อัตราเลี้ยงลูกด้วย 'นมแม่' ลด ถึงเวลา 'หญิงลาคลอด 6 เดือน'

อัตราเลี้ยงลูกด้วย 'นมแม่' ลด ถึงเวลา 'หญิงลาคลอด 6 เดือน'

โควิด-19 ส่งผลอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 6 เดือนแรกลดลงเกือบ 10 %  กรมอนามัย-ศูนย์นมแม่ฯ จับมือขับเคลื่อน 4 ยุทธศาสตร์ดันให้ถึงเป้าเด็กไทย กินนมแม่อย่างเดียวถึง 6 เดือน 50 % ขอรัฐและผู้ประกอบการสนับสนุน “กฎหมายหญิงลาคลอดได้ 6 เดือน”  

       เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2565 ที่กรมอนามัย ในการลงนามบันทึกข้อตกลงการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ระหว่างกรมอนามัยและมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย  นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นับเป็นรากฐานที่ สำคัญของสุขภาพทารกที่ดี นมแม่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ เป็นวัคซีนหยดแรกในการสร้างภูมิคุ้มกันของทารก เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาระดับสติปัญญาส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กอย่างต่อเนื่องยาวนาน  
 ปี 68 นมแม่อย่างเดียว 6 เดือน 50 %

        กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีนโยบายในการส่งเสริมให้เด็กไทยทุกคนได้กินนมแม่อย่างเต็มที่ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก คือ กินนมแม่ตั้งแต่ 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต และกินนมแม่ต่อเนื่องควบคู่อาหารตามวัย จนถึงอายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้น โดยมีเป้าหมายในปี 2568 ให้เด็กไทย5 0 %จะได้กินนมแม่อย่างเดียวถึง 6 เดือน ซึ่งกรมอนามัย และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องจะเร่งดำเนินการส่งเสริม ให้เด็กไทยได้กินนมแม่ ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคมเพื่อปกป้อง ส่งเสริม และสนับสนุนให้เด็กไทยทุกคนได้กินนมแม่เป็นการวางรากฐานที่มั่นคงให้แก่เด็กไทย

  อัตราเลี้ยงลูกด้วย \'นมแม่\' ลด ถึงเวลา \'หญิงลาคลอด 6 เดือน\'

   “การลงนามความร่วมมือนี้ นอกจากจะสนับสนุนนโยบายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทย ยังเป็นการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายที่องค์กรอนามัยโลกกำหนด รวมทั้ง ให้คุณแม่ทุกคนสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จและรวมพลังผลักดันให้ครอบครัว สังคมไทยเข้าสู่วิถีสังคมนมแม่ ให้เด็กไทยทุกคนได้มีโอกาสเติบโตอย่างมีคุณภาพ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป” นพ.สุวรรณชัยกล่าว 

 อัตราเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดลง
        ขณะที่ พญ.ศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 6 เดือนแรกที่เป็นตัวชี้วัดระดับนานาชาติ ในการบอกสถานการณ์เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของประเทศต่างๆ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยล่าสุดปี 2565 อยู่ที่ 14 % ตกลงจากปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 23 % เป็นผลเหมือนทั่วโลก เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19  ที่ส่งผลให้ต้องมีการผ่าคลอด และเมื่อคลอดแล้วต้องแยกลูกออกจากแม่  เพราะกลัวว่าเด็กจะติดโควิดจากแม่ ทำให้ทารกไม่ได้เข้าเต้าตั้งแต่คลอด กว่าจะรู้ว่าเลี้ยงลูกได้ก็ใช้เวลาแล้ว และแม่ยังไม่ค่อยกล้าเลี้ยงแบบให้นมลูกจากเต้า

