'ซีเซียม-137' ไม่เทียบเท่ากับ ‘เชอร์โนบิล’

'ซีเซียม-137' ไม่เทียบเท่ากับ ‘เชอร์โนบิล’

ผลกระทบซีเซียม-137 ไม่เทียบเท่ากับ ‘เชอร์โนบิล’ ที่ยูเครน อดีตเคยใช้ฝั่งแร่ในการรักษาโรคมะเร็ง ก่อนเปลี่ยนมาเป็นพลังงานไฟฟ้าในปัจจุบัน

      เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2566 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ซีเซียม -137 เป็นกัมมันตรังสี ทำให้เซลล์ของมนุษย์เกิดความผิดปกติขึ้น เดิมซีเซียม-137  มีประโยชน์ใช้ในการรักษามะเร็ง ผู้ป่วยได้รับการฝังใส่แร่ซีเซียม  แต่ค่าครึ่งชีวิตนานไปกำจัดยาก จึงเปลี่ยนเป็นโคบอลต์ที่มีครึ่งชีวิต 5 ปี และการแพทย์ก็พัฒนามาเรื่อยๆ จนเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าที่หลายรพ.ใช้อยู่ในปัจจุบัน  ทั้งนี้ การใช้รังสีในทางการแพทย์ ไม่มีปัญหา  มีการจัดการเอาเข้าออกอย่างดี
 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'ซีเซียม-137' สธ.เฝ้าระวัง 3 กลุ่มอาการ ป่วยรีบพบแพทย์
'ซีเซียม-137อันตราย' เช็ก อาการเมื่อสัมผัส ช่องทางเข้ารับรักษา

      กรณีที่จ.ปราจีนบุรี เกิดจากการถูกขโมย ซึ่งหากถูกหลอมไปแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นต้องดูว่า ลักษณะความร้อนที่ใช้ในการหลอม หากสูงมากก็ไม่น่ากังวลสารก็สลายไป ที่น่ากังวลคือเศษฝุ่นที่มีซีเซียมติดอยู่อาจกระจายออกไป ต้องให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติตรวจสอบและวัดสารดังกล่าวในสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสารไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า จึงเป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่าร่างกายได้รับสารแล้วหรือไม่ แต่สังเกตได้จากอาการป่วย ที่มีประวัติสัมผัสสารดังกล่าว ต้องพบแพทย์เพื่อสอบสวนโรค โดยต้องติดตามตั้งแต่ เส้นทางการขนย้ายภายในโรงงาน พื้นที่ด้วย

      การรักษาต้องดูว่าสารถูกอวัยวะสำคัญหรือไม่ อาจเสียชีวิตได้ ทั้งในระยะสั้นและยาว อย่างกรณีโคบอลต์-60 ที่ซาเล้งขายของเก่า เก็บโคบอลต์และได้รับสารพิษ หากถูกอวัยวะสำคัญ ก็มีผลกระทบ รวมไปถึงเซลล์และกระดูกไขสันหลัง เกิดการติดเชื้อได้ง่าย  และการก่อให้เกิดโรคมะเร็ง 
         “ข้อกังวลของคำแถลงที่สำนักปรมาณูฯระบุว่า ฝุ่นในโรงงานหลอมมีซีเซียมปน หากมีปริมาณโมเลกุลที่เล็กมาก  ซีเซียมก็มีผลน้อย แต่เนื่องจากสารไม่มีสีไม่มีกลิ่นก็ต้องเฝ้าดู ทั้งนี้ ผลกระทบจากกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ไม่เทียบเท่ากับ เชอร์โนบิล ที่ยูเครน ไม่ต้องกังวลมาก”นพ.ศุภกิจกล่าว