'ธนาคารเวลา' ออมความดี สะสมเวลา เพื่ออนาคต

'ธนาคารเวลา' ออมความดี สะสมเวลา เพื่ออนาคต

'ธนาคารเวลา' กิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมให้ชุมชนดูแลซึ่งกันและกัน และสามารถสะสมเวลาไว้เสมือนเราออมเงิน ในบัญชีธนาคารของเรา เมื่อยามจำเป็นที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือก็สามารถเบิกเวลามาใช้ได้

Key Point :

  • ธนาคารเวลา กิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมให้ชุมชนดูแลซึ่งกันและกัน สามารถสะสมเวลาไว้เสมือนเราออมเงิน และสามารถเบิกเวลามาใช้ได้ในอนาคต 
  • ธนาคารเวลา มีการใช้แพร่หลายในหลายประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนของผู้สูงอายุจำนวนมาก จึงเป็นประเทศแรกๆ ที่มีการตื่นตัว รวมถึงไทยที่นำรูปแบบดังกล่าวมาใช้ด้วยเช่นกัน
  • ที่ผ่านมา สสส. เดินหน้าสนับสนุนให้เกิดธนาคารเวลาผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ในชุมชน และเครือข่ายสื่อที่หลากหลาย นำไปสู่การเกิด “ธนาคารเวลากลาง” ที่มีกฎระเบียบแนวทางเดียวกัน ในเครือข่ายของ สสส. และระดับประเทศ

 

 

การทำให้ผู้สูงอายุมีความเป็นอยู่ที่ดี สามารถดูแลตัวเองได้ และสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างวัยผู้สูงอายุกับคนวัยอื่น ๆ ถือเป็นเป้าหมายของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งสนับสนุนรูปแบบ ธนาคารเวลา ในชุมชน ปัจจุบัน มีสมาชิกที่เข้าถึงโอกาสความช่วยเหลือขั้นพื้นฐาน 12,566 คน และ 7,188 เครดิตเวลาที่สมาชิกช่วยเหลือกัน

 

ธนาคารเวลา เป็นรูปแบบกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมให้ชุมชนดูแลซึ่งกันและกัน โดยยึดแนวคิด “เพื่อนบ้าน ช่วย เพื่อนบ้าน” ด้วยการแลกเปลี่ยนทักษะ ประสบการณ์ บริการขั้นพื้นฐาน และสามารถสะสมเวลาไว้ เสมือนเราออมเงินในบัญชีธนาคารของเรา เมื่อยามจำเป็นที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือก็สามารถเบิกเวลามาใช้ได้

 

ข้อมูลจาก กองส่งเสริมสวัสดิการและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ ระบุว่า ธนาคารเวลา มีการใช้แพร่หลายในหลายประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนของผู้สูงอายุจำนวนมาก จึงเป็นประเทศแรกๆ ที่มีการตื่นตัว และมีการแพร่ขยายไปสู่สหราชอาณาจักร(United Kingdom, UK)

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

ปัจจุบัน มีหน่วยธนาคารเวลากว่าหนึ่งร้อยแห่งในประเทศอังกฤษ สกอตแลนด์สวิตเซอร์แลนด์ และอีกกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ที่นำรูปแบบธนาคารเวลาไปประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาการเข้าถึงบริการ การจัดกระบวนการยุติธรรมในกลุ่มเด็กและเยาวชน การบำบัดกลุ่มยาเสพติดการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย และประเด็นเกี่ยวกับสิทธิสตรี

 

ปิติพร จันทรทัต ณ อยุธยา ผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนและพัฒนารูปแบบการดำเนินงานธนาคารเวลาชุมชนรองรับสังคมสูงวัย เผยว่า ธนาคารเวลา คือ การสะสมเวลาในรูปแบบของบัญชีส่วนบุคคล โดยสามารถเบิกถอนเวลามาใช้ได้เมื่อต้องการความช่วยเหลือ เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชน หรือผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่เดียวกันดูแลซึ่งกันและกัน ด้วยการแลกเปลี่ยนทักษะ ประสบการณ์ หรือความสามารถในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เป็นสมาชิกธนาคารเวลา

 

เช่น ขับรถพาผู้สูงอายุไปโรงพยาบาล พาไปธนาคาร พาไปซื้อของ พาไปทำบุญ ซักผ้า ล้างจาน ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ซ่อมประปา ตัดต้นไม้ กวาดถูบ้าน ดูแลสัตว์เลี้ยง ตัดผม ป้อนข้าวผู้ป่วยติดเตียง เป็นต้น โดยมีผลตอบแทนเป็นเวลาที่เท่ากัน คือ 1 ชั่วโมงเท่ากับ 1 หน่วยเวลา ที่จะถูกบันทึกลงในสมุดบัญชีธนาคารเวลา ซึ่งสมาชิกสามารถเบิกเวลาที่คงเหลืออยู่มาใช้ได้ เมื่อยามจำเป็นที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ

 

“การออมเวลาสำคัญไม่น้อยไปกว่าการออมเงิน เพราะจะทำให้ทุกคนรู้จักคุณค่า ทักษะ และความสามารถของตัวเอง ธนาคารเวลาจะเป็นหลักประกันว่าเราจะไม่ถูกทอดทิ้ง และจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ปิติพร กล่าว

 

\'ธนาคารเวลา\' ออมความดี สะสมเวลา เพื่ออนาคต

 

 

