"ธนาคารเวลา" เมื่อวันที่ "ออมเวลา" อาจมีค่าไม่น้อยกว่า "ออมเงิน"

"ธนาคารเวลา" เมื่อวันที่ "ออมเวลา" อาจมีค่าไม่น้อยกว่า "ออมเงิน"

ถอดโมเดล "ธนาคารเวลา" นวัตกรรมทางสังคม รับมือการมาถึงของสังคมผู้สูงวัย อีกหนึ่งพื้นที่เชื่อมคนทุกวัยด้วยกิจกรรมจิตอาสาที่ให้ "กำไร" เป็นเวลา และมิตรภาพ สามารถเบิกถอนเวลาที่ออมไว้ มาใช้ในยามจำเป็น หรือต้องการความช่วยเหลือเมื่อมีอายุมากขึ้นได้

เมื่อถึงวันหนึ่งที่เราอายุมากขึ้น เราอ่อนแอ เราต้องปรับตัวเป็นผู้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนหรือเพื่อนบ้าน แต่จะทำอย่างไร หากที่ผ่านมาเราไม่เคยพูดคุย หรือมีปฏิสัมพันธ์กันเลย? ด้วยสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้เราอยู่กันแบบตัวใครตัวมันมากขึ้นทุกวัน ครั้นจะพึ่งพาลูกหลาน เหลียวมองไปพึ่งใครก็หาแทบไม่มี ทำให้เล็งเห็นว่าสถานการณ์ สังคมสูงวัย ของประเทศไทยกำลังขยายตัวต่อเนื่อง ขณะนี้ไทยมีผู้สูงอายุ เกือบร้อยละ 20 ของประชากร หรือประมาณ 13 ล้านคน โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี นั่นแปลว่า อีกไม่ถึง 20 ปีข้างหน้า จะมี ผู้สูงอายุ มากขึ้น และอาจมีสัดส่วนประชากรวัย 60 ปีขึ้นไป สูงถึงร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด

\"ธนาคารเวลา\" เมื่อวันที่ \"ออมเวลา\" อาจมีค่าไม่น้อยกว่า \"ออมเงิน\"

นั่นเท่ากับว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็น "สังคมสูงวัยระดับสูงสุด" (Super-aged society) อย่างเต็มตัว หากไม่เตรียมความพร้อม อาจมีผลกระทบแน่นอน ทั้งต่อตัวเราและต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุที่ต้องการความช่วยเหลือ หรือต้องการผู้ดูแล

แนวคิด "ธนาคารเวลา" จึงเป็นอีกโมเดลที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อปรับกระบวนทัศน์สังคม ให้มีแผนรับมือกับสังคมสูงวัยในประเทศไทยในระยะยาว ด้วยรูปแบบการชักชวนให้ ผู้สูงวัย และสมาชิกในสังคม หันมา "ออมเวลา" ที่สามารถสะสม อดออม และแลก ถอนได้ไม่ต่างกับเงินบัญชีในธนาคาร เมื่อทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน ก็สามารถทำให้ชีวิตประจำวันของตัวเองมีคุณค่าโดยไม่เกี่ยงช่วงวัย

"ธนาคารเวลา" รับมือสังคมสูงวัย 

จุดเริ่มของธนาคารเวลาในไทยถูกขยับเขยื้อนขึ้น หลังมติที่ประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ กำหนดให้ธนาคารเวลา เป็น 1 ใน 10 ประเด็นเร่งด่วนด้านผู้สูงอายุ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงวัย เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้กรมกิจการผู้สูงอายุ และภาคีเกี่ยวข้องต่างๆ นำแนวคิดธนาคารเวลามาประยุกต์ใช้

สุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าในอนาคต สังคมต้องมีความเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจากการศึกษาวิจัยผู้สูงอายุในประเทศไทยยังมีแนวโน้มผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง ไม่มีลูกหลานไม่มีครอบครัวจะมีเพิ่มมากขึ้นทั้งในชนบทและในเมือง ทำให้ธนาคารเวลา เป็นหนึ่งแนวทางที่อยู่ในวาระแห่งชาติ เรื่องสังคมสูงวัย มีความจำเป็นในอนาคต 

