'ดูแลสุขภาพพนักงาน' ถึงจุดเปลี่ยนระบบแทนการเจ็บแล้วค่อยจ่าย

'ดูแลสุขภาพพนักงาน' ถึงจุดเปลี่ยนระบบแทนการเจ็บแล้วค่อยจ่าย

'เจ็บแล้วค่อยจ่าย' อาจมิใช่ระบบ'ดูแลสุขภาพพนักงาน'ที่จะดึงคนไว้กับองค์กรได้อีก ต้องปรับใหม่มุ่งสู่การสร้างเสริมสุขภาพตั้งแต่ยังไม่ป่วย นับเป็นซอฟต์พาวเวอร์และจุดแข็งหนึ่งของภาคธุรกิจในซีกโลกตะวันออก และไม่เพียงสุขภาพกาย แต่รวมถึงสุขภาพใจ สุขภาพสังคมด้วย

        “กรุงเทพธุรกิจ”มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ“สุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย” เกี่ยวกับประเด็นเรื่องภาคเอกชนในการเป็นองค์กรสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งให้มุมมองว่า  หากพูดถึงระบบสุขภาพคนจะมองระบบการรักษาอย่างเดียว ทั้งที่เป็นขั้นตอนสุดท้าย เป็นระบบแก้ไขที่เจ็บค่อยจ่าย  มองแบบมิติดั้งเดิม คือ ถ้าไม่เจ็บไม่ป่วยไม่เป็นอะไรก็ไม่ต้องทำอะไร เจ็บป่วยแล้วค่อยเบิกค่ารักษา 

      แต่การดูแลสุขภาพมีมิติที่กว้างกว่านั้น จะต้องดูแลทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ สุขภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพสังคม  และไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะต้องได้รับการดูแลจากภาครัฐ หรือกระทรวงสาธารณสุขอย่างเดียว เนื่องจากรัฐใช้งบประมาณในการป้องกันสุขภาพน้อยมากราว  7 %  ของการรักษาที่ใช้ปีละ 6-7 แสนล้านบาท ดังนั้น ภาคเอกชนควรเข้ามามีส่วนร่วม ในการให้ความสำคัญเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพของพนักงาน ป้องกันไม่ให้ป่วย   

      ทั้งนี้ ปัจจุบันภาคเอกชนให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพของพนักงานมากน้อยแตกต่างกันหลายระดับ  หากเป็นระดับกลุ่มบริษัท มีความมุ่งมั่นที่จะรักษาบุคลากรในองค์กร เพราะการดูแลสุขภาพ เป็นส่วนหนึ่งของการดูแลทรัพย์สินที่สำคัญที่สุด คือ บุคลากร 
       เพราะการรักษาสุขภาพเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาคุณภพาการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ส่วนระดับกลาง เอสเอ็มอี มีความตั้งใจที่จะเสริมสร้างสุขภาพ เห็นคุณค่าพนักงานเป็นสำคัญ จะมีระบบเรื่องการ ป้องกัน เช่น ฉีดวัคซีน ออกกำลังกาย จัดสภาวะการอาหาร และระดับที่ยังไม่ได้ให้ความสนใจกับสุขภาพพนักงาน

\'ดูแลสุขภาพพนักงาน\' ถึงจุดเปลี่ยนระบบแทนการเจ็บแล้วค่อยจ่าย
สร้างเสริมสุขภาพ-องค์กรมั่นคง

      “สุรงค์” บอกว่า การสร้างเสริมสุขภาพของพนักงานมีส่วนที่สำคัญไม่เพียงแต่ดูแลให้พนักงานสุขภาพดีเท่านั้น แต่ยังเป็น “ความมั่นคงของการทำงาน” หลายองค์กรน่าอยู่เพราะมีสวัสดิการที่ดี ซึ่งการดูแลสุขภาพเป็นหนึ่งในสวัสดิการที่ดึงดูดพนักงาน ที่เห็นชัดเช่น ในกลุ่มปตท.  กลุ่มซีเมนต์ กลุ่มกสิกร
        ซึ่งมีการศึกษาว่าพนักงานส่วนใหญ่ส่วนสำคัญที่คงอยู่ เพราะเรื่องของสวัสดิการที่มีประโยชน์และได้ประโยชน์ ค่าใช้จ่ายที่เป็นสวัสดิการในเรื่องการป้องกันโรคก็ไม่สูง เป็นเรื่องของจิตอาสา ร่วมกันทำกิจกรรม การตรวจสุขภาพต่างๆ เป็นต้น เพราะฉะนั้นสุขภาพเพื่อสวัสดิการเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการรักษาคุณภาพคนและงาน

