการใช้ชีวิตดูแลคนที่รักในครอบครัว แม้จะเข้าสู่สภาวะสมองเสื่อม
ผศ.พญ. สิรินทร ฉันศิริกาญจน สาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในโอกาสวันแห่งความรัก ขอเชิญมาอ่านเรื่องราวความรักที่ยิ่งใหญ่ของ ผู้ดูแลและครอบครัวที่มีสมาชิกเป็นผู้มีภาวะสมองเสื่อม ผู้อ่านจะสัมผัสได้ถึงความรักและความผูกพันในทุกแง่มุม ระหว่าง คุณพ่อและคุณแม่ แม่กับลูก พี่กับน้อง และป้ากับหลาน
เนื้อหาที่ตัวจริงจากแต่ละครอบครัวบอกเล่า เหตุการณ์ทุกช่วงเวลา สุข ทุกข์ เครียด โกรธ โมโห ปลง ตั้งแต่วันที่ทราบผลวินิจฉัยสมองเสื่อมจนถึงปัจจุบัน อ่านแล้วจะสัมผัสได้ถึงบทพิสูจน์ของคำว่า “มากกว่ารัก คือ เข้าใจ” นั้นเป็นอย่างไร
“จะได้ซาบซึ้งในมหัศจรรย์แห่งความรักที่คนมีต่อกันในอีกมุมมองที่แตกต่าง ได้เห็นการฟันฝ่าอุปสรรค และการรับมือ แก้ปัญหาของแต่ละครอบครัว รวมทั้งอารมณ์ความรู้สึก ที่สำคัญ คือ การปรับตัวและการแก้ปัญหา ช่วยให้สังคม เปิดใจ เข้าใจและเอื้อเฟื้อผู้มีภาวะสมองเสื่อมและผู้ดูแล เพื่อให้ทั้งผู้ป่วยและคนในครอบครัวสามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”ผศ.พญ.สิรินทรกล่าว
เรื่องราวของความรัก 12 เรื่อง ประกอบด้วย
EP. 01 ฉันจะเป็นชีวิตและจิตใจ ให้เธอจนวันสุดท้าย
พี่สาวของฉัน ฝึกให้เรารู้จักว่า ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง โดยที่เราไม่ต้องไปเรียนรู้จากที่ไหนอีกเลย เขาใช้ตัว ของเขาสาธิตให้เราดู เขาสอนเราจนซาบซึ้งว่าความไม่เที่ยงของชีวิตเป็นอย่างนี้เอง
EP. 02 สมองเสื่อม...ปัญหาของครอบครัว
เมื่อพ่อป่วย ทำให้ได้รู้ถึงปัญหา ที่ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะต้องพบ ฉันและทุกคนในครอบครัวต้องปรับตัวมาก ชีวิตส่วนตัวที่เคยมีเวลาพักผ่อนหายไปเกือบหมด ต้องดูแลทั้งพ่อและแม่
EP. 03 ด้วยรักของลูก
พ่อแม่มีลูกหลายคน และต้องการพึ่งพาลูกทุกคน การขอความร่วมมือ เมื่อเป็นไปแบบธรรมชาติ ค่อย ๆ ซึมซับทุกคนก็จะไม่อึดอัด และยินดีให้ความร่วมมือ
EP. 04 เยียวยาสมองเสื่อมด้วยหัวใจ
พ่อกลับไปเป็นเด็กมากขึ้น ชอบให้แสดงความรัก ถ้ากอดหรือหอมแก้ม ก็จะมีความสุขมาก บางวันพ่อจะกอด และหอมแก้มลูกตอบ
EP. 05 ทุกข์ ของผู้เป็นที่รัก