"ภาครัฐเองไม่สามารถทำให้การดำเนินการประสบความสำเร็จได้โดยลำพัง ด้วยข้อจำกัดทั้งด้านงบประมาณและกำลังคน เราคงไม่สามารถรองรับผู้สูงอายุได้ทั้งหมดเป็นแน่ และคงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะตั้งศูนย์รองรับไปเรื่อยๆ แม้ว่าปัจจุบันเรามีเพียง 12 แห่งแล้ว ดังนั้นประเทศไทยต้องพยายามทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่า ธนาคารเวลาคืออะไร ซึ่งเราเชื่อว่าเมื่อเวลาผ่านไป บริบทเปลี่ยนจะทำให้คนมองเห็นและเข้าใจชัดถึงธนาคารเวลามากขึ้น แต่ที่สำคัญพลังชุมชนมีความสำคัญมากในเรื่องนี้" อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าว

\"ธนาคารเวลา\" เมื่อวันที่ \"ออมเวลา\" อาจมีค่าไม่น้อยกว่า \"ออมเงิน\"

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงที่มาของ "ธนาคารเวลา" ว่า เกิดจากการมองเห็นสถานการณ์ผู้สูงอายุในไทย การทำให้ผู้สูงอายุมีความเป็นอยู่ที่ดี สามารถดูแลตัวเองได้ และสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างวัย ผู้สูงอายุ กับคนวัยอื่นๆ ถือเป็นเป้าหมายของ สสส. โดยได้สนับสนุนโครงการธนาคารเวลาเพื่อรองรับสังคมสูงวัยมาตั้งแต่ปี 2561 โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานที่สอดรับกับบริบทพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย

สำหรับโมเดลของ "ธนาคารเวลา" ก่อนหน้านี้เป็นหนึ่งในแนวทางที่ฝั่งภาครัฐให้ความสนใจ มองเป็นวาระสำคัญที่ต้องการขับเคลื่อน ทำให้ สสส. เป็นอีกหน่วยงานที่รับไม้ต่อจากแนวนโยบายดังกล่าว  

"สสส. ได้เริ่มจากงานวิชาการก่อน ซึ่งที่ผ่านมาเราได้ความร่วมมือจากหลายมหาวิทยาลัย ที่เป็นภาคีมาร่วมการวิจัย ทั้งมหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงสถาบันทีดีอาร์ไอ เป้าหมายคือช่วยกันประเมินแนวคิดเรื่องธนาคารเวลาที่ตอบโจทย์สังคมไทย แต่ในเวลานั้นจากการศึกษาของเราพบว่า ธนาคารเวลายังเป็นโมเดลที่แพร่หลายแต่ในยุโรปเป็นหลัก 40 ประเทศที่ทำเรื่องนี้ แทบไม่มีในเอเชียเลย ไม่ว่าจะเป็น สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ ในเอเชียมีแต่ประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ ทำให้เรามองว่าประเทศไทยจะไหวไหม เพราะในแต่ละประเทศเขาบริบทต่างจากเรา นั่นคือ วิถีชีวิตของชาวยุโรปจะมีความส่วนตัว ต่างคนต่างอยู่ แต่บ้านเราเองก็มีรูปแบบชุมชนที่มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่แล้ว อย่างเช่นวิถีวัฒนธรรมการลงแขก และยังเคยมีโครงการธนาคารจิตอาสาอีกด้วย" ภรณี กล่าว

สสส. จึงร่วมกับทีมวิชาการถอดประสบการณ์ เฟ้นหาแนวทาง นำจุดเด่นจุดแข็งของแนวคิดธนาคารเวลามาทดลองตั้งเป็นแกนหลักและใช้ประยุกต์ให้เข้ากับบริบทในแบบไทย ซึ่งนำมาสู่ 50 พื้นที่นำร่องทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดในเวลาต่อมา

