ไทย-กัมพูชา เร่งวางกลไกร่วม ช่วยแรงงานข้ามชาติเข้าถึงบริการเอชไอวี
AHF -กรมควบคุมโรค-ภาคประชาสังคม ขับเคลื่อนร่วมมือระหว่างไทย-กัมพูชา ส่งเสริมแรงงานกัมพูชาเข้าถึงการรักษา มุ่งวางกลไกรับยาต้านไวรัส-ระบบส่งต่อรับบริการประเทศ ลดการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคเอดส์ เผย 15 ปี เข้าถึงบริการราว 2 หมื่นราย
เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2566 ที่โรงแรม ไอบิส กรุงเทพ ริเวอร์ไซด์ มูลนิธิเอดส์ เฮลท์ แคร์ (AHF) ประเทศไทย ร่วมกับ กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค และองค์กรพันมิตรภาคประชาสังคม (NGO) จัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การพัฒนาความร่วมมือการดูแลรักษาด้านเอชไอวี/เอดส์ ในพื้นที่ชายแดนระหว่างประเทศ (ไทย-กัมพูชา)” เพื่อร่วมกันพัฒนางานด้านเอชไอวี/เอดส์ ระหว่างสองประเทศ และส่งเสริมให้แรงงานกัมพูชาที่เข้ามาทำงานในชายแดนไทยให้เข้าถึงการรักษาเอชไอวีอย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น โดยมีผู้บริหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศเข้าร่วม
นพ.สุเมธ องค์วรรณดี รักษาการนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และผู้อำนวยการสำนักงานบริหารโครงการกองทุนโลก กล่าวว่า แรงงานชาวกัมพูชาในประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่ด้วยมีความเสี่ยงด้านสุขภาพ จากสภาพความเป็นอยู่และสภาพการทำงาน ทำให้เรื่องเอชไอวี/เอดส์ นับเป็นหนึ่งในความท้าทายด้านสุขภาพที่สำคัญที่แรงงานข้ามชาติต้องเผชิญ และจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างมีประสิทธิภาพ
การประชุมครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการสร้างความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขไทย-กัมพูชา ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อส่งเสริมให้แรงงานกัมพูชาในชายแดนไทยสามารถเข้าถึงการรักษาเอชไอวีด้วยยาต้านไวรัสได้ทันที รวมถึงพัฒนาระบบบริการส่งต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ สำหรับแรงงานข้ามชาติ ให้คงอยู่ในระบบการรักษา สามารถลดการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคเอดส์ นำไปสู่การมีสุขภาพชีวิตที่ดีในสังคม
“เป็นการมุ่งประสานความร่วมมือกันเพื่อช่วยให้แรงงานข้ามชาติที่เข้าไม่ถึงบริการและยาต้านไวรัสได้รับการดูแลรักษา ซึ่งหากเป็นแรงงานที่เข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็จะมีสิทธิเข้ารับบริการในประเทศไทยตามสิทธิประกันสังคมหรือประกันสุขภาพของแรงงาน จะได้รับสิทธิเข้าถึงการรักษาและรับยาต้านไวรัสเหมือนคนไทย แต่กรณีแรงงานที่เข้ามาผิดกฎหมาย จะมีความกลัว จึงไม่กล้าเข้ารับบริการในสถานพยาบาล ภาครัฐและประชาสังคมระหว่าง 2 ประเทศต้องวางกลไกร่วมกันในการดูแลกลุ่มนี้เป็นหลักทั้งเรื่องของการจัดหาและช่วยให้เข้าถึงยาต้านไวรัส รวมถึงการส่งต่อกลับไปรับยาหรือบริการที่ประเทศต้นทาง โดยใช้งบประมาณจากกองทุนโลก”นพ.สุเมธกล่าว
ด้านDr. Sarath Chhim ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก มูลนิธิเอดส์ เฮลท์ แคร์ (AHF) กล่าวว่า มูลนิธิเอดส์ เฮลท์ แคร์ (AHF) มีพันธกิจในการส่งเสริมผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีทุกคนให้เข้าถึงระบบการรักษาและยาต้านไวรัสไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะเป็นใครและอาศัยอยู่ที่ใด การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการประชุมที่สำคัญเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานชาวกัมพูชาที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีที่เข้ามาทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศไทย
AHF มีสำนักงานตั้งอยู่ทั้งในประเทศไทยและกัมพูชา เราจึงอาสาเป็นตัวกลางในการประสานความร่วมระหว่างทั้งสองประเทศจนเกิดการประชุมที่สำคัญในวันนี้ขึ้น นอกจากนี้ ยังหวังว่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้การเข้าถึงระบบการรักษาข้ามพรมแดนง่ายขึ้น โดยคำนึงถึงความต้องการและความท้าทายของกลุ่มผู้รับบริการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมมีการนำเสนอข้อมูล จำนวนแรงงานข้ามชาติที่เข้ารับบริการเอชไอวี การเข้าถึงบริการยาต้านไวรัส และการรับยาต้านไวรัสระหว่างปี 2549 -2564 โดยในส่วนของแรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชา เข้าถึงการรับบริการเกี่ยวกับเอชไอวี 20,729 คน เข้าถึงบริการยาต้านไวรัส 7,405 คน และรับยาต้านไวรัส 6,111 คน
ทั้งนี้ ข้อมูลกระทรวงแรงงาน ณ มี.ค.2566 ระบุว่า แรงงานข้ามชาติได้รับอนุญาตทำงานในประเทศไทยราว 2.7 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานชาวกัมพูชา ราว 2.7 แสนคน