เจาะนัยแฝง 'นักการเมือง' เหตุที่ชง 'เก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้า'
นักวิชาการเปิดมุมมองเศรษฐศาสตร์ เจาะปมเหตุนักการเมือง เสนอเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้า ย้ำไทยอย่าเสียค่าโง่เรื่องบุหรี่ซ้ำรอยปี 60 ลั่นไม่ใช่เป็นรายได้ที่ยั่งยืน
เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2566 สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายเด็กและเยาวชน จัดเสวนาทางวิชาการเรื่องบุหรี่ไฟฟ้ากับคนรุ่นใหม่ หัวข้อ “รู้ไหมว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตราย” เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2566 โดยรศ.ดร.สุชาดา ตั้งทางธรรม กรรมการสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวในประเด็นทำไมบุหรี่ไฟฟ้าไม่ควรถูกกฎหมายในมอมมองเศรฐศาสตร์และกรณีนักการเมืองเสนอเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้าเป็นรายได้ของประเทศคุ้มหรือไม่ว่า หลายคนพูดว่าทำให้ถูกกฎหมาย เก็บภาษีได้
แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับระหว่างประเทศ อย่างองค์การอนามัยโลก พูดไว้ได้ชัดเจนว่า ผลเสียมากกว่าผลได้ ไม่ว่าจะเก็บภาษีได้เท่าไหร่ เพราะสูบบุหรี่เข้าไปไม่ได้เก็บภาษีได้อย่างเดียว ต้องดูเรื่องสุขภาพด้วย เพราะก่อให้เกิดโรค โรคภัยที่เกิดขึ้นต่อคนที่สูบ ครอบครัว เสียงาน เสียค่าใช้จ่ายรักษาตัวเอง ส่วนประเทศก็ต้องนำงบประมาณมารักษาคนที่ป่วยด้วยโรคจากบุหรี่ทั้งที่สามารถป้องกันได้ แทนที่จะนำไปใช้ทำอย่างอื่น
“แน่นอนผลเสียมากกว่าผลได้ เก็บภาษีได้ไม่คุ้มกับค่าใช่จ่าย และไม่ใช่รายได้ภาษีที่ยั่งยืนเพราะว่าจะต้องีการนำรายได้ส่วนหนึ่งมาใช้จ่ายรักษาพยาบาล และความสูญเสียต่อการเสียรายได้ จึงไม่คุ้ม รายได้ที่มีการอ้างว่าจะได้ราว 6,000 ล้านบาท ยังน้อยไปเพราะรายได้ของบริษัทบุหรี่อยู่ที่ราว 3 ล้านล้านบาท”รศ.ดร.สุชาดากล่าว
รศ.ดร.สุชาดา กล่าวอีกว่า กรณีที่ผู้สนับสนุนอ้างว่าทำให้เป็นสินค้าถูกกฎหมาย ไม่มีการลักลอบ ทำให้เก็บภาษีมาพัฒนาประเทศได้ ความจริง คือ บุหรี่ที่เป็นสินค้าถูกกฎหมายก็ยังมีการลักลอบหนีภาษี และถ้าเป็นสินค้าถูกหมายรัฐสามารถเก็บภาษีได้ แต่ต้องไม่ลืมว่าบุหรี่เป็นสินค้าที่สามารถฆ่าคนได้ ไม่ว่าจะเก็บภาษีได้มากเพียงใด ผลได้ก็ไม่คุ้มเสีย ทั้งองค์การอนามัยโลกและธนาคารโลกจึงชี้แนะให้ทุกประเทศควบคุมยาสูบ ซึ่งในแง่เศรษฐศาสตร์ องค์การอนามัยโลกระบุในปี 2004 ว่า บุหรี่ยิ่งสูบยิ่งจนเป็นวงจรอุบาทว์
“ส่วนประเด็นที่บอกว่าองค์การอนามัยโลกบอกให้เก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้านั้น เป็นคำแนะนำสำหรับประเทศที่ไม่การห้ามบุหรี่ไฟฟ้า เพราะการเก็บภาษีจะทำให้ราคาสูงขึ้น เยาวชนเข้าถึงยากขึ้น แต่ประเทศที่ห้ามและบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย การเสนอให้เก็บภาษีเป็นอะไรที่ตลกมากซึ่งประเทศไทยห้ามเรื่องบุหนี่ไฟฟ้าอยู่แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเก็บภาษี ไม่ต้องเสนอเก็บภาษี ซึ่งการเสนอให้เก็บภาษีก็คือมีนัยยะต้องการทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย" รศ.ดร.สุชาดากล่าว
คำอ้างที่ว่าประเทศที่เจริญแล้วเปิดให้ซื้อขายได้ อย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ แต่ความจริงคือหลายประเทศที่ปล่อยซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้า เยาวชนสูบเพิ่มขึ้น อย่างสหรัฐอเมริกา ซานฟรานซิสโก เป็นเมืองแรกที่ห้ามแล้ว อนาคตต่อไปจะมีหลายเมืองที่ห้ามเช่นกัน
ส่วนกรณีทำไมไม่ห้ามบุหรี่มวน แล้วรัฐยังเป็นเจ้าของโรงงานยาสูบ ที่บุหรี่มวนซื้อขายได้ เพราะซื้อขายกันมานาน บุหรี่เป็นสินค้าเสพติด จะไปห้ามทันทีจะเกิดอาการลงแดงหรือไม่ ถือเป็นการยาก แต่สิ่งที่หลายประเทศดำเนินการ และองค์การอนามัยโลกและธนาคารโลกเสนอแนะก็คือตั้งเป้าหมายลดอัตราการสูบลง
รศ.ดร.สุชาดา กล่าวด้วยว่า ประเด็นที่เหตุใดนักการเมือง พรรคการเมือง พยายามผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ในมุมมทางเศรษฐศาสตร์การเมือง คือ 1.การมีข้อมูลข่าวสารไม่สมบูรณ์ เนื่องจากรับฟังข้อมูลจากฝ่ายสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าฝ่ายเดียว ไม่ฟังข้อมูลฝ่ายสุขภาพ และ2.การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (Rent Seeking) คือการแสวงหาประโยชน์จากการดำเนินการของรัฐ เป็นการใช้อำนาจรัฐเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์หรือผลตอบแทนโดยไม่ได้สร้างความมั่งคั่งขึ้นในด้านเศรษฐกิจ
“บริษัทบุหรี่แห่งหนึ่งมีรายได้เมื่อปี 2565 ถึง 1.1 ล้านล้านบาท ถ้าเทียบกับงบประมาณรายจ่ายของไทยในปีเดียวกันอยู่ที่ 3.1 ล้านล้านบาท ประมาณการรายรับ 2.4 ล้านล้านบาท แสดงว่าบริษัทบุหรี่มีทรัพยากรมโหฬารในการล็อบบี้ ความพยายามในการผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายจึงเป็นการแสวงหาคค่าเช่าทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง นักการเมืองมีโอกาสและช่องทางทำได้แนบเนียน โดยใช้อำนาจในตำแหน่ง ซึ่งไทยเสียค่าโง่มากแล้วกับการปล่อยให้บุหรี่ลดราคาเมื่อปี 2560 จึงไม่ควรโง่อีกกับเรื่องทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย”รศ.ดร.สุชาดากล่าว