เคล็ดลับรับมือ  6 เรื่องในชีวิตแบบเชิงบวก

 เคล็ดลับรับมือ  6 เรื่องในชีวิตแบบเชิงบวก

 เคล็ดลับรับมือ  6 เรื่องในชีวิตแบบเชิงบวก  พร้อมเปิดตัว “Mindset Maker” เครื่องมือพัฒนาทักะจิตวิทยาเชิงบวก สร้างวัคซีนใจ หลังพบคนทุกวัยมีปัญหาสุขภาพจิต เครียด-เสี่ยงซึมเศร้า-เสี่ยงฆ่าตัวตาย

Keypoints : 

  • คนไทยทุกวัยเผชิญกับผลกระทบต่อสุขภาพจิต ทั้งภาวะเครียดสูง เสี่ยงซึมเศร้า และเสี่ยงฆ่าตัวตาย  และมีปัญหาเฉพาะที่เกิดขึ้นกับแต่ละช่วงวัย 
  • Mindset Maker แพลตฟอร์มออนไลน์ ที่จะมีเครื่องมือ วิธีการในการพัฒนา ทักษะตัวเอง เพื่อรับมือกับ 6 เรื่องในชีวิต ตามแนวทางจิตวิทยาเชิงบวก
  • ตัวอย่าง วิธีการแนวทางในการรับมือกับ 6 เรื่องที่เผชิญในชีวิตแบบเชิงบวกทั้งจิตใจดี จิตใจแข็งแรงดี ความสัมพันธ์ดี รู้จักตัวเองดี สำเร็จดีและ นอนหลับดี 

       ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในการแถลงข่าวโครงการ “Mindset Maker Hackathon 2023” เมื่อเร็วๆนี้ว่า ปัญหาสุขภาพจิตเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะคนไทยทุกช่วงวัย จากข้อมูลประเมินสุขภาพจิตคนไทยตลอดปี 2564

  • พบสัดส่วนผู้มีภาวะเครียดสูง 14.5%
  •  เสี่ยงซึมเศร้า 16.8%
  •  และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 9.5%

          มีสัดส่วนสูงมากในกลุ่มเด็กและเยาวชนวัยเรียนอายุไม่ถึง 20 ปี และ 20-29 ปี ส่วนใหญ่กังวลเรื่องครอบครัว การเรียนและอนาคตของตนเอง
        ด้านปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ คือ ภาวะซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย และภาวะสมองเสื่อม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีข้อจำกัดในการดำเนินชีวิตประจำวัน พบปัญหาความเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวลสูง 

จิตวิทยาเชิงบวก ฟื้นพลังใจ

      ปัจจัยสำคัญที่บุคคลจะสามารถฟื้นพลังใจได้ คือ การฝึกฝนทักษะด้านสุขภาพจิตอย่างสม่ำเสมอ โดยหนึ่งในองค์ความรู้ทางจิตวิทยาที่สามารถช่วยส่งเสริมทักษะสุขภาพจิตได้และมีงานวิจัยรองรับจำนวนมากจากทั่วโลก คือ ศาสตร์ด้านจิตวิทยาเชิงบวก ประกอบด้วยทุน 4 ด้าน

1.ความหวัง (Hope)

 2.การเชื่อในความสามารถของตัวเอง (Efficacy)

 3.ความเข้มแข็งทางจิตใจ (Resilience)

4.การมองโลกในแง่ดี (Optimisim)

          สสส. สานพลังกับ Mindset maker ใช้หลักคิดทางทุนจิตวิทยาเชิงบวก พัฒนาเครื่องมืออย่างง่ายให้บุคคลแต่ละช่วงวัย สามารถฝึกฝนตัวเอง และออกแบบให้อยู่ในแพลตฟอร์มที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย นำไปใช้งานและฝึกฝน ออกกำลังใจอย่างสม่ำเสมอ เตรียมพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาวะกายใจที่ดี

 เคล็ดลับรับมือ  6 เรื่องในชีวิตแบบเชิงบวก

Mindset Maker แพลตฟอร์มพัฒนาใจ

         อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ ผู้จัดการโครงการ และผู้บริหาร Mindset Maker กล่าวว่า Mindset Maker และ Life Education (Thailand) ในฐานะองค์กรผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเชิงบวก ร่วมกับ สสส. ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มจิตวิทยาเชิงบวกสำหรับประชาชน มุ่งพัฒนาชุดเครื่องมือผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สามารถส่งถึงทุกคน กลุ่มเป้าหมายหลักคือนักศึกษา คนทำงาน ครอบครัว และผู้สูงอายุ รวมถึงเครือข่ายคนทำงานด้านสุขภาพจิต