          การที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย 50 % ทุกภาคส่วนจะต้องเข้ามาร่วมกันดำเนินการเรื่องนี้ ซึ่งกรมอนามัยและศูนย์นมแม่ฯได้ร่วมกันร่าง ยุทธศาสตร์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ขึ้น เพื่อให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็น วิถีของแม่และสังคมไทย จะมีการประชาพิจารณ์ในช่วงเดือนมิ.ย.นี้ ประกอบด้วย  4 ประเด็นยุทธศาสตร์ คือ 1.การขับเคลื่อนนโยบายและกฎหมาย ส่วนสำคัญคือการผลักดันให้ออกกฎหมายหญิงลาคลอดได้ 6 เดือน  จากที่ปัจจุบันลาได้ 3 เดือน 2.การปลูกฝังและสร้างค่านิยม 3.การพัฒนาคุณภาพระบบบริการ และ 4.การจัดการความรู้และนวัตกรรม  

อัตราเลี้ยงลูกด้วย \'นมแม่\' ลด ถึงเวลา \'หญิงลาคลอด 6 เดือน\'

ต้องออกกฎหมายหญิงลาคลอด 6 เดือน
          ดังนั้น  การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จะพิจารณาถึงแนวทางที่จะทำให้เด็กไทยได้รับนมแม่มากขึ้น  โดยที่ผ่านมา ในระบบบริการมีการปรับให้แม่คลอดต้องสามารถให้นมแม่ลูกได้ก่อนออกจากรพ.แล้ว แต่พบว่าหลังจากนั้นไม่ได้ให้ต่อเนื่อง จากการที่แม่ต้องทำงาน จึงอยากให้รัฐบาลและผู้ประกอบการมีนโยบายที่จะส่งเสริมในการให้เด็กไทยได้รับนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน ด้วยการผ่านกฎหมายให้หญิงลาคลอดได้ 6 เดือน โดยได้รับเงินเดือน  ซึ่งประเทศเวียดนามให้หญิงลาคลอดได้ 6 เดือน ทำให้อัตราการเลี้ยงลูกนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนขึ้นไปถึงกว่า 40 % แล้ว


 “รัฐบาลและผู้ประกอบการต้องสนับสนุนให้มีการลาคลอดได้ 6 เดือนพร้อมได้รับเงินเดือน  เพื่อให้แม่ได้เลี้ยงลูก ซึ่งจะได้ทั้งการให้ลูกกินนมแม่ ดูแลเรื่องพัฒนาการ  เกิดความผูกพันระหว่างแม่ลูกจะได้ไม่มีการทิ้งหรือตีแม่”พญ.ศิริพรกล่าว


สนับสนุนเดย์แคร์เด็ก 3 เดือน-2ปีครึ่ง

          ถ้ายังไม่ออกกฎหมายให้หญิงลาคลอด 6 เดือน ก็จะต้องจัดหาคนดูแลที่มีคุณภาพมาช่วยดูแล  โดยรัฐควรจะต้องลงทุนให้งบประมาณสนับสนุนการทำ “เดย์แคร์เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี” ที่จะให้เด็กได้รับการเลี้ยงดูที่มีคุณภาพให้ได้กินนมแม่ ซึ่งเด็ก  2 ขวบครึ่งขึ้นไป ได้ค่าอาหาร ค่านมจากรัฐบาล ก็ควรสนับสนุนเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบครึ่งด้วย เพราะเด็กไทยประมาณ 50 % ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ทั้งที่เป็นช่วงคุณภาพของชีวิต

