“กัญชากลับเป็นยาเสพติด” ฟังเสียงประชาชนฝ่ายหนุน-ค้าน
ปม “กัญชากลับเป็นยาเสพติด” ฝ่ายหนุนเชื่อปกป้องเด็กเยาวชน ทำให้เข้าถึงยากขึ้น กัญชาต้องถูกใช้ทางการแพทย์ ขณะที่ฝ่ายค้าน เผยจำกัดการเข้าถึงผู้ป่วย ส่อเอื้อประโยชน์ให้ทุนใหญ่ผูกขาด สวนทำไมยอมรับ “สุรา” ทั้งที่ติดง่ายกว่ากัญชา 2 เท่า วิสาหกิจชุมชนโอดต้องมีการชดเชย
จากที่ 8 พรรคร่วมรัฐบาลลงนามและประกาศMOU ในการนำ “กัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติด” หลังมีการปลดล็อกได้ไม่ถึง เกิดเสียงสะท้อนต่างมุมจากฝ่ายที่สนับสนุน และฝ่ายไม่เห็นด้วย
เด็กเยาวชนเข้าถึงยาก
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชน เพราะจะมีการควบคุมเข้มข้น ทำให้เข้าถึงได้ยาก ซึ่งกัญชาและบุหรี่ไฟฟ้า ในกลุ่มกุมารแพทย์ไม่ได้เห็นด้วยทั้งคู่ ที่ผ่านมาเห็นด้วยกับเรื่องกัญชาทางการแพทย์ เพื่อใช้ในการรักษาบรรเทาอาการปวด แต่รัฐบาลเก่าแม้บอกว่าใช้ทางการแพทย์ แต่ในทางปฏิบัติ กลับมีเรื่องอื่นมาด้วย ทำให้ มีการกำหนดค่า THC ที่ออกมา เพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์ในรูปแบบอื่น
แม้แต่ขนมที่มีการผสมกัญชา หรือ ร้านกัญชา เกิดขึ้น แต่การออกกฎหมายมาบังคับใช้ก็สับสนไม่ชัดเจน เช่น ห้ามเด็กเยาวชน หญิงตั้งครรภ์ใช้ผลิตภัณฑ์ หรือ รับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา ทั้งที่ควรห้ามแบบเด็ดขาดว่า ห้ามมีส่วนผสมของกัญชาในอาหารปรุงเองในแบบครัวเรือน หรือ ร้านอาหาร เพราะควบคุมได้ยาก ไม่เหมือนการควบคุมอาหาร ในเชิงอุตสาหกรรมที่มีแบรนด์ ซึ่งต้องกำหนดสัดส่วนชัดเจน และจำหน่ายภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)
“การปลูกกัญชาเพื่อทางการแพทย์ ใช้ประโยชน์ได้มากกว่า เพราะยาระงับปวดจากกัญชาให้ผลดี กรณีอย่างการรักษามะเร็งหลังโพรงจมูก ส่วนเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ขอย้ำว่า มีสารนิโคติน เป็นอันตราย สารพิษจากบุหรี่ ไม่ได้มีส่วนไหนเป็นประโยชน์กับร่างกายเลย ไม่ว่าจะมาใช้ในเด็กหรือผู้ใหญ่ มีการนำเรื่องเสรีภาพทางการตลาดเข้ามา ตรงนี้ไม่ถูกต้อง จะมาให้ผู้บริโภคเลือกว่า จะเลือกใช้บุหรี่แบบไหน เพราะสิ่งที่ใช้ไม่มีประโยชน์ และอันตรายทั้งคู่ เรื่องบุหรี่ไฟฟ้า จึงไม่ใช่เรื่องเสรีภาพของผู้ซื้อ แต่ไม่คิดตรงกันข้ามว่า เป็นเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เสรีภาพของผู้ขายเช่นกัน เพราะเป็นสินค้าที่มีอันตราย การแก้กฎหมายของรัฐมนตรีกระทรวงดีอี ในรัฐบาลก่อน ก็พอกับรัฐมนตรีสาธารณสุขเช่นกัน
ไม่กระทบธุรกิจCBD
แหล่งข่าวแวดวงอุตสาหกรรมCBD ให้มุมมองว่า หากกัญชากลับเป็นยาเสพติดไม่กระทบกับธุรกิจที่ดำเนินการเรื่องการแพทย์และสุขภาพ เนื่องจากในผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น จะใช้ส่วนผสมที่เป็นสารCBD ที่ได้จากกัญชง ซึ่งกัญชงและCBD ไม่ใช่ยาเสพติด ส่วนกัญชาควรเป็นยาเสพติด เพื่อควบคุมกรณีการนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม และควรใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์เท่านั้น เนื่องจากในกัญชามีสาร THC ที่ทำให้มึนเมา แต่มีประโยชน์กับการรักษาคนไข้ในบางโรค เช่น ลมชัก หรือพาร์กินสัน จึงต้องเป็นการสั่งจ่ายโดยแพทย์
จำกัดการเข้าถึงของคนป่วย
ขณะที่ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพรบ. กัญชากัญชง พ.ศ … บอกว่า ก่อนการปลดล็อกมีผู้ป่วยที่ใช้กัญชาแต่ไม่ได้รับกัญชาจากแพทย์จำนวนมากถึง 3.8 ล้านคน หลังปลดล็อกทำให้ไม่ถูกจำคุกหรือถูกรีดไถ จึงไม่เห็นด้วยกับการให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด เพราะทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากกลายเป็นนักโทษ โดยมีตัวเลขการสำรวจพบว่า ในช่วงที่กัญชาเป็นยาเสพติด มีผู้ใช้กัญชานอกการจ่ายยาของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สูงถึง 95 % ในจำนวนนี้มี83% ใช้นอกข้อบ่งใช้จากประกาศ สธ. และแพทยสภา แปลว่า มีผู้ป่วยสามารถใช้ประโยชน์จากกัญชาได้มากกว่าที่มีการใช้โดยแพทย์ ถ้าเอากัญชากลับเป็นยาเสพติด คนกลุ่มนี้จะกลับไปเป็นนักโทษทันที เพราะไม่ได้อยู่ในการจ่ายยาของแพทย์
