นายกฯสั่งเร่งสอบสวนเส้นทางไป 'ซีเซียม-137'
'ซีเซียม-137' รมช.สธ.ลงพื้นที่ปราจีนบุรี-ระยอง เตรียมพร้อมระบบสาธารณสุขดูแลประชาชน ขออย่าเพิกเฉยต้องสังเกตอาการตัวเอง เผยนายกฯสั่งเร่งสอบสวนเส้นทางไป
เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2566 นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเตรียมลงพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี และ จ.ระยอง เพื่อประชุมติดตามผู้ที่ได้รับผลกระทบจากซีเซียม-137 ซึ่งพบฝุ่นแดงของสารซีเซียม-137 ที่ถูกส่งจาก จ.ปราจีนบุรี มายัง จ.ระยองว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งตรวจเส้นทางว่าเมื่อหลอมเป็นฝุ่นแดงแล้วใส่ในบิ๊กแบ็ก จะส่งไปพื้นที่ไหน เพื่อความปลอดภัยของประชาชน
ถ้ามีแค่นั้นก็ถือว่าควบคุมได้ แต่ก็ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงและข้อสรุปเกี่ยวกับซีเซียม-137ที่หายไปว่า ถูกโจรกรรมไป ถูกขโมยไปโดยไม่รู้หรือหลุดรอดไปอย่างไร แต่ระบบสาธารณสุขต้องเตรียมพร้อมรองรับต้องมอนิเตอร์ ติดตาม เฝ้าระวัง หากพบการรั่วไหลและเป็นเหตุให้ผู้ป่วยจากการสัมผัสสารซีเซียม-137 ต้องได้รับการรักษาถูกวิธี รวดเร็วทันเวลาและปลอดภัย ส่วนจะมีคนเกี่ยวข้องมากแค่ไหนต้องรอผลสอบสวนเส้นทาง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
“ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสาร อย่าตื่นตระหนกจนเกินไปแต่ก็อยากเพิกเฉยจนเกินไป อันตรายซีเซียม-137 เมื่อหลอมเป็นฝุ่นเหล็กแล้วอันตรายมีมากน้อยแค่ไหน ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญพิจารณา อาจอันตรายน้อยกว่ากัมมันตรังสีโดยตรง เพราะผ่านการทำลายมาแล้ว แต่ก็มีโอกาสเป็นพิษได้อยู่ เพราะอะไรที่เป็นสารพิษเมื่อร่างกายสัมผัสติดต่อกันนานก็อาจก่อให้เกิดโรคต่างๆ ต้องสกัดกั้นให้ได้เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาสุขภาพประชาชน”นายสาธิตกล่าว
นายสาธติ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 22 มี.ค.2566 จะลงพื้นที่จ.ระยองก็จะลงไปดูและกำชับมาตรการ เช่น ประชาชนบริเวณโดยรอบ เจ้าหน้าที่ พนักงาน เจ้าของโรงงานที่ทำอยู่ที่เกี่ยวข้องกับการเก็บฝุ่นแดง เราจะส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตรวจสอบ ตรวจเลือดว่ามีสารปนเปื้อนอะไรไหม แต่เข้าใจว่าจังหวัดน่าจะเดินหน้าไปบ้างแล้ว เนื่องจากโทรสั่งการนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ระยอง ไปแล้ว ให้เข้มข้นมากขึ้น ขณะนี้ยังไม่มีผู้ป่วย ต้องขอให้ประชาชนทั้งในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี และ จ.ระยอง สำรวจอาการของตนเอง หากพบว่าป่วยก็ขอให้มาพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย
"คนที่มีอาการเข้าข่ายสงสัย ขอให้ไปพบแพทย์ อย่างน้อยหากพบจะได้รู้ว่าสัมผัสที่ไหนอย่างไร เพื่อเป็นข้อมูลการสอบสวนที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนการสร้างความเชื่อมั่นใจในจังหวัด มองว่าการให้ข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะต้องเชื่อข้อมูลจากหน่วยงานราชการที่ได้ไปตรวจวิเคราะห์พื้นที่ ก็พบว่ามีปริมาณสารต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน " นายสาธิตกล่าว
อนึ่ง การเฝ้าระวังอาการป่วย3 กลุ่ม ได้แก่
1.กลุ่มผิวหนัง เนื้อเยื่อ อาการจะมีตั้งแต่ตุ่มน้ำใส เนื้อตาย เป็นต้น
2. กลุ่มอาการทั่วไป คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ
3.กลุ่มอื่นๆ ระยะกลางและระยะยาว จะไวต่อเซลล์ที่มีการแบ่งตัว เช่น เม็ดเลือดขาว และผม เป็นต้น
จากข้อมูลที่มีขณะนี้กำหนดขอบเขตโดยการตรวจสุขภาพของคนงานในโรงงานหลอมเหล็กทุกคน โดยผู้เชี่ยวชาญจะประเมินอีกครั้งว่าจะต้องตรวจอะไรบ้าง ตั้งแต่ตรวจสุขภาพ ตรวจการปนเปื้อนในปัสสาวะ และอื่นๆ