       อีกทั้ง  ถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ หากองค์กรที่ดูแลใส่ใจพนักงาน สังคมจะมองเห็นว่ามีการดูแลทรัพยากรมนุษย์ สะท้อนถึงการดูแลสุขภาพของสังคมด้วย ซึ่งส่วนตัวเป็นซีอีโอของโรงกลั่นไทยออยล์ ได้มีการสำรวจสุขภาพของประชาชนรอบโรงกลั่นทั้งตำบล เก็บเป็นข้อมูลสถิติ ส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องเบาหวาน และโรคไม่ติดต่อ ที่สามารถป้องกันได้ เป็นโรคที่ทำขึ้นมาเอง จากอาหาร อากาศ อารมณ์  

     บางองค์กรชั้นนำมีการดูแลเรื่องของสุขภาพจิตด้วย เพราะกำลังเป็นปัญหาของวัยทำงานและสังคม  จึงต้องมีการตรวจเช็คสุขภาพจิตของพนักงาน วัดความเครียด ตรวจสอบอารมณ์ จะเป็นประโยน์ในการรักษาสุขภาพพนักงาน

\'ดูแลสุขภาพพนักงาน\' ถึงจุดเปลี่ยนระบบแทนการเจ็บแล้วค่อยจ่าย

  ลดหย่อนภาษีดูแลสุขภาพ
      อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรมีการสนับสนุนภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคมากขึ้น  จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคัฐ คือ “การลดหย่อนภาษี” ไม่ใช่เจ็บแล้วค่อยจ่าย แต่ระบบการป้องกัน เช่น ฉีดวัคซีน หรือการตรวจสุขภาพประจำปี น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการลดหย่อนภาษีได้ ทั้งในระดับของตัวบุคคลเองและองค์กร
     “ถ้าเอาเอกชนมามีส่วนร่วม มีทั้งระบบภาษีและระบบชักจูงก็จะเกิดประโยชน์ ยกตัวอย่าง การตรวจสุขภาพเป็นลักษณะเหมือนประกันสุขภาพอินชัวรัน ที่ลดหย่อนภาษีได้ 1 แสนบาท เพราะฉะนั้น การตรวจสุขภาพอาจจะลดหย่อนได้ 5,000-10,000 บาท เป็นต้นจะทำให้คนวัยทำงานที่องค์กรไม่ได้มีสวัสิดการตรวจสุขภาพให้แล้วไปตรวจเองก็สามารถลดภาษีได้”สุรงค์กล่าว 

    รวมถึง โครงการคนละครึ่งของรัฐ ควรเป็นเรื่องการดูแลสุขภาพ ไม่ใช่แค่ไปกิน ไปเที่ยวอย่างเดียว หากมีโครงการคนละครึ่ง ในการไปตรวจสุขภาพ หรือไปหาหมอแล้วจ่ายคนละครึ่ง รัฐออก 50% ส่วนตัวออก 50 % โดยมีเงื่อนไขว่าต้องตรวจอะไร จะทำให้ระบบการป้องกันเกิดขึ้นโดยเร็ว คนเริ่มมีแรงจูงใจที่จะทำ ระยะยาวงบประมาณในการใช้เพื่อดูแลสุขภาพจะลดลง โดยที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งงบประมาณรัฐเป็นหลัก