            โดยสามารถประเมินตนเอง และ “เลือก” วิธีการ เครื่องมือที่เหมาะกับตัวเอง ใส่ปฏิทินเพื่อเป็นแนวทางพัฒนาสุขภาพจิตที่ทำได้เองและใช้เวลาไม่นาน อีกทั้งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการพัฒนาทุนทางจิตวิทยาเชิงบวก ที่สามารถเรียนรู้เพื่อใช้กับตัวเอง และคนรอบข้างได้ในเบื้องต้น ตั้งเป้าว่าจะมีเครื่องมือมากกว่า 60 เครื่องมือพร้อมใช้อยู่บนแพลตฟอร์มภายในปีนี้ และพัฒนาต่อยอดมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต

    ชุดเครื่องมือจิตวิทยาเชิงบวก โดยหัวข้อที่ชวนให้ทุกคนมาร่วมระดมสมองคิดค้นไอเดียและนวัตกรรมใหม่ 6 หัวข้อ

1. อารมณ์ดี พัฒนาเครื่องมือที่สามารถช่วยฝึกทักษะอารมณ์เชิงบวกของตนเอง เพิ่มพลังงานที่ดีในการดำเนินชีวิตประจำวัน

 2.จิตใจแข็งแรงดี พัฒนาเครื่องมือฝึกจัดการกับความคิดของตัวเอง

3.ความสัมพันธ์ดี พัฒนากิจกรรม และการสนทนาในชีวิตประจำวันที่ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงบวก

4.รู้จักตัวเองดี พัฒนาเครื่องมือ กิจกรรมฝึกสะท้อนความคิดและสร้างความหมายต่อประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เจอในชีวิต

5.สำเร็จดี พัฒนาเครื่องมือสำรวจความก้าวหน้า ความเติบโต และความงอกงามของตนเอง

6.หลับดี พัฒนากิจกรรม เครื่องมือ การจัดสภาพแวดล้อมให้มีสุขภาพกายที่ดีขึ้น เริ่มจากการนอนหลับให้เพียงพอ

     เครื่องมือที่พัฒนาขึ้นและชุดการสื่อสารรูปแบบต่างๆจะทยอยเปิดตัวตลอดปีนี้ และสามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ทางwww.facebook.com/themindsetmaker
 เคล็ดลับรับมือ  6 เรื่องในชีวิตแบบเชิงบวก

สัมพันธ์ดี-รู้จักตัวเองดี

      อรุณฉัตร กล่าวว่า  การพัฒนา ความสัมพันธ์ดี ลักษณะเครื่องมือ คือ การทำให้ทุกความสัมพันธ์ถูกตอบสนอง  ซึ่งเมื่อพบว่าความสัมพันธ์ไม่ดี สิ่งที่จะเป็นเครื่องมือให้ในมายด์เซ็ทเมคเกอร์ อาจจะมี 3 ส่วน ได้แก่ เริ่มสร้างสัมพันธ์  พัฒนาความสัมพันธ์กับคนเดิม และรักษาความสัมพันธ์ระยะยาว รวมถึง การกลับมาปรับความสัมพันธ์กับคนที่อยากจะปรับด้วย เพื่อที่จะทำให้สามารถนำมาใช้ได้ 
             ยกตัวอย่างมีปัญหาสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นไม่เป็น เครื่องมืออาจจะเป็นสมอลทอล์กที่ฝึกประโยคตั้งต้นในการพูดกับคนอื่นสร้างสัมพันธ์ หรือการรักษาความสัมพันธ์ที่เจอกันปกติในชีวิตทุกวันอาจจะไม่มีเรื่องคุย ก็จะมีไกด์ไลน์ในการสื่อสารบางเรื่องที่อาจจะช่วยทำให้จังหวะธรรมดากลายเป็นจังหวะพิเศษ 
      และรู้จักตัวเองดี เป็นเรื่องความหมายที่ให้กับชีวิตตัวเอง อาจจะไปปลดเรื่องของการสะท้อนคิดกับตัวเอง โดยการที่จะทำให้คนตระหนักกับชีวิตตัวเอง เช่น การทำเล่าเรื่องชีวิตตัวเองให้คนที่ไว้วางใจฟัง เป็นส่วนหนึ่งของสร้างการรู้จักตัวเอง เพราะทำให้กลับไปเห็นคุณค่าบางอย่างในชีวิตตัวเองช่วงที่ผ่านมา