         อาจจะเริ่มจากการสนับสนุนไปยังเดย์แคร์หรือศูนย์เด็กเล็กของ กระทรวงมหาดไทยที่มีอยู่ในชุมชน ราว 25,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเดิมดูแลเด็กตั้งแต่ 2 ปีครึ่งขึ้นไป ขยายให้สามารถรับเด็กอายุ 3 เดือน- 2 ปีครึ่งด้วย โดยบุคลากรที่จะดูแลในช่วงวัยนี้ เป็นหน้าที่ของสธ.ร่วมฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรที่จะเข้าไปดูแลเด็ก โดยนำร่องเป็นต้นแบบในพื้นที่ที่มีความพร้อมก่อน  และตั้งเป้าหมายในแต่ละปีจะต้องเพิ่มขึ้นเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ 
          คุณแม่ที่กำลังทำงานลาคลอดได้แค่ 3 เดือน แต่เด็กควรจะต้องได้กินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนแรก เพราะว่าอาหารเพียงพออยู่ในนมแม่หมดแล้ว  ดังนั้น สถานประกอบการอย่างน้อยควรต้องมีมุมนมแม่ ที่มีเวลาเบรคให้ผู้หญิงระหว่างงานเช้า-บ่าย เพื่อบีบนมแม่เก็บไว้ให้ลูกกินตอนแม่มาทำงาน หากไม่ได้บีบระหว่างวัน แม้กลับไปให้ลูกกินก็จะแห้งภายใน 1 เดือน
       หรือถ้าจะให้ดีต้องมีศูนย์เด็กอ่อนเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานที่ทำงาน  แต่ถ้าจะให้มีประสิทธิภาพที่สุด ต้องให้หญิงลาคลอดได้ 6 เดือน ซึ่งรัฐบาลต้องลงทุนตรงส่วนนี้ และสนับสนุนให้บริษัทจ่ายเงินเดือน  อาจจะมีมาตรการช่วยลดภาษีหรืออื่น

อัตราเลี้ยงลูกด้วย \'นมแม่\' ลด ถึงเวลา \'หญิงลาคลอด 6 เดือน\'
บริษัทส่งเสริมนมแม่คุ้มทุน
         ปัจจุบันมีบางบริษัทที่มีการดูแลเรื่องส่งเสริมนมแม่ให้กับพนักงานได้ดี ก็พบว่าราคาหุ้นบริษัทขึ้นจาก 60 กว่าบาทเป็น 900 กว่าบาท หรือบางบริษัทมีการเก็บข้อมูล พบว่า อัตราการลางานของแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพื่อไปดูแลลูกที่ป่วยน้อยกว่าแม่ที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ รวมถึง เงินที่จะต้องซื้อนมผสมมาเลี้ยงลูกเดือนละ 2,000 บาทก็ไม่ต้องเสีย แสดงให้เห็นว่าการให้กินนมแม่ คุ้มกว่าการไปกินนมผสม ซึ่งเด็กก็เสี่ยงจะป่วยมากกว่า เบ็ดเสร็จแล้วพนักงานที่ให้ลูกกินนมแม่มีผลผลิตของงานดีมากกว่า

“ตอนนี้ผู้หญิง 1 คน โดยเฉลี่ยก็มีลูกได้ 1-2 คน  รัฐควรส่งเสริมให้มีการเลี้ยงดูที่มีคุณภาพ ซึ่งองค์กรยูนิเซฟระบุตัวเลขชัดเจนว่า ถ้าลงทุนเด็กช่วงปฐมวัย อัตราผลตอบแทนกลับเกิดขึ้น 16 เท่า ดังนั้นรัฐบาลควรลงทุนในเด็กช่วงวัยต่ำกว่า 2 เดือนครึ่งด้วย”พญ.ศิริพรกล่าว 


          อนึ่ง มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ยังได้ร่วมกับกรมอนามัยจัดการประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติครั้งที่ 8 เรื่อง เสริมพลัง สร้างความรู้ สู่วิถีนมแม่ อย่างยั่งยืน Step up Breastfeeding: Educate, Support and Sustain โดยมีราชวิทยาลัยกุมารเวชศาสตร์ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ สภาการพยาบาล สมาคมโภชนาการเด็ก กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมด้วย เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และฟื้นฟูวิชาการการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ทันสมัย ในวันที่ 21-23 มีนาคม 2566 ซึ่งสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานทาง www.thaibfconference.net ตั้งแต่วันนี้ถึง 6 มีนาคม 2566