พ่อกับแม่เป็นคู่ที่ไม่ห่างกันเลย พ่อเป็นพระเอกของแม่ พ่อรักและให้เกียรติแม่ จนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต ถึงแม้ว่าแม่จะไม่รับรู้เรื่องราวรอบตัวก็ตาม แม่ยังคงเป็นความห่วงใยของพ่ออยู่เสมอ ย้อนกลับไปในอดีต ความรักระหว่างคุณพ่อกับคุณแม่นั้น เป็นรักแรกพบ…
EP. 06 กว่าเราจะเข้าใจกัน
แม่ยังคงมีความรักเปี่ยมล้นให้เสมอ แต่โรคอัลไซเมอร์ ทำให้เวลาของเราที่จะรักและจำกัน ได้สั้นลงทุกที แม่ลืมทุกอย่างทีละน้อย ทั้งคนที่แม่รัก หรือแม้กระทั่งตัวของแม่เอง
EP. 07 โรคของแม่สอนให้ลูกเป็นคนดีขึ้น
ความเจ็บป่วยของแม่ สอนให้ผมเป็นคนดีขึ้นกว่าเดิม เมื่อบทบาทของเรากลับกัน …ถึงเวลานี้ท่านจะ ไม่รู้จักเราอีกต่อไปแล้ว แต่ท่านก็รู้ว่านี่คือสิ่งดี ๆ ที่ท่านได้รับ ท่านสมควรได้รับสิ่งที่ดีที่สุด และคนที่จะทำให้ท่านได้ คือเรา
EP. 08 ปรับใจยอมรับ อัลไซเมอร์ ของแม่
คุณหมอบอกว่าเริ่มเป็นอัลไซเมอร์เร็วกว่าปกติ คนส่วนใหญ่ที่เป็นโรคนี้ซึ่งมักจะเป็นตอนอายุราว ๆ 65 ปี ให้เราทำใจว่าท่านอาจจะอยู่กับเราได้ไม่นาน อาจจะอยู่ได้อีก 10 ปี หรือ 15 ปีขึ้นไป ขึ้นอยู่กับการดูแลของเรา
EP. 09 อัลไซเมอร์...คำที่ไม่มีวันลืม
ท่ามกลางความทุกข์ ความยากลำบาก ความเหน็ดเหนื่อย และน้ำตาที่ประสบมานั้น ดิฉันพบว่ามี สิ่งงดงาม ที่เรียกว่า “ความรัก” และ “ความสุข”
EP. 10 ครอบครัว คือยารักษาใจ
ความสัมพันธ์ในครอบครัวสำคัญมาก ความรักช่วยคุณแม่และพวกเราไว้ คุณพ่อผมทุกข์ใจแต่ต้องดูแลลูก ๆ ท่านจึงอ่อนแอไม่ได้ …เพราะชีวิตของเรายังต้องเดินหน้าต่อไป และต้องมีคุณแม่อยู่ในชีวิตเราด้วย
EP. 11 คุณค่าชีวิตหลังเกษียณ
วันหนึ่งที่เราต้องเผชิญกับเรื่องร้ายหรือหมดกำลังใจ คำดี ๆ เหล่านั้นจะเป็นแสงสว่างนำทาง ให้เราก้าวไป อย่างมีสติมีพลังและมีปัญญา ...พวกเขาเคยถามว่า ผมคิดอย่างไร ผมตอบไปว่า ชีวิตให้โอกาสผมได้ดูแลพี่ที่ผม รักมาก ผมก็จะทำให้ดีที่สุด
EP. 12 มากกว่ารักคือเข้าใจ
การมีผู้ป่วยสมองเสื่อม 1 คน กระทบทุกคนในครอบครัว บางครอบครัวที่ขาดความเข้าใจ ทะเลาะกับ ผู้ป่วย บ้าง .เลวร้ายที่สุด ก็คือ การหมดรักและทอดทิ้งผู้ป่วย เพราะฉะนั้นความเข้าใจจากคนในครอบครัวจึงสำคัญที่สุด
สามารถติดตามอ่านเรื่องสั้นจากชีวิตจริงที่เต็มไปด้วยความรักที่น่าประทับใจทั้ง 12 ครอบครัวได้ที่ มุมผู้ดูแล คอลัมน์ “วันวาน ณ ปัจจุบัน” กดลิ้งค์ได้ที่นี่ วันวาน ณ ปัจจุบัน - CaregiverThai.com