      นอกจากนี้ ส่วนตัวไม่ได้มองแค่สุขภาพกาย แต่มองเรื่องสุขภาพจิต สุขภาพชุมชนสังคมด้วย เพราะฉะนั้น ภาครัฐควรสนับสนุนเพิ่มเติมในการให้ชุมชนมีส่วนร่วมทำกิจกรรมกันเพื่อประโยชน์สวนร่วมของชุมชน โดยเสนอผลประโยชน์ที่เขาจะได้รับ  เช่น ร่วมกิจกรรมแล้วเป็นเครดิตที่จะได้สิทธิตรวจสุขภาพ เป็นต้น

\'ดูแลสุขภาพพนักงาน\' ถึงจุดเปลี่ยนระบบแทนการเจ็บแล้วค่อยจ่าย
 รักษาพนักงานไว้ได้สูง
        สุรงค์ บอกว่า องค์กรที่ดำเนินการเรื่องการดูแลสุขภาพพนักงาน มีการใส่ใจสร้างเสริมสุขภาพ  อัตราการรักษาสัดส่วนของพนักงานไว้มีค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นแนววิถีของสังคมธุรกิจในโลกตะวันออก ขณะที่ในสังคมตะวันตกใช้เงินเดือนเป็นตัวจูงใจอย่างเดียว เงินเดือนแพงแต่เมื่อธุรกิจไม่ดีก็ไล่ออก

“การดูแลสุขภาพ ทำให้พนักงานอยู่กับองค์กรเป็นเวลานาน ลดปัญหาเรื่องคนออก แล้วต้องมาฝึกอบรมใหม่ได้อีกมาก”สุรงค์กล่าว 

     ตรงนี้เป็นจุดที่สะท้อนถึงการทำธุรกิจของกลุ่มโลกตะวันออก ที่ซอฟไซด์(soft side)มีความสำคัญและสำคัญมากยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องการรักษาอย่างเดียว แต่ให้ความรู้เรื่องป้องกันต่างๆ และการรักษาสุขภาพด้วย

เป็นจุดแข็งแข่งขันทางธุรกิจ

           การดูแลสุขภาพของพนักงานเป็นจุดแข็งของภาคธุรกิจในโลกตะวันออก  ที่ยังมีความผูกพันแบบระบบครอบครัว เพราะฉะนั้น สวัสดิการที่ครอบคลุมถึงการดูแลสุขภาพครอบครัวมีความสำคัญมาก อย่างเช่น ปตท.มีสวัสดิการครอบคลุมครอบครัวไม่เกินคนละ 50,000 บาท เป็นต้น 

     อีกทั้ง  ภาคเอกชนมีการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน(ESG) คาร์บอนเครดิต แต่ลืมว่าสิ่งแวดล้อมกระทบคน แต่ยังไม่ได้พูดถึงผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมคือการดูแลสุขภาพคน จึงต้องดูแลทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป จะทำให้องค์กรนั้นเพิ่มจุดแข็งทางธุรกิจมากขึ้น

       ท้ายที่สุด “สุรงค์” สรุปถึงข้อเสนอแนะในการสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพภาคเอกชน อาทิ

1.เพิ่มแรงจูงใจและความผูกพันของพนักงานและสังคมด้วยการดูแลสุขภาพ 2.สวัสดิการเรื่องสุขภาพ เป็น Soft power ของบริษัทต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ถือหุ้น พนักงาน สังคม

3.พัฒนากการเก็บข้อมูลสุขภาพของชุมชนโดยใช้AI ในการวิเคราะห์ ข้อมูลและความเสี่ยง

4.ค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพควรลดหย่อนภาษีได้

5.ควรมีโครงการคนละครึ่งในการดูแลสุขภาพ

และ6.การดูแลสุขภาพ เริ่มต้นตั้งแต่อาหาร อากาศ อารมณ์ ไม่ใช่เป็นหน้าที่เฉพาะของแพทย์ พยาบาลหรือกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง 

     “ถ้าสามารถป้องกันโรค หรือตรวจหาโรคได้เร็ว การรักษาก็จะไม่แพง เป็นการลดภาระงบประมาณของรัฐ รวมถึงความแออัดของรพ. ขณะที่ภาคเอกชนที่ให้ความสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาพพนักงาน ก็จะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ขององค์กร และรักษาทรัพยากรบุคคลไว้กับบริษัทได้นาน”สุรงค์กล่าว