ทั้งนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งสนับสนุนรูปแบบธนาคารเวลาในชุมชนท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร และเครือข่ายต่าง ๆ กว่า 80 แห่ง ที่ผ่านมา ได้เดินหน้าเชิงรุก สนับสนุนให้เกิดธนาคารเวลาผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ในชุมชน และเครือข่ายสื่อที่หลากหลาย มีเป้าหมายทำให้เกิดธนาคารเวลาในชุมชนและเครือข่าย และนำไปสู่การเกิด “ธนาคารเวลากลาง” ที่มีกฎระเบียบแนวทางเดียวกันในเครือข่ายของ สสส. และระดับประเทศร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอนาคต

 

เพื่อทำให้สมาชิกทุกคนสามารถแลกเวลาข้ามจังหวัด หรือเครือข่ายกันได้ โดยมี จ.เชียงใหม่ เป็นโมเดลต้นแบบที่เริ่มใช้ระเบียบแนวทางเดียวกันทุกเครือข่าย พร้อมกับการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ในรูปแบบแอปพลิเคชันธนาคารเวลาสำหรับสมาชิกที่รองรับสมาร์ตโฟน เพื่อทำให้เกิดสังคมแห่งการเอื้ออาทรกัน ไม่ทอดทิ้งกัน เกิดเป็นความสุขสร้างสรรค์ในชุมชนภายใต้บริบทสังคมสูงวัย ให้ดีขึ้นต่อไป

 

สร้างสังคมสู่ 7 ทิศทางที่ดี

 

แนวคิดธนาคารเวลาช่วยสร้างสังคมแห่งการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดี 7 ข้อ

1. พึ่งพาอาศัยกันยามวิกฤติ

2. มีจิตสาธารณะ ช่วยเหลือสังคม

3. ดูแลซึ่งกันและกัน

4. เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไปมาหาสู่

5. ทำกิจกรรมร่วมกัน

6. เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน

7. รู้จักกัน

 

พื้นที่ดำเนินการธนาคารเวลา

 

ความก้าวหน้าการดำเนินงานธนาคารเวลาในช่วงที่ผ่านมา จากข้อมูลเว็บไซต์ ธนาคารเวลา โดย สสส. พบว่า พื้นที่ดำเนินการธนาคารเวลา ในชุมชนท้องถิ่น และ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ดังนี้  

 

ธนาคารเวลาในชุมชนท้องถิ่น

1) ธนาคารเวลาตำบลชมภู ต.ชมภู อ.สารภี จ.เชียงใหม่

  • สมาชิก 50 คน มีการแลกเปลี่ยนเวลาจำนวน 25 คนเป็นผู้ให้ 14 คน ผู้รับ 10 คน

2) ธนาคารเวลาชุมชนเขาโกรกพม่า ต.ภูเขาทอง อ.เมือง จ.นครสวรรค์

  • สมาชิก 60 คน มีการแลกเปลี่ยนเวลา จำนวน 33 คน เป็นผู้ให้ 27 คน ผู้รับ 17 คน

 

ธนาคารเวลาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

3 รูปแบบ ได้แก่

 

1) ธนาคารเวลาในพื้นที่ชุมชนเมือง ใน 6 พื้นที่ ได้แก่

  • ชุมชนในเขตสัมพันธวงศ์ ธนาคารเวลาระดับชุมชน 3 แห่ง
  • ชุมชนในเขตภาษีเจริญ ธนาคารเวลารองรับสังคมสูงวัย 7 พื้นที่ชุมชนนำร่อง
  • ชุมชนในเขตห้วยขวาง-วังทองหลาง (ชุมชนบนพื้นที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์)
  • ธนาคารเวลาไทรงาม 39 มีคณะกรรมการดำเนินงาน 15 คน อยู่ระหว่างดำเนินกิจกรรม
  • ธนาคารเวลาคนรักชินเขต คณะทำงาน 10 คน อยู่ระหว่างดำเนินกิจกรรม
  • ธนาคารเวลาท่าอิฐ มีคณะกรรมการ 5 คน อยู่ระหว่างดำเนินกิจกรรม

 

2) ธนาคารเวลาในองค์กร

  • ศูนย์บริการสาธารณสุข 56 สมาชิก 61 คน
  • โรงพยาบาลราชวิถี สมาชิกจำนวน 70 คน
  • สถาบันการศึกษา ได้แก่ คณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาชิก 104 คน

 

3) ธนาคารเวลาในเครือข่ายภาคประชาสังคมและคนรุ่นใหม่ 3 รูปแบบ ได้แก่

  • ธนาคารเวลา Young Happy สมาชิก 141 คน มีการสะสมเวลา 1,818 ชั่วโมง
  • ธนาคารเวลาเครือข่ายสวนโมกข์ กรุงเทพฯ ได้แก่ ธนาคารเวลาเพื่อนวัยสุข สมาชิก 27 คน เวลาสะสม 442.5 ชั่วโมง เวลาแลกเปลี่ยน 480 ชั่วโมง ธนาคารเวลาปันสุข สมาชิก 209 คน เวลาสะสม 4,788 ชั่วโมง เวลาแลกเปลี่ยน 300 ชั่วโมง
  • ธนาคารเวลาเครือข่ายคนจนเมือง จ.เชียงใหม่ อุบลราชธานี ตรัง และกรุงเทพมหานคร โดยมีคณะทำงาน และอยู่ระหว่างดำเนินการ