"เราพบว่า ในอังกฤษ รูปแบบธนาคารเวลาไม่ได้ทำงานแค่แบบชุมชนทางกายภาพอย่างเดียว แต่มีการทำงานในองค์กร มีทั้งทำในเรือนจำกับในโรงเรียนที่เป็นบัดดี้กัน ในสิงคโปร์ก็ทำในรูปแบบออนไลน์ อะไรที่เขาว่าดีเราก็นำมาใช้ แต่ไม่ได้นำมาทั้งหมด เรายึดโยงกับแนวคิดเพื่อนบ้านช่วยเพื่อนบ้าน เน้นทำกับคนรู้จักกันก่อน ซึ่งไม่เพียงแต่สนับสนุนนำร่องพื้นที่ต่างๆ และกลุ่มคนต่างๆ เรายังส่งเสริมเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกที่จะมาใช้ เช่นการคิดแอปพลิเคชัน ที่ร่วมกับ สวทช. พัฒนาเป็นแอปพลิเคชัน เป็นรูปแบบ matching เป็นต้น" ภรณี กล่าว

ภรณี กล่าวต่อไปว่า ผลจากการขับเคลื่อนมาในระดับหนึ่ง ทำให้ได้ข้อสรุปว่า ชุมชนเมือง ซึ่งเป็นบริบทที่มีความซับซ้อน กลับมีความเหมาะสมมากกว่า และเห็นประโยชน์มากกว่า ข้อดีที่เราเห็นคือ แต่ละบ้านประตูเปิดหากันมากขึ้น ทั้งในกรุงเทพมหานคร หรืออย่างในเมืองเชียงใหม่เองก็มีความเป็นชุมชนเมืองที่เดิมไม่ค่อยรู้จักกัน เมื่อนำไปใช้ได้รับการตอบรับที่ดี สะท้อนว่าธนาคารเวลา จึงเป็นนวัตกรรมทางสังคม ที่ตอบโจทย์ถ้าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุ และเราจำเป็นต้องมีเครื่องมือในการปรับตัวอยู่ร่วมกัน

\"ธนาคารเวลา\" เมื่อวันที่ \"ออมเวลา\" อาจมีค่าไม่น้อยกว่า \"ออมเงิน\"

ภาษีเจริญ ธนาคารเวลา สำหรับทุกกลุ่มวัย 

"ภาษีเจริญ" เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ที่มีสภาพพื้นที่ชุมชนกึ่งเมืองสูง โดยมีประชากรหนาแน่น มีทั้งบ้านจัดสรร ชุมชนบ้านมั่นคง และสถานประกอบการ ชุมชนมีความหลากหลายทั้งช่วงวัยและสถานะ จากบริบทดังกล่าว ภาษีเจริญจึงเป็นอีกพื้นที่นำร่องโครงการ "ธนาคารเวลา สำหรับทุกกลุ่มวัยภาษีเจริญ" ที่เป็นความร่วมมือกันระหว่าง ศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน (ศวพช.) ร่วมกับ สสส. สำนักงานเขตภาษีเจริญ และภาคีเครือข่าย  

สำหรับ "ธนาคารเวลา" ในพื้นที่เขตภาษีเจริญ มีสถาบันการศึกษา ศวพช. ม.สยาม และเครือข่ายเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือจากผู้คนในพื้นที่ชุมชน และหน่วยงานทุกภาคส่วน ภายใต้แนวคิด ทำที่ "ใช่" ให้ที่ "ชอบ" ออม "เวลา" แทน "เงิน" มีเป้าหมายสำหรับทุกกลุ่มวัยที่จะได้รับผลกระทบจากการเป็น "สังคมสูงวัย" โดยล่าสุด ยังได้มาร่วมระดมพลังถอดบทเรียน เพื่อก้าวต่อเตรียมผลักดัน "ธนาคารเวลา" สู่นโยบายสาธารณะ  

ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดี มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า การขับเคลื่อน "ธนาคารเวลา" เพื่อรองรับสังคมสูงวัยในเขตภาษีเจริญ ขณะนี้มีทั้งหมด 9 สาขา ในพื้นที่ ยังต่อยอดทำให้มหาวิทยาลัยสยามพัฒนาหลักสูตร "สังคมสูงวัย" ขึ้นมา เพื่อบรรจุเข้าไปในเนื้อหาการเรียน การสอน เพื่อให้นักศึกษาทุกคนเรียนรู้สถานการณ์ ความสำคัญ ปัญหา และสร้างความเข้าใจเรื่อง ผู้สูงอายุ ในภาวะที่ประเทศไทยเข้าสู่ยุคสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์