แนวทางสำเร็จ-หลับดี

           เพ็ญลักษณ์ เทศสุวรรณ นักบริหารแผนงานชำนาญการ สสส. กล่าวว่า แนวคิด ประสบการณ์ วิธีการ พัฒนาจิตใจให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ ในรูปแบบต่างๆ ส่วนของหัวข้อสำเร็จดี เพ็ญลักษณ์ บอกว่า   รู้ความต้องการของตนเองในปัจจบันและอนาคต แล้วตั้งเป้าหมายตัวเอง จะได้ไปถึงจุดนั้น โดยระหว่างทางมีความมุ่งมั่นที่จะไปถึง ไม่ท้อถอยง่ายๆ พัฒนาตัวเองขึ้นเรื่อยๆ  ไปสู่เป้าหมายให้ได้

      และหลับดี ช่วยได้ทั้งกายและใจ หลับเพียงพอ 6-8 ชั่วโมง จะทำให้มีอารมณ์ที่แจ่มใส อารมณ์ดีขึ้นได้ การเข้านอนโดยที่มีภาวะจิตใจ มีสติ สมาธิ ไม่เล่นมือถือ หรือออกกำลังกาย หรือไม่รับประทานอาหาร และมีตารางชีวิตของการหลับให้อยู่ในช่วงเวลาหนึ่งจะทำให้เราสามารถนอนหลับตามเวลาได้ปกติ

 เคล็ดลับรับมือ  6 เรื่องในชีวิตแบบเชิงบวก

  อารมณ์-จิตใจแข็งแรงดี 

       ขณะที่ ดิษฐ์ศกร ชนะศรี เจ้าของช่องยูทูบ คิดดีทีวี  ให้มุมมองแนวทางหัวข้ออารมณ์ดี จิตใจแข็งแรงดีว่า  ไม่ได้หมายถึงต้องยิ้ม หัวเราะทั้งวัน ไม่ใช่ว่าจะไม่เจอสิ่งแย่ๆ ไม่ใช่ไม่อารมณ์เสีย เพียงแต่ไม่นำไปสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น โดยการจัดการกับอารมณ์นั้นและสร้างมุมมองบวกไปให้พลังกับคนอื่น ซึ่งแนวทางจิตวิทยาเชิงบวก

        ไม่ได้แปลว่าไม่เจอกับสิ่งลบๆ แต่สามารถอยู่กับสิ่งลบได้ นอยด์ได้ เซ็งได้ โมโหได้ แบบไม่นำไปลงกับคนอื่น ด้วยการจัดการและพัฒนาในสิ่งที่น่าจะช่วยตัวเราเองได้ เพื่อไปช่วยคนอื่นต่อ หรือให้คนอื่นที่มีภาวะแบบนั้นอยู่แล้วต้องการตัวช่วย  สามารถแนะนำให้จัดการอารมณ์ก่อน

         สมมติกรณีลูกทำของที่มีชิ้นเดียวเสียหาย วิธีจัดการกับอารมณ์ คือ ผู้ใหญ่ต้องถามตัวเองก่อนว่ารู้สึกอย่างไร อาจไม่ได้เสียดายของแต่กลัวลูกได้รับบาดเจ็บ แต่บางครั้งการแสดงออกทำให้ลูกเข้าใจว่าทำไมหวงของ ไม่ห่วงลูก เพราะฉะนั้น ถ้ารู้สึกเป็นห่วงก็บอกลูกว่า ของแตกไม่เป็นไรแต่ลูกบาดเจ็บหรือไม่ จะทำให้ลูกเรียนรู้ที่จะระมัดระวังตัวเองเสมอเพราะอาจจะทำอันตรายต่อตัวเองได้  ซึ่งหลักการของมายด์เซ็ทเมกเกอร์ คือไม่นำอารมณ์มาปน รู้สึกอย่างไรจัดการอารมณ์ตัวเองให้ได้และสื่อสารกับคนอื่นๆอย่างนั้น