เมื่อกัญชาเป็นยาเสพติด แพทย์จ่ายยายากมาก เพราะในฐานะยาเสพติดจะมีขั้นตอนมากเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ของประชาชน นอกจากนี้ การปลดล็อกกัญชา มีการลดใช้ยาแผนปัจจุบันถึง 58% ส่งผลกระทบต่อบริษัทยาโดยตรง และย้ำว่าการจะให้แพทย์ หรือแพทย์ไทยไปนั่งจ่ายยาในร้านขายกัญชานั้น ไม่สามารถทำได้แน่นอน เพราะว่าแพทย์จะต้องปฏิบัติหน้าที่ในสถานพยาบาล ไม่ใช่ร้านขายกัญชา
ย้อนแย้งสุรา-กัญชา
“กัญชาเสพติดยากกว่าเหล้าและบุหรี่ โดยเฉพาะเหล้าติดง่ายกว่ากัญชาถึง 2 เท่า และไม่มีสรรพคุณทางยาเหมือนกัญชา แต่ทำไมถึงอยู่ในร้านสะดวกซื้อที่อยู่ใกล้สถานศึกษาและควบคุมเรื่องเด็กและเยาวชนได้ ดังนั้น ถ้าพรรคก้าวไกลจะผลักดันเรื่องสุราก้าวหน้า ให้มีเสรีในการดื่มสุรา แล้วเหตุใดจัดการกับกัญชาทั้งที่มีสรรพคุณเป็นยามากกว่าบุหรี่และสุรา จึงมองว่าหลักการนี้ย้อนแย้งกัน ถ้าควบคุมเรื่องสุราเสรีไม่ได้ ก็คงต้องเอาสุรากลับไปเป็นยาเสพติดแล้วคุมด้วย ป.ป.ส. แต่ทำไมถึงทำเรื่องสุราก้าวหน้าได้”ปานเทพกล่าว
ทุนใหญ่ผูกขาด
ปานเทพ กล่าวอีกว่า การปลดล็อกกัญชาเดินมาถูกต้องครึ่งทางแล้ว การควบคุมกัญชาไม่จำเป็นต้องเอากลับไปเป็นยาเสพติดที่มีกฎหมายคุมเข้มข้น ยากแก่การเข้าถึง แต่สามารถใช้กฎหมายควบคุมและจัดการคนทำผิดกฎหมาย สิ่งที่ควรทำคือการเร่งพิจารณาออกพรบ.กัญชากัญชง ให้จบ เพราะผ่านการพิจารณาจากตัวแทนของพรรคต่างๆ รวมถึงพรรคก้าวไกล ซึ่งในร่างพรบ.มีการกำหนดบทลงโทษกรณีทำผิดกฎหมายที่มากกว่าประกาศสธ. ไม่ใช่การเอากลับไปเป็นยาเสพติดแล้วมีผู้ป่วยเดือดร้อน ที่สำคัญ การนำกัญชาถูกกลับไปเป็นยาเสพติด ก็จะถูกผูกขาดกับทุนใหญ่ไม่กี่คน ที่มีความสามารถผลิตเป็นยา แล้วคนไทยก็จะเดือดร้อน
รัฐต้องจ่ายชดเชย
ส่วนตุ๊กแก ลายเทียน หรือ ทิมากร ไชยบุญ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มลายเทียน อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า กลุ่มมีการรวมตัวทำผ้าบาติกมาตั้งแต่ปี 2545 กระทั่งเมื่อช่วงมิ.ย.2565 มีการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด จึงมีการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน และขออนุญาตดำเนินการเรื่องกัญชาถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง โดยสมาชิก 7 คนมีรวมหุ้นกันคนละ 50,000- 1 แสนบาท ทำให้มีการลงทุนไปเกิอบ 1 ล้าน ทั้งการจัดทำโรงเรือนปลูกที่ได้มาตรฐานของรัฐ ปัจจุบันมีการนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ยาหม่อง น้ำมันเขียว และน้ำมันหยดใต้ลิ้น ส่วนใหญ่จำหน่ายในชุมชน ที่ผ่านมาไม่ถึง 1 ปียังอยู่ในระยะเริ่มจะตั้งหลักได้ แต่รัฐก็จะนำกลับไปเป็นยาเสพติดแล้ว
“ถ้าแนวทางของรัฐบาลใหม่จะนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดก็ไม่ได้ติดขัด กลุ่มก็เลิกปลูก เลิกทำผลิตภัณฑ์กัญชา แต่รัฐจะต้องมีการชดเชยเงินตามจริงให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ลงทุนไปกับเรื่องกัญชา และหากนำกลับไปเป็นยาเสพติดและให้ใช้ทางการแพทย์เท่านั้น สำหรับกลุ่มที่ยังปลูกต่อ รัฐก็ไม่ควรกำหนดแบบเดิมว่าให้คนปลูกคืนช่อดอกให้กับรัฐ แล้วให้คนปลูกใช้ได้แต่ส่วนอื่น เพราะการที่จะทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต้องใช้ส่วนผสมที่เป็นช่อดอกจึงจะมีสรรพคุณของสารต่างๆ”ทิมากรกล่าว