ดร.พรชัย กล่าวต่อว่า ธนาคารเวลาเหมือนเป็นการสร้างความเป็นครอบครัว ด้วยเครือข่ายทางสังคม ที่มีความไว้วางใจ เรายังอยู่ได้โดยอิสระและสบายใจ ไม่ใช่คอยรับแต่ความช่วยเหลืออย่างเดียว ซึ่งในส่วนวิชาการมหาวิทยาลัย เรามองว่าเราช่วยได้ในเรื่องการพัฒนาทักษะต่างๆ อาทิ ดิจิทัลสกิล เรามีวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นต้น

ธนาคารเวลา สำหรับทุกกลุ่มวัยภาษีเจริญ นั้นเปิดรับคนทุกช่วงวัยเหมือนกับชื่อธนาคาร โดยผู้ที่สนใจต้องระบุคุณสมบัติที่ตนเองมีเพื่อสมัครเป็นสมาชิก อาทิ ขับรถ ซ่อมไฟฟ้า เปลี่ยนก๊อกน้ำ ตัดต้นไม้ ทำความสะอาดบ้าน ดูแลสัตว์เลี้ยง ย้อมผม ตัดผม แม้กระทั่งตัดเล็บ ซึ่งทางธนาคารจะแบ่งกลุ่มแล้วจัดสรรเวลาดูแลผู้สูงอายุต่อไป

"ธนาคารเวลาคือจุดเริ่มต้นที่จะทำให้คนทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน มีจิตสาธารณะ คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสังคม จึงเสนอให้สถาบันการศึกษาในกรุงเทพมหานคร และทั่วประเทศ นำแนวคิดนี้ไปใช้ในหลักสูตรการเรียนการสอน" ดร.พรชัย กล่าว

ทำที่ใช่ ให้ที่ชอบ 

ชนิสรา ละอองดี ตัวแทนจากธนาคารเวลา สำหรับทุกกลุ่มวัยภาษีเจริญ สาขาศิรินทร์และเพื่อน กล่าวว่า จากการติดตามข้อมูล 2-3 ปีก่อนหน้าในชุมชนมีผู้สูงอายุเพียง 20 กว่าคน แต่ถัดมาอีกปีเดียว ตัวเลขก้าวกระโดดมาเป็น 50 คน นอกจากนี้ สมาชิกกว่า 500 คนส่วนใหญ่มีช่วงอายุกำลังก้าวสู่วัยสูงอายุในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า 

\"ธนาคารเวลา\" เมื่อวันที่ \"ออมเวลา\" อาจมีค่าไม่น้อยกว่า \"ออมเงิน\"

ชนิสรา กล่าวต่อว่า มีบางกรณีที่เราต้องการช่วยเหลือคนที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่เขาไม่ใช่สมาชิก เพราะฉะนั้นเขาจะแลกเปลี่ยนเวลากับใครไม่ได้ ก็เป็นหน้าที่ธนาคารที่จะให้เครดิตเวลาแก่คนที่ไปช่วย การก่อตั้งในตอนแรกมี 15 คน ตอนหลังเริ่มเห็นประโยชน์มากขึ้นมีเพิ่มเป็น 20 คน การดำเนินการเหมือนธนาคารเลย

"ต้องยอมรับว่า ผู้สูงวัยในเมืองเราไม่ได้ถูกเตรียมพร้อม และยังมีความเหลื่อมล้ำ กลุ่มคนรวยหรือชนชั้นกลางที่มีโอกาสที่ดีกว่า มีการศึกษาอาจมีการเตรียมพร้อมที่ดีกว่า มีสิทธิ์เลือกได้มากกว่า แต่คนจนระดับล่างลงมาโอกาสน้อยกว่าเพราะชีวิตที่ต้องดิ้นรน ทำมาหากินไม่มีโอกาสที่จะมาเตรียมตัว อีกอย่างในยุคของเราคือเบบี้บูมเมอร์ ความยากลำบากสอนให้เราต้องใช้ชีวิตอย่างไร แต่ในอีกเจเนอเรชันหนึ่งถูกดูแลอีกแบบหนึ่ง มีไม่น้อยที่ลูกของคนระดับกลางหรือล่างลงมา เรียนก็ไม่จบ งานก็ไม่มีทำ เขาไม่สามารถช่วยกระทั่งตัวเองได้ เขาจะมาช่วยพ่อแม่อย่างเราอย่างไร" ชนิสรา กล่าว

หลังมหาวิทยาลัยสยามนำเรื่อง "ธนาคารเวลา" มาเสนอ ชนิสรา เห็นว่าน่าจะตอบโจทย์ปัญหาของชุมชนได้ โดยที่ผ่านมามีการประชาคม และรับสมัครสมาชิก เน้นคนที่สนใจต้องสมัครใจที่จะเข้าร่วมโครงการ บางคนก็มองว่าก็ทำอยู่แล้ว เป็นจิตอาสาอยู่แล้ว ไม่เห็นจะต้องมาธนาคารเวลาอะไรเลย ยุ่งยากเราก็ไม่บังคับใจ ตอนแรก ทุกคนก็ยังไม่เข้าใจ เลยเริ่มจากเราทำเป็นตัวอย่าง ที่ธนาคารเรามีคิดโปรโมชัน โดยธนาคารเวลาจะมีเวลาให้สำหรับคนที่สมัครสมาชิกครั้งแรก 5 ชั่วโมงเพื่อไว้เป็นทุน พอจะขยับต่อ ก็เกิดคำถาม แล้วจะแลกกันอย่างไรดี

"เราก็เลยบอก อยากตัดผม แจ้งลงไลน์ไว้ ซึ่งจะมีสมาชิกที่ลงทะเบียนที่มีทักษะด้านนี้ 2 คนเขาก็ติดต่อมานัดหมาย พอเสร็จเราให้เครดิตเวลาเขาไป 1 ชั่วโมง หรืออย่างมีสมาชิก 3 คนอยากไปทำบุญ ก็หาคนที่จะพาไป ก็มีคนแจ้งว่าขับรถได้และมีรถยนต์ เมื่อพาไปแล้วสมาชิก 3 คนจึงมอบเครดิตเวลาให้คนขับรถคนละ 1 ชั่วโมง ส่วนเวลาที่เหลือเกินจาก 1 ชั่วโมงเราจะไปตัดเข้ากองทุนของธนาคาร เพื่อที่จะมาชดเชยเวลาที่ธนาคารเคยมอบให้ ธนาคารก็จะมีเวลาสนับสนุนในกองทุนมากขึ้น" ชนิสรา กล่าว

\"ธนาคารเวลา\" เมื่อวันที่ \"ออมเวลา\" อาจมีค่าไม่น้อยกว่า \"ออมเงิน\"

ชนิสรา อธิบายต่อคำถามที่ว่า ทำไมต้องมีธนาคารเวลา เธอยกตัวอย่างเวลาต้องตัดผม 2-3 เดือนต่อครั้ง แล้วต้องเรียกช่างตัดผมคนนี้มาบ่อยๆ เราก็เกรงใจเขา ซึ่งเราเองไม่ต้องการจ่ายเงินเพราะคนรู้จักกัน แต่พอมีเวลาให้ จึงเกิดเป็นความสบายใจที่ได้แลกเปลี่ยนกันอย่างยุติธรรม หรืออย่างสมาชิกอีกคนไม่อยู่บ้าน ไม่มีใครดูแลสุนัข เขาก็ไหว้วานให้เอาข้าวไปให้ ปกติมีน้ำใจฝากได้อยู่แล้ว แต่พอมี "เวลา" แลกเปลี่ยน ก็ไม่ต้องเกรงใจกัน ซึ่งมองว่ามันยุติธรรม 

สุดท้ายถามว่า ธนาคารเวลา มีข้อดีอย่างไร ชนิสรา กล่าวว่า คุณทำงานเงินเดือนเท่าไหร่ไม่รู้ ส่วนตัวเธอเป็นแม่บ้านทำความสะอาดบ้านเงินเดือนเท่านี้ แต่ที่ธนาคารเวลา "เวลาของเราเท่ากัน" นั่นคือ เราต่างมีคนละ 1 ชั่วโมงเท่ากัน นอกจากนั้น ธนาคารเวลา ยังช่วยส่งเสริมให้เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูล และสร้างกระชับความพันธ์ระหว่างคนในชุมชน เพราะที่ธนาคารเวลา เราใช้ "น้ำใจ" แลก "น้ำใจ"